xs
xsm
sm
md
lg

SCBชี้จีดีพีปีหน้าโต3.5-4%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ค่ายไทยพาณิชย์คาดจีดีพีปีหน้าขยายตัว 3.5-4% ตามการฟื้นตัวของการส่งออก ขณะที่เงินเฟ้อเฉลี่ย 2.4% ค่าเงิน 33 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าต่อเนื่องจากปี 52 ขณะที่บิ๊กภัทร "ศุภวุฒิ สายเชื้อ" ชี้หากจีดีพีต่ำกว่า 3.5% เกิดปัญหาแน่

วานนี้ (1 ก.ย.) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) จัดสัมมนาใหญ่ประจำปี SCB Annual Conference on the Economy : SCB ACE หัวข้อเรื่อง “กลยุทธ์หลังวิกฤติ ทิศทางปี 2553” โดยมีนายวิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร SCB เป็นประธานเปิดการสัมมนาพร้อมด้วยผู้นำจากภาคธุรกิจแนวหน้าของประเทศ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ และ Chief Economist SCB เปิดเผยว่า ภาพเศรษฐกิจโดยรวมของไทยในปี 2553 โดยเฉพาะอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 3.5-4.0% ซึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของภาคการส่งออกและภาคการผลิต ได้รับแรงเสริมจากการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายการคลัง
“เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว แต่การฟื้นตัวนี้ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะกลับสู่สภาวะเดิม โลกหลังวิกฤตจะไม่เหมือนเดิม การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยจึงไม่สามารถพึ่งพิงการส่งออกในโครงสร้างเดิมได้ แต่จะขึ้นอยู่กับปัจจัยผลักดันใหม่ๆ เช่น การใช้จ่ายของประเทศจีน การใช้จ่ายภายในประเทศตามโครงสร้างของประชากรไทยที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสด้านธุรกิจใหม่ๆ ที่สามารถเติบโตตามการใช้จ่ายของปัจจัยทั้งสองและส่งผลดีต่อประเทศไทยในระยะยาว” นายเศรษฐพุฒิกล่าว
ในส่วนของภาคการผลิตอุตสาหกรรมของไทยมีอัตราการเติบโตแท้จริงประมาณ 4-5% ส่วนการส่งออกคิดเป็นสกุลเงินดอลลาร์น่าจะขยายตัวได้ประมาณ 14% ซึ่งแน่นอนว่าตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจไทยเหล่านี้ค่อนข้างจะอ่อนไหวต่อสมมติฐานการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ในขณะเดียวกันภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวก็ยังคงมีความเสี่ยงอยู่ โดยคาดว่าอัตราการขยายตัวจะอยู่ที่ 3-4% ส่วนตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากนักท่องเที่ยวจะกลับมาขยายตัวได้ประมาณ 6% และ 12% ตามลำดับ หลังจากที่ในปีนี้ติดลบประมาณ 15% และ 20% ตามลำดับ ซึ่งยังไม่พอที่จะทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวกลับไปดีเหมือนช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจได้
อัตราเงินฝืดในปีหน้ายังไม่มีความน่าเป็นห่วง เนื่องจากตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปน่าจะเป็นบวกภายในเดือน พ .ย.นี้ และในปีหน้าเงินเฟ้อเฉลี่ยจะอยู่ที่ 2.4% ขณะที่ตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐานปีหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ 1% สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายคาดว่าในช่วงครึ่งแรกของปีหน้าจะยังคงไม่มีการปรับขึ้น และน่าจะมีการปรับขึ้น 0.25-0.50% ในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า เนื่องจากเศรษฐกิจเพิ่งจะเริ่มฟื้นและแรงกดดันเงินเฟ้อน่าจะยังอยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่ต้องการเห็นดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงติดลบ

***เงินบาทแข็งค่าแตะ 33
นายชาตรี โสตางกูร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายบริหารการเงิน และ Head of Treasury SCB กล่าวว่า สกุลเงินในภูมิภาคเอเชียจะมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นๆ ของโลก เนื่องจากภายหลังปัญหาวิกฤตการเงินในสหรัฐฯ เริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น และปัจจัยพื้นฐานจะส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น ซึ่งภูมิภาคเอเชียเป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้น้อยที่สุด
คาดว่าค่าเงินบาทในสิ้นปี 2552 นี้จะแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 33.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และจะแข็งค่าต่อเนื่องจนถึงปี 2553 ดังนั้นจึงคาดว่าในปลายปีหน้า ค่าเงินบาทจะอยู่ที่ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากทิศทางค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะยังคงอ่อนค่าลง จากการที่ปัจจัยพื้นฐานของสหรัฐฯ ที่ยังไม่แข็งแกร่ง รวมทั้งดุลบัญชีเดินสะพัดที่มีแนวโน้มเกินดุลอย่างต่อเนื่องของประเทศไทยจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในอนาคตด้วย
"อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นจะยังอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ รวมถึงสภาพคล่องในตลาดเงินระยะสั้นที่ยังมีอยู่ในปริมาณที่สูงมาก ในขณะนี้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นได้อีกจากปริมาณพันธบัตรรัฐบาลที่จะออกสู่ตลาดมากขึ้นตามงบประมาณการขาดดุลในปีงบประมาณ 2553 และการลงทุนในโครงการไทยเข้มแข็ง"

***"ศุภวุฒิ" ชี้ ศก.ปีหน้าโตช้า
วันเดียวกัน ในการสัมมนาประสานความร่วมมือระหว่าง อย.กับภาคธุรกิจ ครั้งที่ 5 จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) (PHATRA) บรรยายพิเศษในหัวข้อ “ภาวะเศรษฐกิจจากนี้ไป” ว่า เศรษฐกิจของประเทศไทยเชื่อว่าในปีหน้าอัตราการเติบโตของจีดีพีจะอยู่ที่ 3.5% ถือว่าเป็นการเติบโตที่ช้ามาก แตกต่างจากอดีตในปี 2513-2529 อยู่ที่ 6.3% ที่มีอัตราเติบโตกว่าจีดีพีของโลกขณะนั้นถึง 2 เท่า และในปี 2530-2539 มีอัตราการเติบโตสูงถึง 9.5% เป็นอัตราการเติบโตที่สูงกว่าจีดีพีโลกถึง 3 เท่า
สำหรับนโยบายของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศในโครงการไทยเข้มแข็งว่า แม้จะมีแผนโครงการย่อยภายจำนวนมาก นายศุภวุฒิกล่าวกล่าวว่า ยังมองไม่ออกว่าจะมีกลยุทธ์หลักที่ช่วยกระตุ้นให้ไทยเข้มแข็งได้อย่างไร ซึ่งแผนย่อยในการลงทุนด้านพลังงานที่ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนภาครัฐวิสาหกิจ แม้ว่าจะยังมีแผนการดำเนินโครงการต่างๆ อยู่ เช่น การก่อสร้างโรงไฟฟ้า โรงงานเหล็ก และโรงงานปิโตรเลียม แต่ในความเป็นจริงโครงการเหล่านี้ยังไม่สามารถเดินหน้าได้เพราะติดปัญหามาตรา 67 รัฐธรรมนูญ ที่กำหนดทำรายงานผลกระทบต่อสุขภาพหรือเอชไอเอก่อน
นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อการลงทุนขนาดใหญ่ในมาบตาพุด จ.ระยอง ที่ศาลปกครองยังมีคำสั่งคุ้มครองให้เป็นเขตควบคุมมลพิษ ดังนั้นหากเรื่องสิ่งแวดล้อมและการสาธารณสุขยังไม่ลงตัว โครงการลงทุนต่างๆ ที่วางไว้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศก็ไม่แน่ใจว่าจะเติบโตได้แค่ไหน
“สิ่งที่เกิดขึ้นแน่นอนคือ ต้นทุนที่กลายเป็นหนี้สาธารณะในอนาคตซึ่งรัฐบาลต้องจ่าย แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีรัฐบาลจ่ายหนี้คืนเหล่านี้ได้ แต่การคืนหนี้จะเกิดจากจีดีพีที่เพิ่มสูงและไม่สร้างหนี้เพิ่มเท่านั้น ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับการเติบโตของจีดีพีเป็นหลัก ซึ่งรัฐบาลคาดว่าจีดีพีจะโตเพิ่ม 5.5% ขณะที่เงินเฟ้อจะเพิ่ม 3.5% รวมแล้วเป็นเม็ดเงินที่โตขึ้น 9% ทำให้การเก็บภาษีเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 10-11% แต่หากจีดีพีไม่เป็นไปอย่างที่คาดไว้ และยังต่ำกว่า 3.5% ปัญหาเกิดขึ้นแน่” นายศุภวุฒิกล่าวและว่า ในปี 2554 หากจีดีพีอยู่ที่ 3% ก็น่าเป็นห่วงแล้ว เพราะบ่งชี้ว่ามีความเสี่ยงถึง 50% ที่เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยจะไม่ดี ดังนั้นจึงขึ้นอยู่การลงทุนของภาครัฐในโครงการนี้ว่า จะก่อให้เกิดการจ้างงานที่มีประสิทธิภาพมากแค่ไหน รวมถึงความสามารรถในการดึงดูดภาคเอกชนเข้าร่วมลงทุน.
กำลังโหลดความคิดเห็น