xs
xsm
sm
md
lg

กรมชลฯอัดงบ3,099ล้าน จัดที่ดินโครงการเขื่อนแควน้อย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน -สำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน ได้รับอัดฉีดงบ 3,099 ล้านบาทจากแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง วางแผนจัดรูปที่ดินพื้นที่โครงการเขื่อนแควน้อย จ.พิษณุโลก 150,000 ไร่ ชาวบ้านหนุนเพราะเห็นผลดีจากพื้นที่ฝั่งขวาของลำน้ำน่านที่จัดรูปที่ดินล่วงหน้าไปแล้ว

นายจรัญ ภูขาว ผู้อำนวยการสำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน เปิดเผยว่า โครงการลงทุนภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ระยะที่ 2 ( พ.ศ.2553-2555) ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง สำนักงานจัดรูปที่ดินกลางได้รับงบประมาณ 3,099 ล้านบาทสำหรับการจัดรูปที่ดินภายใต้แผนลงทุนดังกล่าว สำนักงานจัดรูปที่ดินกลางวางเป้าหมาย จัดรูปที่ดินในพื้นที่เขื่อนแควน้อย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.พิษณุโลก จำนวนพื้นที่เป้าหมาย 150,000 ไร่

“ที่กำหนดเป็นเขื่อนแควน้อย เพราะมีแหล่งน้ำต้นทุนเพียงพอที่จะจัดรูปที่ดินได้ โดยจะเริ่มดำเนินการจัดรูปที่ดินแปลงตัวอย่างประมาณ 1,500 ไร่ในปี 2553” นายจรัญกล่าว

ผู้อำนวยการสำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กล่าวว่า แม้งบลงทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจจะหมดสิ้นในปี 2555 แต่การลงทุนจัดรูปที่ดินในพื้นที่โครงการเขื่อนแควน้อยฯ ก็ยังต้องดำเนินการต่อไปจนจบสิ้น ขณะนี้งบประมาณเบื้องต้นกำหนดไว้ที่ 2,500 ล้านบาท ส่วนจะเพิ่มมากกว่านี้เท่าใดขึ้นอยู่กับการออกแบบโครงการ ซึ่งขณะนี้ยังไม่เสร็จสิ้น

ทางด้านนายณชพัฒน์ พิมพะ หัวหน้าสำนักงานจัดรูปที่ดินจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า พื้นที่จัดรูปที่ดินพื้นที่โครงการเขื่อนแควน้อยฯครอบคลุม อ.วัดโบสถ์ อ.เมือง บางส่วนของอ.วังทอง และบางส่วนของอ.พรหมพิราม ซึ่งเท่าที่หารือกับชาวบ้านได้รับความสนใจเข้าร่วมเป็นอย่างดี เพราะนอกจากมีแหล่งน้ำต้นทุนที่เป็นหลักประกันจากเขื่อนแควน้อยฯแทนการพึ่งพาฝนแล้ว ยังเห็นผลจากโครงการจัดรูปที่ดินฝั่งขวาของแม่น้ำน่าน

“กรมชลประทาน จัดรูปที่ดินฝั่งขวาของแม่น้ำน่าน 175,000 ไร่มาแล้วตั้งแต่ปี 2519 ชาวนาทำนาได้ปีละ 3 ครั้ง หรือ 2 ปี 5 ครั้ง ลองคิดดูว่าผลผลิตเฉลี่ยไร่ละ 1 ตัน ราคาข้าวตอนนี้เฉลี่ยตันละ 10,000 บาท ลองคิดดูปีหนึ่ง ชาวนาที่นี่มีรายได้เท่าไหร่”

นายณชพัฒน์กล่าวว่า ได้มีการหารือถึงการจัดรูปที่ดินแปลงตัวอย่าง 1,500 ไร่ ซึ่งจะเริ่มในปี 2553ว่า มีความเห็นจากหลายส่วนให้ผลิตข้าวอินทรีย์ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ชาวนา ทั้งในเรื่องราคา และการมีตลาดที่เข้มแข็งยั่งยืน
กำลังโหลดความคิดเห็น