xs
xsm
sm
md
lg

แฉคำสั่ง “ทวี สอดส่อง” ตั้ง “วรวุฒิ” ผิด กม.DSI

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน -คำสั่งแต่งตั้ง “ส.ต.ท.วรวุฒิ” ผู้ต้องหาคดีสอบสังหาร “สนธิ” ที่ลงนามโดย “ทวี สอดส่อง” ไม่เข้าข่ายตามมาตรา 33 พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ 2547 หาก ส.ต.ท.วรวุฒิไม่ได้ช่วยราชการดีเอไอตามที่ผู้บริหารออกมาปฏิเสธ เพราะการแต่งตั้งข้าราชการจากหน่วยงานอื่นต้องได้รับอนุมัติจากนายกรัฐมนตรีเท่านั้น และอาจทำให้การลงนามของ พ.ต.อ.ทวี เข้าข่ายเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157

ภายหลังจาก นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้นำหนังสือคำสั่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ เลขที่ 121/2552 เรื่องการแต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ ลงวันที่ 18 ก.พ.52 ออกมาเปิดเผย โดยคำสั่งดังกล่าวได้มีการแยกเจ้าหน้าที่ออกเป็น 3 กลุ่ม โดยชุดปฏิบัติการที่ 3 เกี่ยวกับสำนักเทคโนโลยี และศูนย์ข้อมูลการตรวจสอบ ลำดับที่ 24 ปรากฏซื่อ สิบตำรวจโทวรวุฒิ มุ่งสันติ ผู้ต้องหาในคดีลอบสังหารนายสนธิ ลิ้มทองกุล ไปช่วยราชการกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งหนังสือดังกล่าวตรงกันข้ามกับการให้สัมภาษณ์ของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อธิบดีกรมสอบสวนดคีพิเศษ ที่ออกมาระบุว่า สิบตำรวจโทวรวุฒิ ไม่ได้มาช่วยราชการที่ดีเอสไอ

และภายหลังจากที่หนังสือคำสั่งของกรมสอบสวนคดีพิเศษถูกนายสนธินำออกมาเปิดเผยนั้น ในเวลาต่อมา พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล ผู้บัญชาการสำนักกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้เปิดเผยว่า เรื่องดังกล่าวเป็นการทำงานในแบบบูรณาการร่วมกันของหลายหน่วยงาน อาทิ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) รวมไปถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ( สตช.) ในคดีการกระทำผิดฐานค้ามนุษย์ชาวโรฮิงยา เพื่อขยายผลในการจับกุมนายหน้าค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นคำสั่งรูปแบบร่วมกันเป็นคดีพิเศษที่ต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวน และเห็นชอบให้พนักงานอัยการร่วมสอบสวนร่วมกัน ตามมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547

พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ กล่าวอ้างว่าในส่วนของ ส.ต.ท.วรวุฒิ มุ่งสันติ นั้นได้ถูกเสนอโดยสำนักเทคโนโลยีและศูนย์ข้อมูลการตรวจสอบ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งตัวเขาเป็นผู้รวบรวมรายชื่อนำเสนอไป ทางอธิบดี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง หรือรองอธิบดีอื่น คงไม่ทราบเรื่องดังกล่าว ในการตั้งพนักงานเพื่อดำเนินการสืบสวนสอบสวน โดยหน้าที่ของ ส.ต.ท.วรวุฒิ ที่ได้แต่งตั้งไปนั้นทำหน้าที่เป็นแค่ผู้ตรวจค้น สืบสวนข้อมูลตามจุดต่างๆ ในพื้นที่ที่กำหนดไว้ 10-20 จุด ทั่วกรุงเทพมหานคร ซึ่งหนังสือที่แต่งตั้งอนุมัติออกมาก็เพื่อรับรองการทำงานในส่วนดังกล่าวเท่านั้น

การออกมาชี้แจงหนังสือดังกล่าวของ พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ เท่ากับยอมรับว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารจริง เพียงแต่ชี้แจงว่า พ.ต.อ.ทวีไม่มีส่วนรู้เห็นในคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าว โดยอ้างว่า พ.ต.อ.ทวี เป็นเพียงผู้เซ็นชื่อรับรองเอกสารเท่านั้น อย่างไรก็ตามเรื่องดังกล่าวได้เงียบหายไป โดยไม่มีความกระจ่างแต่อย่างใด แม้กระทั่ง นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ก็ไม่ได้ออกมาติดตามเพื่อสอบสวนเรื่องดังกล่าว ทั้งที่ขัดแย้งกับคำชี้แจงของผู้บริหารกรมสอบสวนคดีพิเศษก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจสอบพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 พบว่า คำสั่งดังกล่าวและคำชี้แจงของ พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ ขัดแย้งกับมาตรา 33 ที่ระบุว่า ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการสืบสวนและสอบสวนคดีพิเศษเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ รัฐมนตรีอาจเสนอให้นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลมีคำสั่งตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินให้เจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานอื่นมาปฏิบัติหน้าที่ในกรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อช่วยเหลือในการสืบสวนและสอบสวนคดีพิเศษนั้นได้

ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐตามวรรคหนึ่งเป็นพนักงานสอบสวนคดีพิเศษหรือเจ้าหน้าที่คดีพิเศษ สำหรับการสืบสวนและสอบสวนคดีพิเศษที่ได้รับการแต่งตั้ง

จากมาตรา 33 จะเห็นได้ว่า การแต่งตั้งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานอื่นมาปฏิบัติหน้าที่ในกรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อช่วยเหลือในการสืบสวนและสอบสวนคดีพิเศษได้นั้น รัฐมนตรีต้องเสนอให้นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลเป็นผู้อนุมัติเท่านั้น จะอ้างว่า เป็นการทำงานในแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานตามที่พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ชี้แจงไม่ได้

อย่างไรก็ตาม มีทางออกที่ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษอาจนำมาเป็นข้ออ้างในการใช้อำนาจตามคำสั่งดังกล่าวได้คือ มาตรา 27 ที่ระบุว่า ในกรณีจำเป็นและเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้อธิบดีหรือผู้ได้รับมอบหมายมีอำนาจให้บุคคลใด จัดทำเอกสารหรือหลักฐานใดขึ้นหรือเข้าไปแฝงตัวในองค์กรหรือกลุ่มคนใด เพื่อประโยชน์ในการสืบสวนสอบสวน ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามข้อบังคับที่อธิบดีกำหนด

การจัดทำเอกสารหรือหลักฐานใด หรือการเข้าไปแฝงตัวในองค์กร หรือกลุ่มคนใดเพื่อประโยชน์ในการสืบสวนสอบสวนตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าเป็นการกระทำโดยชอบ

แต่หากว่าคำสั่งในการแต่งตั้งสิบตำรวจโทวรวุฒิดังกล่าว ถูกอ้างว่าเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา 27 ก็นับเป็นเรื่องแปลก เพราะเป็นการแต่งตั้งคนจากหน่วยงานอื่นไปแฝงตัวในองค์กรของตัวเอง

ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า หากกรมสอบสวนคดีพิเศษปฏิเสธว่า สิบตำรวจโทวรวุฒิ มิได้เข้ามาช่วยราชการ หรือโอนย้ายมาทำงานในกรมสอบสวนคดีพิเศษตามที่ปฎิเสธมาตลอด คำสั่งดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ และ พ.ต.อ.ทวี สอดสอง ซึ่งเป็นผู้ลงนามในคำสั่งดังกล่าวน่าจะมีความผิดตามมาตรา 157 ตามประมวลกฎหมายอาญาที่ว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
กำลังโหลดความคิดเห็น