ล้างทุจริตกฟภ.ซากเดนยุคทักษิณ (จบ) โดย “ทีมข่าวพิเศษ”
ASTVผู้จัดการรายวัน – ร้องป.ป.ท.ตรวจสอบบิ๊ก กฟภ.หากินตามน้ำ อนุมัติให้นำเศษสายไฟฟ้าแรงสูงสภาพใหม่ที่ถูกรื้อทิ้งให้กลายสภาพเป็นสายไฟชำรุดแลกเปลี่ยนกับอุปกรณ์ไฟฟ้า ทำให้กฟภ.สูญเสียผลประโยชน์จำนวนมากในแต่ละปี
ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นในการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลทักษิณจนบัดนี้ หาได้ลดน้อยถอยลงไม่ ข้อกังขาที่ว่าผู้ว่ากฟภ.คนปัจจุบันขึ้นมาเป็นใหญ่ได้เพราะการวิ่งเต้น ทำให้ต้องหาทางถอนทุนคืนนั้น กำลังจะได้รับการตรวจสอบอีกครั้งจากหน่วยงานตรวจสอบทุจริตในภาครัฐ
การร้องเรียนให้มีการเข้าตรวจสอบการทุจริตใน กฟภ. เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับจากโครงการที่มีปัญหาค้างคาอยู่แต่เดิม คือ โครงการเช่าระบบคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์สำเร็จรูปสำหรับธุรกิจหลัก ซึ่งเวลานี้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กำลังติดตามตรวจสอบถึงเหตุผลที่ กฟภ. ไม่ปรับคู่สัญญาจากการทำผิดเงื่อนไขสัญญาเป็นมูลค่าพันกว่าล้านบาท เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับฝ่ายเอกชนในก๊วนกลุ่มอำนาจเก่า
นอกจากนั้น ยังมีข้อร้องเรียนเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นแบบกินตามน้ำ การชักเปอร์เซนต์จากโครงการจัดซื้อจัดจ้าง จัดหา แลกเปลี่ยนอุปกรณ์ ซึ่งในแต่ละปี กฟภ. มีงบจัดซื้อตกประมาณปีละ 7,000 – 8,000 ล้าน การประมูลงานเหล่านี้ทุกสัญญาพ่อค้า ผู้รับเหมาที่ชนะประมูล หรือวิ่งเต้นเพื่อชนะประมูลต้องจ่ายตามน้ำให้กับผู้เกี่ยวข้องระดับบิ๊กอย่างน้อย 5%
อย่างไรก็ตาม โครงการจัดซื้อจัดจ้างที่ซอยย่อยมากมายให้อยู่ในอำนาจระดับบิ๊กอนุมัติได้นั้นส่วนใหญ่แล้วไม่มีการเข้ามาตรวจสอบแต่อย่างใด อย่างกรณีโครงการแลกเปลี่ยนอุปกรณ์ เช่น การแลกเปลี่ยนเศษสายอลูมิเนียมเปลือยชำรุด (สายไฟฟ้าแรงสูง) กับอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ปีละประมาณ 6 – 7 ครั้งนั้น ส่งผลให้กฟภ. สูญเสียประโยชน์ไม่น้อย แต่กลับไม่เคยมีการตรวจสอบใดๆ จากหน่วยงานปราบทุจริตเลย
กรณีตัวอย่างการประกวดราคาแลกเปลี่ยนเศษสายอลูมิเนียมเปลือยชำรุดกับหม้อแปลงไฟฟ้า 22 เควี 3 เฟส 160 เควีไอ ตามการประกวดราคาแลกเปลี่ยนเลขที่ ลป.5/2551 ตามการอนุมัติของผู้ว่าการ กฟภ. (ผวก.) เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2551 ที่อนุมัติให้นำเศษสายอลูมิเนียมเปลือยชำรุด จำนวน 234,453 กก.แลกเปลี่ยนกับหม้อแปลงไฟฟ้า 22 เควี 3 เฟส 160 เควีไอ จำนวน 100 เครื่อง มูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 20.32 ล้านบาท
การประกวดราคาดังกล่าว คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาฯ ได้สรุปพิจารณาให้ยกเลิกเพราะต้องใช้เศษสายจำนวนมากกว่าจำนวนที่สมควรแลกเปลี่ยนสูงถึง 33% แต่ทางผู้ว่าการ กฟภ. กลับดึงดันให้มีการแลกเปลี่ยนจนได้ในที่สุด
รายละเอียดของเรื่องนี้ที่กลุ่มอดีตพนักงานและพนักงานของกฟภ. ร้องเรียนต่อ “ASTVผู้จัดการรายวัน” มีอยู่ว่า เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 51 ผวก.อนุมัติให้นำเศษสายฯ แลกเปลี่ยนกับหม้อแปลงไฟฟ้า พร้อมแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคา ซึ่งมีนายพงษ์ศักดิ์ หาญบุญญานนท์ เป็นประธาน และมีการแจ้งการประกวดราคาแลกเปลี่ยนให้แก่บริษัทผู้ผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าทราบ จำนวน 15 บริษัท
ผลการเปิดซองเมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2551 มีผู้ยื่นซองเสนอราคาแลกเปลี่ยนจำนวน 2 ราย คือ บริษัท ซี ซี หม้อแปลงไฟฟ้า จำกัด เสนอผลิตภัณฑ์ CC TRANSFORMER CO.LTD.จากประเทศไทย และบริษัทสหภัณฑ์อิเลคทริค จำกัด เสนอผลิตภัณฑ์ SAHABHANT ELECTRI จากประเทศไทย
และผลการเปิดซองประกวดราคาแลกเปลี่ยน เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2551 บริษัทซี.ซี.ฯ เสนอจำนวนหม้อแปลงที่แลกเปลี่ยน 100 เครื่อง เศษสายอลูมิเนียมแปลือยชำรุดที่เสนอ 403,862 กก. มูลค่า 22,414,350 บาท ส่วนบริษัทสหภัณฑ์อิเลคทริก จำกัด เสนอ 369,500 กก. มูลค่า 21,347,100 บาท ในจำนวนหม้อแปลงเท่ากัน
คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคา สรุปว่า บริษัทสหภัณฑ์อิเลคทริค เสนอแลกเปลี่ยนหม้อแปลงไฟฟ้าฯ ด้วยจำนวนเศษสายอลูมิเนียมเปลือยชำรุดที่น้อยที่สุด แต่ยังมากกว่าจำนวนเศษสายที่คำนวณโดยหลักเกณฑ์ของกฟภ. ที่ใช้ราคาจัดซื้อครั้งสุดท้าย คือ 203,200 บาท/เครื่อง ตามสัญญาเลขที่ ปก.ห.075/2551 ลว.26 มี.ค. 2551 เป็นจำนวน 92,924 กก. (369,500 – 276,575 กก.) คิดเป็น 33% ทางคณะกรรมการฯ ได้ต่อรองขอลดจำนวนเศษสายอลูมิเนียมชำรุดกับบริษัทสหภัณฑ์อิเลคทริค แต่บริษัทขอยืนปริมาณตามที่เสนอไว้เดิมโดยอ้างราคาตลาดโลกที่ผันผวน
คณะกรรมการพิจารณาฯ เห็นว่า การแลกเปลี่ยนในช่วงนี้อยู่ในช่วงราคาอลูมิเนียมในตลาดโลกมีราคาลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้เศษสายไฟชำรุดมีมูลค่าลดลง และต้องใช้เศษสายจำนวนมากกว่าจำนวนที่สมควรแลกเปลี่ยน จึงทำหนังสือถึง ผวก. เห็นสมควรยกเลิกการแลกเปลี่ยนเศษสายฯ ในครั้งนี้ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการแลกเปลี่ยนใหม่
แต่อย่างไรก็ตาม ทาง ผวก. กลับแทงหนังสือให้ นายพิสิฏฐ์ ภัสฐาพงษ์ รผก.(อ.) กลับไปพิจารณาใหม่ และให้ดำเนินการต่อไป
จากนั้น ก็มีการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ข้อกำหนดในการแลกเปลี่ยนใหม่ เพื่อทำให้การแลกเปลี่ยนครั้งมีความเหมาะสมดีแล้ว
กล่าวคือ จากเดิมที่คณะกรรมการพิจารณาฯ ใช้การคำนวณมูลค่าเศษสายเป็นราคาเฉลี่ยย้อนหลัง 1 เดือน ก่อนวันเปิดซองไม่น้อยกว่า 7 วัน ตามหลักเกณฑ์ที่ ผวก.ลงวันที่อนุมัติ เมื่อ 28 เม.ย. 2535 และ 5 ส.ค. 2535 เรื่องหลักเกณฑ์การกำหนดราคาขั้นต่ำเศษสายไฟชำรุดและสายไฟฟ้าเพื่อแลกเปลี่ยน ก็เปลี่ยนมาใช้ตามหลักเกณฑ์ “ตามอนุมัติ ผวก.ลงวันที่ 28 ต.ค. 2551 ที่อนุมัติหลักเกณฑ์ในการแลกเปลี่ยนเศษสายไฟชำรุดกับอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้ในระบบจำหน่ายของ กฟภ.โดยให้ยกเลิกอนุมัติเดิมตามข้อ 2.1 และให้คณะกรรมการฯ คำนวณปริมาณ และราคาเศษสายไฟชำรุด โดยใช้ราคาอลูมิเนียมอินกอท ราคาอลูมิเนียมอัลลอย ราคาทองแดง และอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันเปิดซอง เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาที่เหมาะสม”
จากนั้น ฝ่ายจัดหา ก็มีบันทึกลงวันที่ 27 พ.ย. 2551 ขอให้คณะกรรมการกำหนดราคามาตรฐานและราคากลาง คำนวณราคากลางหม้อแปลงขนาด 160 เควีเอ ระบบ 22 เควี ณ ปัจจุบันเพื่อใช้ประกอบการพิจารณา และคณะกรรมการกำหนดราคามาตรฐานฯ มีบันทึก เมื่อ 4 ธ.ค. แจ้งว่าราคาหม้อแปลงดังกล่าวควรมีราคา 209,500 บาท (ข้อมูล ณ 1 ธ.ค. 2551)
ต่อมา ฝ่ายจัดหาก็คำนวณการแลกเปลี่ยนใหม่อีกครั้ง คราวนี้ใช้การคำนวณโดยคำนวณมูลค่าฯ เศษสายจากราคาอลูมิเนียมอินกอท และอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 4 ธ.ค. 2551 และใช้ราคากลางหม้อแปลงตามข้อ 2.3 มาใช้คำนวณในการแลกเปลี่ยน และคำนวณได้จำนวนเศษสายชำรุดที่ต้องใช้แลกเปลี่ยนเท่ากับ 421,444 กก. ซึ่งมากกว่าที่บริษัทเสนอ 51,944 กก. (บริษัทเสนอ 369,500 กก.) พร้อมกับเสนอความเห็นตามบันทึก เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2551 เสนอ รผก.(อ.) ให้ความเห็นว่า เศษสายที่บริษัทฯเสนอ 369,500 กก. เพื่อแลกเปลี่ยนกับหม้อแปลงฯ จำนวน 100 เครื่อง นั้นมีความเหมาะสมแล้ว
รผก. (อ) มีบันทึก ลว. 12 ธ.ค. 2551 ถึง ผกว. เห็นสมควรให้คณะกรรมการพิจารณาฯ ทบทวนใหม่อีกครั้ง และ ผวก. ก็มีบัญชา เมื่อ 16 ธ.ค. 2551 ให้คณะกรรมการพิจารณาฯ ดำเนินการต่อไป จากนั้น ผวก. ก็อนุมัติตามคณะกรรมการพิจารณาฯ เสนอเรื่องขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2551
จากตัวอย่างที่ยกมาข้างต้น สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการจัดซื้อ จัดจ้าง แลกเปลี่ยนอุปกรณ์ของ กฟภ. ที่มีงบหลายพันล้านในแต่ละปี ภายใต้การบริหารของนายอดิศร เกียรติโชควิวัฒน์ ผู้ว่าการฯ นั้น เป็นเช่นใด
เมื่อมีใครขวาง หรือทำไม่ได้ตามใบสั่งก็ทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้ตามความต้องการ ถึงขั้นเปลี่ยนหลักเกณฑ์ใหม่ ใช่หรือไม่ ??
แหล่งข่าวจาก กฟภ. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การแลกเปลี่ยนสายไฟชำรุดกับอุปกรณ์ไฟฟ้าในแต่ละปีทำกันหลายครั้ง และก่อนที่จะดำเนินการแต่ละครั้งก็จะมีคำสั่งด้วยวาจาจากผู้ใหญ่ให้รื้อสายไฟจากทั่วประเทศส่งกลับเข้ามารวมไว้ที่ส่วนกลางโดยมีคลังสายไฟที่ศูนย์รังสิต ซึ่งความจริงสายไฟที่รื้อนั้นยังเป็นสายไฟใหม่ ใช้งานได้อยู่ แต่กลับนำมาตีค่าเป็นเศษสายไฟเก่าชำรุดทำให้มูลค่าต่ำลง ขณะที่อุปกรณ์ที่นำไปแลก เช่น ลูกถ้วย หรือหม้อแปลงไฟฟ้า จะถูกตีราคาให้สูง ทำให้ กฟภ.เสียประโยชน์อย่างมาก
“ก่อนหน้านี้การแลกเปลี่ยนทำกันทีละ 10 หรือ 20 ล้าน แต่ตอนหลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถึง 50 ล้านบาทต่อครั้ง บางครั้งก็ผ่านการประมูล บางครั้งก็ไม่ผ่านไม่ต้องเข้ากระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง” แหล่งข่าวตั้งข้อสังเกต
แหล่งข่าวจากกฟภ. ชี้ว่า การแลกเปลี่ยนสายไฟฯ กับอุปกรณ์ไฟฟ้า หากเอาวัสดุที่ต้องการขายไปประมูลขายตามระเบียบจะได้ราคาดีกว่า และนำเงินนั้นไปซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้าตามที่ต้องการก็จะได้ราคาถูกกว่าเพราะต้องผ่านการประมูลแข่งขันกัน ซึ่งวิธีการเช่นนี้จะดีกว่าการเอาสายไฟชำรุด ซึ่งไม่ได้ชำรุดจริงไปแลกอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ โดยตรง การทำเช่นนี้ทำให้กฟภ.เสียประโยชน์ทั้งขึ้นทั้งล่อง เหมือนกับการเอาแบงก์พันไปแลกได้แบงก์ร้อย
สำหรับปัญหาในการแลกเปลี่ยนอุปกรณ์ดังกล่าวข้างต้น ขณะนี้กลุ่มพนักงานทั้งอดีตและปัจจุบันได้รวบรวมข้อมูลและยื่นข้อร้องเรียนต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการป้องกันการปราบปรามทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ให้เข้ามาตรวจสอบแล้ว ส่วนการจัดซื้อจัดจ้างอื่นๆ ที่มีข้อพิรุธกำลังอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล เพื่อยื่นเสนอให้ ป.ป.ท.เข้ามาตรวจสอบต่อไป