รายงาน "ล้างทุจริต กฟภ.ซากเดนยุคทักษิณ" (ตอนที่ 1) โดย ... ทีมข่าวพิเศษ
ASTVผู้จัดการรายวัน – โครงการเช่าซอฟต์แวร์คอมพ์ กฟภ.ฉาวไม่เลิก สตง.จี้ผู้ว่าฯ แจงเหตุอุ้ม “พอร์ทัลเนท” เครือเอ็มลิงค์ของกลุ่มก๊วนเครือญาติทักษิณ อนุมัติขยายสัญญางดค่าปรับส่งมอบงานล่าช้ากว่า 1,400 ล้าน ทั้งยังอนุมัติขยายสัญญารอบ 3 พนักงานกฟภ.ร้อง “อภิสิทธิ์” สั่งการตรวจสอบ-โยกผู้ว่าฯ เข้ากรุ
โครงการระบบคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์สำหรับธุรกิจหลักของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หรือ โครงการ “SAP” ซึ่งก่อนนี้ อลงกรณ์ พลบุตร ขุนพลพรรคประชาธิปัตย์สมัยเป็นฝ่ายค้าน ได้ตรวจสอบพบว่า มีการล็อกสเปกและฮั้วประมูลกันโดยอุ้มสมให้กลุ่มพอร์ทัลเนท เครือเอ็มลิงค์ที่มี “วงศ์สวัสดิ์” และ “ชินวัตร” ถือหุ้นใหญ่ เป็นผู้ชนะประมูล และส่งเรื่องร้องเรียนไปยังสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ให้เข้ามาตรวจสอบตั้งแต่ปี 2547
ล่าสุด เมื่อปลายเดือนมิ.ย. 52 ที่ผ่านมา สตง. สรุปผลเบื้องต้นว่า ข้อเท็จจริงจากการตรวจสอบยังไม่พอรับฟังได้ว่ามีการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามข้อบังคับ กฟภ.ว่าด้วยการซื้อ พ.ศ. 2543 แต่ สตง. มีข้อสังเกตสำคัญ คือ ราคากลางของค่าเช่าซึ่งเป็นผลมาจากการคิดคำนวณของบริษัทที่ปรึกษาหากสูงเกินความเป็นจริง อาจทำให้มีการสมยอมในการเสนอราคา และเงื่อนไขทางเทคนิค ที่กำหนดนั้นมีผู้ผ่านการพิจารณาเพียงรายเดียว อาจทำให้ราชการเสียประโยชน์เนื่องจากไม่มีการแข่งขันราคา
กฟภ.ทำสัญญาเช่าระบบคอมพิวเตอร์ฯ เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 47 วงเงินตามสัญญา 3,192 ล้านบาท ตามสัญญาเลขที่ บ.13/2547 มีกำหนดส่งมอบ 36 เดือน นับจากวันลงนาม คือ 16 มี.ค. 50 หากส่งมอบไม่ทันตามกำหนดต้องจ่ายค่าปรับรายวัน 0.15% หรือคิดเป็นวันละ 4,788,000 บาท แต่ที่ผ่านมา กฟภ.ได้พิจารณาขยายเวลาโดยงดค่าปรับมาแล้ว 2 ครั้ง
คือ ครั้งที่ 1 บริษัทขอขยายเวลา 714 วัน (ตั้งแต่ 17 มี.ค. 50 – 28 ก.พ. 52) กฟภ.อนุมัติให้ขยาย 357 วัน (ตั้งแต่ 17 มี.ค. 50 – 7 มี.ค. 51) และครั้งที่ 2 บริษัทขอขยายเวลา 423 วัน (ตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. 51 – 3 พ.ค. 52 ) กฟภ.อนุมัติให้ขยาย 182 วัน (ตั้งแต่ 8 มี.ค. 51 – 5 ก.ย. 51) รวมการขยายอายุสัญญาเช่าออกไป 2 ครั้ง รวม 539 วัน
สตง.ได้ตั้งข้อสังเกตที่มีนัยสำคัญ คือ เวลานี้ล่วงเลยวันที่ได้ขยายเวลาในครั้งที่ 2 มาตั้งแต่วันที่ 6 ก.ย. 51 จนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 52 รวม 298 วันแล้ว แต่กฟภ.ยังไม่มีความชัดเจนและไม่มีความคืบหน้าว่าจะขยายสัญญาต่ออีกหรือไม่ และด้วยเหตุผลความจำเป็นใด หรือจะยกเลิกสัญญา ทั้งนี้ หากคำนวณค่าปรับตามสัญญาจะตกประมาณ 1,422 ล้านบาท
แหล่งข่าว สตง. เปิดเผยว่า สตง.ได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าการ กฟภ. (นายอดิศร เกียรติโชควิวัฒน์) เพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริงในประเด็นต่างๆ ทั้งการส่งมอบงานตั้งแต่แรกจนถึงปัจจุบัน การตรวจรับมอบงานพร้อมรายชื่อคณะกรรมการตรวจรับ การดำเนินการคิดค่าปรับตามสัญญา รวมทั้งเหตุผลความจำเป็นในการอนุมัติขยายระยะเวลาส่งมอบระบบตามสัญญาเช่าที่เกิดขึ้นทุกครั้ง และตัวเลขการจ่ายเงินให้กับผู้วางระบบ โดยกำหนดให้ กฟภ. ชี้แจงกลับไปยัง สตง. ภายในวันที่ 20 ก.ค. 52
ล่าสุด รายงานข่าวแจ้งว่า ผู้ว่าการ กฟภ. ได้อนุมัติขยายสัญญาต่ออีกเป็นครั้งที่ 3 แล้ว
กลุ่มพนักงานที่ร้องเรียนเรื่องการทุจริตใน กฟภ. ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้เข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้ตามที่เคยแถลงต่อสภาว่า จะดูแลมิให้มีการทุจริตคอร์รัปชั่นเกิดขึ้น โดยให้ข้อมูลว่า เมื่อครบกำหนดการติดตั้งระบบซอฟต์แวร์ตามสัญญา ในวันที่ 17 มี.ค. 50 นั้น บริษัทติดตั้งได้เพียง 5 ระบบงาน แต่ไม่ได้เป็นไปตามทีโออาร์ 73 ข้อ และยังมีข้อบกพร่องอีก 72 ข้อซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้แก้ไข
ส่วนเรื่องการต่ออายุสัญญานั้น คณะกรรมการ กฟภ. ได้ประชุมและถกกันว่าควรจะยกเลิกสัญญาเช่าแต่เนิ่นๆ หรือไม่ เพราะเป็นที่ประจักษ์ว่าถึงต่อสัญญาให้ถึงปี 52 ก็ไม่มีทางติดตั้งระบบงานเสร็จทั้ง 9 ระบบงาน ถ้ายกเลิกสัญญาตั้งแต่ครบกำหนดติดตั้ง กฟภ.จะไม่มีความเสียหายเพราะตามสัญญา กฟภ.สามารถใช้ระบบที่ติดตั้งแล้วจนกว่าจะหาผู้ให้เช่ารายใหม่ซึ่งสามารถติดตั้งระบบให้ใช้งานได้ครบภายใน 3 ปีนับจากวันบอกเลิกสัญญา
อย่างไรก็ตาม สุดท้าย ผู้ว่าฯ กฟภ.ได้ตัดสินใจอนุมัติการขยายเวลาติดตั้งระบบ 2 ครั้ง โดยไม่คิดค่าปรับและปัจจุบันอยู่ระหว่างการขยายเวลาเป็นครั้งที่สาม
สำหรับเหตุผลที่โครงการดังกล่าวมีปัญหาการนำมาใช้งาน นอกจากปัญหาศักยภาพของพนักงาน กฟภ.ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีความชำนาญในการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ ไม่มีความรู้ภาษาอังกฤษ ขาดความรู้เฉพาะด้าน เช่น ระบบบัญชี การลงบัญชี รวมทั้งระบบการเก็บรวบรวมข้อมูลของ กฟภ. ที่มีอยู่ก่อนแล้ว ยังเป็นเพราะคุณสมบัติของกิจการร่วมค้า SPIE ไม่ได้เป็นไปตามที่ข้อกำหนดระบุไว้เพราะไม่มีบุคคลากรที่มีประสิทธิภาพ ไม่มีประสบการณ์และความรู้ในกิจการไฟฟ้าเพียงพอที่จะทำให้โครงการนี้สำเร็จและมีการเปลี่ยนบุคลากรบ่อยมาก ทำให้ กฟภ.ต้องจ่ายเงินเพิ่มเพื่อจ้างทีมผู้เชี่ยวชาญจากจุฬาลงกรณ์ มาเป็นที่ปรึกษาโครงการฯ
กลุ่มพนักงาน กฟภ. ยังกังวลว่า หากผู้ให้เช่าระบบไม่ซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ เอาข้อมูลที่ขึ้นระบบแล้วไปใช้ประโยชน์เพื่อการอื่น หรือเกิดละทิ้งงานขึ้นมาจะเกิดความเสียหายใหญ่หลวงต่อกฟภ. หรือกรณีที่ข้อมูลทั้งหมดได้ขึ้นในระบบงานทั้ง 9 ระบบแล้ว เมื่อครบสัญญาเช่า 5 ปี กฟภ.ก็จะเป็นต้องขอต่อสัญญาเช่าระบบงานต่อไปเพื่อไม่ให้งานหยุดชะงัก กลายเป็นเบี้ยล่างของกิจการร่วมค้าฯ ต่อไป
อนึ่ง คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกคุณสมบัติและพิจารณาผลการประกวดราคา ที่ให้กลุ่มเพอร์ทัลเนท ชนะประมูล นั้น มีนายอดิศร เกียรติโชควิวัฒน์ ผู้ว่าการฯ กฟภ. คนปัจจุบัน เป็นประธาน .ซึ่งขณะนั้น นายอดิศร ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการพัฒนาองค์กร
และในช่วงที่มีการคัดเลือกผู้เข้าดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ กฟภ. มีกระแสข่าวร่ำลือกันว่า กลุ่มอำนาจเก่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังสนับสนุนให้เขาได้รับตำแหน่ง เพื่อเข้ามาดูแลจัดการโครงการเช่าซอฟต์แวร์คอมพ์ฯ ที่อื้อฉาวดังกล่าว ซึ่งการขยายสัญญาโดยไม่คิดค่าปรับเป็นหนึ่งในผลงานที่เห็นเป็นรูปธรรมว่าเข้าข่ายเอื้อประโยชน์
ท้ายหนังสือร้องเรียน พนักงาน กฟภ. ขอให้นายกรัฐมนตรี พิจารณาโยกย้ายนายอดิศร ออกจากตำแหน่งไปประจำกระทรวงมหาดไทย เพื่อมิให้กระทำการที่อาจเกิดความเสียหายต่อ กฟภ.เพิ่มขึ้นอีก