xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ชี้จีดีพีแนวโน้มสดใส-ปี53ลุ้นอนาคตนิคมฯมาบตาพุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธปท.ปรับประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ดีขึ้น เหลือติดลบแค่ 2.5% เหตุเศรษฐกิจโลกดีขึ้น ความเชื่อมั่นภาคเอกชนปรับเริ่มกลับมา ส่วนปี 53 บวก 3.3% แต่จะโดนมาบตาพุดเป็นตัวแปร

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปีนี้ติดลบ 2.5% ถึงติดลบ 3.5% จากเดิมติดลบ 3 ถึงติดลบ 4.5% ถือว่าหดตัวน้อยกว่าการประเมินครั้งก่อน เนื่องจากตัวหลักเป็นผลจากเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้น ซึ่งโตกว่าประเมินครั้งก่อน 1% ทำให้มีแรงส่งต่อภาคส่งออกและอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยดีขึ้น ขณะที่นโยบายการคลังและการเงินยังเป็นแรงกระตุ้นที่สำคัญ รวมทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคและนักธุรกิจปรับตัวดีขึ้นในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา จึงเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะเดินหน้าไปได้

ในปี 53 ธปท.ได้ปรับอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 0.3% มาอยู่ที่ระดับ 3.3-5.3% ซึ่งส่วนนี้ได้รวมผลกระทบจากคำสั่งคุ้มครองฉุกเฉินของศาลปกครองในการระงับโครงการลงทุนในพื้นที่มาบตาพุดประมาณ 0.2% แล้ว ทำให้การลงทุนภาคเอกชนหดตัวตัว 1% จากเดิมคาดโต 8.8% เหลือการลงทุน 7.8% และหากปัญหายืดเยื้อ และการลงทุนถูกเลื่อนออกไป 1 ปี จะมีผลกระทบให้อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจเพิ่มอีก 0.3% และมีผลต่อเม็ดเงินใหม่อีก 43,000 ล้านบาท จากเดิมคาดว่ามีผลกระทบต่อมูลค่าการลงทุน 94,000 ล้านบาท ดังนั้น โครงการมาบตาพุดจะส่งผลกระทบปี 53 หดตัวทั้งสิ้น 0.5% และมีผลต่อการจ้างงาน การบริโภค และการลงทุนใหม่ นอกเหนือจาก 76 โครงการตามมาด้วย

“ธปท.ปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 53 อยู่ที่ระดับ 3.3-5.3% ซึ่งในช่วงนี้โอกาสเป็นไปได้มากที่สุดอยู่ที่ระดับ 4.4% ในกรณีฐาน และหากเกิดกรณีเลวร้ายสุดอยู่ที่ระดับ 3.3% และคาดว่าเศรษฐกิจโลกโต 4.4% ซึ่งได้ประเมินกรณีเลวร้ายสุดขยายตัวแค่ 3.1% และดีสุดที่ระดับ 5.2%”

สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับตัวดีขึ้นกว่าครั้งก่อน 0-0.5% และปี 53 อยู่ที่ 1.5-2.5% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบ 0.5% ถึงติดลบ 1.5%ในปีนี้ และปี 53 กลับเป็นบวก 3.5-5.5% ซึ่งความเสี่ยงอัตราเงินเฟ้อด้านต่ำมีมากกว่าด้านสูง โดยอัตราเงินเฟ้อยังมีความเสี่ยงอยู่ หากภาครัฐยกเลิกมาตรการบรรเทาค่าครองชีพในสิ้นสุดในปีนี้ และอุปสงค์ในประเทศมากขึ้นตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจ แต่เชื่อว่าในช่วงไตรมาส 4 ยังต่ำกว่าเป้าหมายการดำเนินนโยบายการเงิน คือ 0.5-3.0% และหลังจากนั้นจะเข้าสู่เป้าหมายที่กำหนดในไตรมาสแรกของปี 53 จึงไม่น่าเป็นห่วงและไม่จำเป็นต้องดำเนินการมาตรการใดๆ เพราะเชื่อว่าเป็นผลจากปัจจัยชั่วคราวเท่านั้น

ธปท.ได้ตั้งราคาน้ำมันดูไบสูงกว่าครั้งก่อน โดยในกรณีสูงคาดว่าอยู่ที่ระดับ 81.2 เหรียญต่อบาร์เรล ในไตรมาส 4 และเฉลี่ยปีนี้ทั้งปี 63 เหรียญต่อบาร์เรล และในปี 53 ไตรมาส 1-4 จะเพิ่มขึ้นทุกไตรมาสอยู่ที่ 84.9, 91.6, 93.8 และ 99.8 เหรียญต่อบาร์เรล ตามลำดับและเฉลี่ยทั้งปี 53 อยู่ที่ 92.5 เหรียญต่อบาร์เรล และหากเศรษฐกิจโลกไม่โตนัก อาจทำให้สมมติฐานดังกล่าวลดลงได้อีก

นอกจากนี้ ธปท.ประเมินว่าในปีงบประมาณ 53 พบว่า การลงทุนภาครัฐต่ำกว่าเป้าหมาย 30,400 ล้านบาท จากเดิม 714,800 ทำให้มีการปรับตัวเลขแผนการลงทุนและนำเงินดังกล่าวโอนสู่มือประชาชน จึงเป็นตัวเลขการบริโภคแทน ส่งผลให้ลงทุนภาครัฐในปีหน้าอยู่ที่ 3-5% จากเดิม 9-11% และคาดว่าการลงทุนภาคเอกชนมีบทบาทรับไม้ต่อภาครัฐแทน โดยในปีหน้าคาดว่าขยายตัวที่ 7-9% ส่วนการบริโภคภาคเอกชน 2-4%ในปีนี้ เท่ากับประเมินครั้งก่อน

ส่วนมูลค่าการส่งออกและนำเข้าหดตัวน้อยกว่าประเมินครั้งก่อน โดยมูลค่าการส่งออกติดลบ 13.5% ถึงติดลบ 16.5% และคาดว่าปีหน้ากลับเป็นบวกที่ระดับ 13-16%ตามเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่มูลค่าการนำเข้าติดลบ 25.5% ถึงติดลบ 28.5%และทั้งปี 53 จะได้อนิสงค์จากภาวะเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว ทำให้มูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 27.5-30.5% ซึ่งเท่ากับการประเมินครั้งก่อน ด้านดุลการค้า 19,500-22,500 ล้านเหรียญสหรัฐ และปีหน้า 4,000-7,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัด 21,000-24,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และปีหน้า 6,000-9,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
กำลังโหลดความคิดเห็น