xs
xsm
sm
md
lg

“ยุ่น”ยกนิ้วโฮมสเตย์เชียงรายติด 1 ใน 5 ดีที่สุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลุ่มชาวญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในจ.เชียงราย สัมมนาร่วมกัน โดยมีข้อเสนอขอให้ไทยเปิดช่องทำวีซ่าระยะยาวได้ง่ายขึ้น
เชียงราย – ชุมชนญี่ปุ่นในเมืองพ่อขุนฯเริ่มหนาแน่น ล่าสุดมียอดสูงกว่าสถิติอย่างเป็นทางการ 2-3 เท่าตัวแล้ว ขณะที่ประธานสมาคมฯ ยืนยันเชียงรายเป็น 1 ใน 5 โฮมสเตย์ที่ดีที่สุด พร้อมขอให้รัฐบาลไทยเปิดช่องทำวีซ่าระยะยาวได้ง่ายขึ้น-พัฒนาระบบการแพทย์-ล่ามรองรับ หวังไทย-ญี่ปุ่นนำเข้าหารือบนเวทีJTEPA


เมื่อเร็วๆนี้ สมาคมชาวญี่ปุ่นเชียงราย (JACR) ได้จัดการสัมมนาเพื่อพัฒนาเครือข่ายสุขภาพผู้พำนักระยะยาวชาวญี่ปุ่น-ไทย จ.เชียงราย ณ โรงแรมวังคำ โดยมีนายพินิจ หาญพาณิชย์ รองผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย เป็นประธานเปิดและนายเคซึเกะ โนซากิ ประธานสมาคมชาวญี่ปุ่นเชียงราย นำคณะชาวญี่ปุ่นพร้อมครอบครัวและธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเครือข่ายสุขภาพ เช่น สปา ร้านอาหาร ห้องพัก ฯลฯ ในเชียงรายเข้าร่วมประมาณ 300 คน

การสัมมนาดังกล่าวจัดขึ้นเป็นเวลา 5 วันตั้งแต่วันที่ 12-16กันยายน 2552 โดยมีกิจกรรมเพื่อให้ความรู้แก่คนญี่ปุ่นที่มาอาศัยอยู่ในพื้นที่เชียงราย ตลอดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การสร้างเครือข่ายร่วมกับภาครัฐและเอกชนในพื้นที่เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การศึกษาดูงานสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติใน จ.เชียงราย และเชียงใหม่

นายเคซึเกะ เปิดเผยว่า จากข้อมูลสถานกงสุลญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ระบุว่า มีคนญี่ปุ่นอาศัยอยู่ในเชียงราย รวมกันประมาณ 300 คน แต่ในความเป็นจริงแล้วอาจจะมากกว่านี้ราว 2-3 เท่า เฉพาะที่อยู่ในสมาคมฯมีอยู่แล้วจำนวน 72 คน รวมกับครอบครัวก็มีมากถึง 124 คน และมีแพทย์จากโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ศรีบุรินทร์เชียงรายร่วมเป็นสมาชิกด้วย 1 คน

เขาบอกว่า สิ่งที่ชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาพำนักระยะยาวในเชียงรายต้องการ คือการอยู่ร่วมกันระหว่างคนญี่ปุ่นในพื้นที่เชียงรายอย่างมีความสุข เรียนรู้พื้นที่เชียงราย และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและอยู่ร่วมกับคนท้องถิ่นอย่างมีความสุข

นายเคซึเกะ กล่าวว่า สมาคมฯก่อตั้งมาได้นานกว่า 5 ปีแล้ว แต่ยังคงพบปัญหาหลายเรื่องโดยปัญหาใหญ่คือไม่สามารถเข้าใจภาษาพื้นเมืองของคนเชียงรายได้ ดังนั้น จึงอาศัยการนัดพบปะสังสรรค์ระหว่างหมู่คนญี่ปุ่นด้วยกันเองตามร้านอาหารเป็นระยะๆ รวมทั้งมีปัญหาเรื่องการต่ออายุวีซ่า เป็นต้น ซึ่งในเร็วๆ นี้ก็จะมีการประชุมไทย-ญี่ปุ่น หรือ JTEPA ก็คาดหวังว่ารัฐบาลทั้งสองฝ่ายจะได้รับทราบสถานการณ์ที่เป็นจริง

“จุดมุ่งหมายที่พวกเรามาอยู่ที่เชียงราย คือ จะทำอย่างไรให้อยู่ร่วมกับคนพื้นเมืองได้อย่างมีความสุข และเชียงรายก็เป็นเมืองที่มีธรรมชาติทำให้เป็น 1 ใน 5 เมืองที่มีโฮมสเตย์ที่ดีที่สุด”

นายเคซึเกะ กล่าวอีกว่า เพื่อสนับสนุนการเข้ามาพำนักระยะยาวในเชียงรายของชาวญี่ปุ่น พวกเขาอยากให้มีการแก้ปัญหาดังนี้ 1.เรื่องวีซ่าที่ต้องมีการต่ออายุเป็นประจำทุกปี เพราะรัฐบาลไทยให้คนต่างชาติอาศัยอยู่อย่างมากก็ครั้งละ 1 ปี ส่วนการทำวีซ่าระยะยาวหรือลองสเตย์วีซ่าทำได้ยากมาก จึงอยากให้รัฐบาลไทยอำนวยความสะดวกให้ทำได้ง่ายกว่านี้ เนื่องจากคนญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในพื้นที่มี 3 ประเภท คือ คนที่ปลดเกษียณแล้วและพาครอบครัวไปอาศัยอยู่ที่เชียงราย และคนญี่ปุ่นที่มาแต่งงานกับคนเชียงรายจนมีลูกและครอบครัวมั่นคง รวมทั้งเป็นคนญี่ปุ่นที่ยังโสดแต่มาอยู่ทำงานในพื้นที่ ซึ่งแต่ละประเภทส่วนใหญ่เป็นคนสูงอายุทั้งสิ้น เช่น นางโคนากะ ยุซิเอะ อายุกว่า 90 ปี อาศัยอยู่กับลูกที่เชียงรายอย่างมีความสุขแต่ต้องต่อวีซ่าทุกปี ดังนั้น หากให้ต่อลองวีซ่าได้ครั้งละ 3-5 ปีก็จะถือเป็นเรื่องที่ดีมาก

2.การรักษาพยาบาล โดยคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ที่อยู่เชียงรายอายุเกิน 60 ปี เมื่ออายุมากก็ย่อมมีอาการเจ็บป่วยมากตามมาแต่พบว่าพื้นที่ยังไม่มีโรงพยาบาลรองรับคนญี่ปุ่น ทำให้มีปัญหาเรื่องล่ามแปลและอื่นๆ แตกต่างจากเชียงใหม่ ที่มีการจัดระบบรองรับคนญี่ปุ่นแล้วในโรงพยาบาล 3 แห่ง โดยมีทั้งล่ามแปล สถานที่พบปะระหว่างคนญี่ปุ่น ฯลฯ สำหรับเชียงรายเพิ่งจะเริ่มที่โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ศรีบุรินทร์ แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นมีล่ามแปลให้ และปัญหาที่ 3.อายุคนญี่ปุ่นที่มากทำให้ต้องการการประกันสุขภาพที่มั่นคง

นายเคซึเกะ กล่าวอีกว่า ส่วนชาวญี่ปุ่นที่ต้องการเข้ามาพักอาศัยในเชียงรายเพิ่มเติม จะต้องมีการศึกษาภาษา วัฒนธรรม และอื่นๆ เกี่ยวกับพื้นที่ให้มากเพราะเป็นการอยู่อาศัยในระยะยาว

ด้านนายพินิจ หาญพาณิชย์ รองผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย กล่าวว่า การที่คนญี่ปุ่นที่สูงอายุไปพำนักอยู่ในพื้นที่ในระยะยาวสร้างผลดีในแง่ของการสร้างรายได้เข้าประเทศไทย โดยเฉพาะด้านธุรกิจสุขภาพต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเมื่อมองในภาพรวมแล้วยังไม่พบผลทางด้านลบเลย ส่วนแนวโน้มในอนาคตคนญี่ปุ่นจะมาอยู่กันมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบการบริการพื้นฐาน ที่จะเกื้อกูลให้พวกเขาได้รับการอำนวยความสะดวกในวัยชรา รวมทั้งความสามารถในการปรับตัวเข้ากับวิถีชีวิต ทัศนคติ วัฒนธรรม ฯลฯ ที่แตกต่างกัน

ส่วนกรณีการขอต่อลองวีซ่า เป็นอำนาจของรัฐบาลที่จะพิจารณาต่อไป แต่คงจะไปต่อให้เฉพาะคนญี่ปุ่นไม่ได้แต่อาจจะผ่อนปรนให้ได้บ้างเท่านั้น

นายชวลิต สุธรรมวงศ์ เลขาธิการหอการค้า จ.เชียงราย กล่าวว่า สาเหตุที่คนญี่ปุ่นนิยมมาอยู่ที่เชียงรายเพราะสภาพอากาศดี ธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ส่วนผู้คนก็ยิ้มแย้มแจ่มใสมีความปลอดภัย ขณะเดียวกันก็พบว่านอกจากคนญี่ปุ่นจะเข้าไปอยู่เชียงรายในฐานะคนสูงอายุหรือเพื่อการพักผ่อนแล้ว ยังพบว่ามีการทำธุรกิจด้วยโดยมีการปลูกข้าวญี่ปุ่นในหลายพื้นที่เพื่อการบริโภคกันในกลุ่ม และส่งกลับไปจำหน่ายที่ประเทศญี่ปุ่นด้วย เพราะคุณภาพดินของเชียงรายค่อนข้างดี
กำลังโหลดความคิดเห็น