xs
xsm
sm
md
lg

จุฑามาศจ่อถูกเชือด ศาลมะกันชี้2โปรดิวเซอร์ ติดสินบนททท.จริง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยเตอร์/แอลเอไทมส์/เอเยนซีส์ – สองสามีภรรยาโปรดิวเซอร์ดังฮอลลีวู้ด ถูกคณะลูกขุนศาลชั้นต้นสหรัฐฯตัดสินว่า กระทำความผิดจริงในข้อหาจ่ายสินบนเป็นมูลค่ากว่า 1.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 62 ล้านบาท) ให้แก่นางจุฑามาศ ศิริวรรณ ผู้ว่าการททท.ของไทยในขณะนั้น เพื่อให้ได้รับสิทธิจัดเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่กรุงเทพฯ ตลอดจนข้อตกลงอย่างอื่นๆ “วีระศักดิ์” ระบุในกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ  เมื่อศาลอเมริกาตัดสิน ผู้ต้องหาคดีนี้ผิดจริง ก็ต้องนำข้อมูล มาใช้ตัดสินเจ้าหน้าที่รัฐที่ร่วมกระทำผิดในประเทศไทย  

ตามคำฟ้องของคณะอัยการสหรัฐฯ จากการจ่ายสินบนหลายๆ ครั้งในระหว่างปี 2545 ถึง 2550 โปรดิวเซอร์สองสามีภรรยา คือ เจอรัลด์ กรีน วัย 77 ปี และ แพทริเซีย กรีน วัย 52 ปี ก็ได้รับสัญญาจัดจ้างต่างๆ จากรัฐบาลไทย ทั้งเพื่อการจัดเทศกาลดังกล่าว ตลอดจนในด้านอื่นๆ ซึ่งทำให้มีเงินมากกว่า 13.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 466 ล้านบาท) ไหลเข้าสู่บริษัทหลายๆ แห่งของทั้งสองคน

สามีภรรยาคู่นี้ถูกตัดสินว่ามีความผิดตั้งแต่เย็นวันศุกร์(11) จากคณะลูกขุนในนครลอสแองเจลิส ในความผิดหลายๆ ข้อหาตั้งแต่ สมคบคิดกระทำความผิด, ติดสินบนเจ้าหน้าที่ต่างประเทศ, และฟอกเงิน แต่ข่าวการตัดสินนี้เพิ่งได้รับการรายงานอย่างกว้างในวันจันทร์ สำหรับแพทริเซียยังถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานหนีภาษีอีกด้วย

ผู้ช่วยอัยการสหรัฐฯ บรูซ เซียร์บี แถลงว่า ศาลนัดหมายกำหนดระวางโทษจำเลยทั้งสองในวันที่ 17 ธันวาคม โดยที่เมื่อพิจารณาจากแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการระวางโทษแล้ว พวกเขาอาจถูกลงโทษจำคุกกันคนละไม่ต่ำกว่า 10 ปี ขณะที่ทนายความของทั้งคู่แถลงว่าจะยื่นอุทธรณ์ต่อไป

เจอรัลด์ กรีน เป็นผู้อำนวยการสร้างของภาพยนตร์เรื่อง “ซัลวาดอร์” ปี 2529 ของผู้กำกับชื่อก้อง โอลิเวอร์ สโตน และในช่วงหลังๆ มานี้ก็เป็นผู้อำนวยการสร้างฝ่ายบริหารให้แก่ภาพยนตร์เรื่อง “เรสคิว ดอว์น” ปี 2549 ที่นำแสดงโดย คริสเตียน เบล ส่วน แพทริเซีย กรีน เคยช่วยโปรดิวซ์รายการโชว์ทางโทรทัศน์หลายรายการ เป็นต้นว่า หนังซีรีส์ชุด “ไชน่า บีช” ในทศวรรษ 2520

สามีภรรยาตระกูลกรีนถูกฟ้องร้องในศาลชั้นต้นสหรัฐฯคราวนี้ ว่ากระทำผิดตามรัฐบัญญัติพฤติการณ์ทุจริตในต่างประเทศ (Foreign Corrupt Practices Act) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ทำให้การที่ชาวอเมริกันไปติดสินบนพวกเจ้าหน้าที่ต่างประเทศ กลายเป็นความผิดที่ถูกดำเนินคดีในสหรัฐฯได้

ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีการใช้กฎหมายฉบับนี้มาฟ้องร้องบุคคลในธุรกิจบันเทิง และทำให้เกิดความหวั่นผวากันในฮอลลีวู้ดว่า ทางการสหรัฐฯอาจจะไล่ล่าติดตามบุคคลแวดวงบันเทิงอเมริกันคนอื่นๆ ที่กระทำความผิดในต่างแดนเช่นกัน

เจอโรม มูนีย์ ทนายความฝ่ายจำเลยพยายามต่อสู้คดีโดยแก้ต่างว่า สามีภรรยาคู่นี้ได้ทำให้เทศกาลภาพยนต์นานาชาติที่กรุงเทพฯ กลายเป็นงานใหญ่ที่มีคนดังๆ ในวงการเข้าร่วม เป็นต้นว่า นักแสดงดัง ไมเคิล ดักลาส

แต่คณะอัยการสหรัฐฯชี้ว่า ในการทำความตกลงกับฝ่ายรัฐบาลไทยด้วยวิธีทุจริตติดสินบนเช่นนี้ จำเลยทั้งสองได้จัดตั้งธุรกิจหลอกๆ ขึ้นมาหลายแห่ง เพื่อซุกซ่อนเงินก้อนใหญ่ที่ได้รับจากสัญญาซึ่งทำกับรัฐบาลไทย

คำฟ้องของอัยการสหรัฐฯระบุว่า เงินสินบนที่จ่ายให้แก่นางจุฑามาศ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในเวลานั้น มักอำพรางเรียกว่าเป็นค่าคอมมิชชั่นจากการขาย และโอนเข้าสู่บัญชีธนาคารบุตรสาวของนางจุฑามาศ และเพื่อนคนหนึ่ง หรือไม่ก็จ่ายเป็นเงินสดให้แก่นางจุฑามาศโดยตรง

สำนักข่าวรอยเตอร์บอกว่า นางจุฑามาศเองปฏิเสธว่าไม่ได้ทำความผิดอะไร โดยที่รอยเตอร์กล่าวด้วยว่า เธอเป็นผู้ร่วมงานใกล้ชิดกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

หนังสือพิมพ์ลอสแองเจลิสไทมส์รายงานว่า การพิจารณาคดีนี้ใช้เวลา 2 สัปดาห์ครึ่ง ขณะที่การหารือของคณะลูกขุนว่าจำเลยมีความผิดหรือไม่นั้นใช้เวลา 1 วัน

ตามคำฟ้องของอัยการสหรัฐฯ สามีภรรยาคู่นี้ได้จ่ายเงินให้แก่นางจุฑามาศ เพื่อให้ได้รับสิทธิจัดเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ และได้ข้อตกลงอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวอีก 2 รายการ โดยรายการหนึ่งได้แก่การให้พวกเขามีสิทธิขาย “อีลิทการ์ด”

“มีโครงการและลู่ทางโอกาสต่างๆ หลากหลายเป็นชุดๆ สำหรับผู้ว่าการและสามีภรรยากรีน ที่จะทำเงินได้มากมาย” เซียร์บี ผู้ช่วยอัยการสหรัฐฯกล่าว “โครงการและลู่ทางเหล่านี้เองจะสร้างผลกำไรให้สามีภรรยากรีน และจ่ายเป็นค่าสินบนให้แก่ผู้ว่าการ”

เซียร์บีบอกด้วยว่า ทางเจ้าหน้าที่ไทยได้ติดตามคดีนี้อย่างใกล้ชิด และน่าจะใช้ข้อมูลการสอบสวนของรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อไปฟ้องร้องกล่าวโทษนางจุฑามาศ

**วีระศักดิ์โยนดีเอสไอ
นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ประธานบอร์ด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท.  กล่าวถึง กรณีที่คณะลูกขุนในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ชี้มูลในคดีที่นางแพทริเซีย กับนายเจอรัลด์ กรีน สองสามีภรรยา ได้จ่ายสินบนให้กับอดีตผู้บริหาร ททท. รายหนึ่ง (นางจุฑามาศ ศิริวรรณ อดีตผู้ว่าการ ททท. ) เป็นเงินกว่า 60 ล้านบาท เพื่อขอแลกกับสิทธิ์ในการเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดงาน บางกอกฟิล์ม เฟสติวัล 5 ปี ซ้อน คือตั้งแต่ 2546-2550  ซึ่งจะมีรายได้กว่า 350 ล้านบาท ซึ่งในคดีดังกล่าวได้มีการซัดทอดถึงนางจุฑามาศ ศิริวรรณ
ขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการททท. เป็นผู้รับสินบน ว่า
นายวีระศักดิ์ ตนขอพูดในฐานะนักวิชาการด้านกฎหมาย เพราะว่า คดีดังกล่าว ไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของ ททท.ที่จะมาดำเนินการสอบสวนหรือดำเนินการอะไรได้ เนื่องจาก รัฐบาลได้มอบหมายให้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นเจ้าของเรื่องผู้ดำเนินการไปแล้ว
ดังนั้นหากพูดในฐานะนักวิชาการด้านกฎหมาย  ก็ต้องมาดูว่า ทางดีเอสไอ จะสรุปข้อมูลความผิดของนางจุฑามาศ เป็นเช่นใด  เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาความผิดและบทลงโทษ  ซึ่งจะมีทั้งความผิดทางวินัย และ ความผิดทางอาญา  ซึ่งแม้ผู้ถูกกล่าวหา ว่ารับสินบนซึ่งในที่นี้คือนางจุฑามาศ แม้จะพ้นตำแหน่งผู้ว่าการททท.ไปแล้วก็สามารถดำเนินการเอาผิดย้อนหลังได้ หากผลสอบออกมาราบ่ามีความผิดจริง

“คดีนี้เป็นเรื่องของสำนักงานอัยการสูงสุดที่จะต้องทำงานร่วมกับศาลในสหรัฐฯ อันเนื่องมาจากข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกันของทั้งสองประเทศ  โดยหากเมื่อใดมีคดีอาญาเกิดขึ้นและมีการร้องขอ สำนักงานอัยการก็จะเป็นตัวกลางในการดำเนินคดีหาผู้กระผิด” นายวีระศักดิ์กล่าว
โดยในคดีนี้ ดีเอสไอ ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบ  จะต้องขอข้อมูลจากศาลสหรัฐมาใช้ประกอบการพิจารณา เพื่อตั้งเป็นประเด็นว่าจะส่งให้หน่วยงานใดเป็นผู้พิจารณาบทลงโทษผู้กระทำผิด เช่น หากให้ศาลเป็นผู้ตัดสินจะใช้คำว่า ริบทรัพย์ โดยมีโจทย์ยื่นฟ้องแบบธรรมดา แต่หากเป็น สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) ให้ถือความผิดนี้ให้มีโทษถึงขั้นยึดทรัพย์ ซึ่งจะดูเป็นความผิดที่ร้ายแรงกว่า เป็นต้น ทั้งหมดดังกล่าวมา สำนักงานอัยการสูงสุด จะเป็นผู้ดูแลทั้งหมด ภายใต้บทบาทภาระหน้าที่ของผู้ประสานงานกับหน่วยงานในลักษณะเดียวกันในต่างประเทศ ตามข้อตกลงของความร่วมมือ   
กำลังโหลดความคิดเห็น