ในปัจจุบันนอกจากปัญหาต่างๆที่ประเทศไทยเผชิญอยู่ เช่น การถดถอยของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ความขัดแย้งทางการเมือง รวมไปถึงการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่แล้ว เรายังมีเรื่องที่น่ากังวลเพิ่มขึ้นอีกเรื่องหนึ่งคือการแข็งค่าของเงินบาท เมื่อต้นเดือนสิงหาคม ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้ออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อที่จะบรรเทาปัญหานี้ เพราะมาตรการเดิมที่มีอยู่ไม่พียงพอที่จะบรรเทาการแข็งค่าของเงินบาทได้ อย่างไรก็ตาม คงต้องใช้เวลาระยะหนึ่งกว่าที่จะทราบว่ามาตรการใหม่จะมีผลต่อค่าเงินบาทหรือไม่ เนื่องจากเรายังไม่เคยใช้มาตรการเหล่านี้มาก่อน จึงเปรียบเสมือนกับการลองผิดลองถูก และถ้ามาตรการต่างๆที่ออกมาแล้วไม่เพียงพอ ผมคาดว่าธปท.จะมีมาตรการเพิ่มเติมตามมาอีก
บทความนี้ผมจะกล่าวถึงสาเหตุของการแข็งค่าของเงินบาท มาตรการสำคัญที่มีอยู่ และมาตรการใหม่จะเสริมมาตรการเดิมได้อย่างไร เนื่องจากผมได้เคยเขียนถึงการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทมาแล้วหลายครั้ง ดังนั้นจึงขอกล่าวถึงเรื่องนี้สั้นๆ โดยสรุป ค่าเงินบาทแข็งขึ้นมาจากสาเหตุสำคัญ 2 ประการคือ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย และการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ
การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเกิดจากการที่อุปสงค์ในประเทศซบเซา ส่งผลให้การนำเข้าหดตัวลงมากกว่าการลดลงของการส่งออกที่เกิดจากถดถอยของเศรษฐกิจโลก ในครึ่งแรกของปี 2552 ประเทศไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดถึง 11,404.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ส่งผลให้เงินสำรองระหว่างประเทศของไทยเพิ่มขึ้นอย่างมาก
ในส่วนการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐฯนั้น จากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากและรัฐบาลสหรัฐฯมีการขาดดุลงบประมาณสูงถึง 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปีงบประมาณ 2552 หรือประมาณร้อยละ 13 ของมูลค่าเศรษฐกิจ (GDP) และคาดว่าจะยังคงขาดดุลสูงอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันประเทศอื่นๆ ก็มีการขาดดุลงบประมาณในระดับสูงเช่นเดียวกันอันเป็นผลมาจากการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินและเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ปัจจัยดังกล่าวทำให้ประเทศต่างๆมีการแย่งชิงเงินทุนเพื่อชดเชยการขาดดุล ประกอบกับสหรัฐฯมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจำนวนมากอยู่แล้ว จึงต้องพึ่งเงินทุนจากต่างประเทศเพื่อชดเชยทั้งการขาดดุลงบประมาณและดุลบัญชีเดินสะพัด ดังนั้น จึงมีความเสี่ยงสูงที่สหรัฐฯจะไม่สามารถหาเงินทุนมาชดเชยการขาดดุลได้เพียงพอ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯจึงถูกกดดันให้ลดลง
การที่เงินบาทถูกกดดันให้สูงค่าขึ้น ธปท.จึงมีมาตรการ เพื่อระบายเงินสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดออกนอกประเทศ แต่เดิม ธปท.อนุญาตให้นำเงินทุนออกไปลงทุนนอกประเทศได้ 2 ช่องทาง คือ (1) อนุญาตให้นักลงทุนสถาบัน 7 ประเภท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสถาบันการเงินและกองทุนต่างๆ นำเงินไปลงทุนในต่างประเทศรวมกันแล้วได้ไม่เกิน 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ (2) อนุญาตให้บริษัทลูกของบริษัทต่างประเทศในประเทศไทยปล่อยสินเชื่อให้กับบริษัทแม่ในต่างประเทศได้ และบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ปล่อยเงินกู้ให้กับบริษัทลูกในต่างประเทศได้ โดยทั้ง 2 กรณีไม่เกิน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี
อย่างไรก็ตาม การลงทุนในทั้ง 2 ช่องทาง ก็ยังทำให้เงินทุนไหลออกน้อยกว่าการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมาก โดยใน 5 เดือนแรกปี 2552 การปล่อยกู้และการลงทุนในต่างประเทศมีมูลค่าเพียง 2,522 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนเพียงประมาณ 1 ใน 4 ของการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่มีมูลค่า 10,927.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเป็นเช่นนี้ ธปท.จึงต้องมีมาตรการเพิ่มเติมในวันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยอนุญาตให้นิติบุคคลที่มีสินทรัพย์ตามงบดุล 5,000 ล้านบาท สามารถไปลงทุนในต่างประเทศได้ไม่เกิน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ซึ่งในปัจจุบันมี 503 บริษัทที่เข้าข่ายนี้ นอกจากนี้ยังมีมาตรการเพิ่มเติมต่างๆ เช่น การปรับปรุงคำจำกัดความของหลักทรัพย์ต่างประเทศให้ครอบคลุมประเภทหลักทรัพย์ได้มากขึ้น และอนุญาตให้นักลงทุนสถาบันที่ได้รับอนุญาตทำสัญญาอนุพันธ์กับคู่สัญญาในต่างประเทศโดยอ้างอิงกับตัวแปรต่างประเทศได้ เป็นต้น
เนื่องจากมาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการใหม่ที่ยังไม่เคยใช้มาก่อน ทำให้ ธปท. ต้องรอดูผลอีกระยะหนึ่ง ถ้าเงินบาทยังคงแข็งค่าขึ้นต่อไปอีก เราอาจจะเห็นมาตรการใหม่ๆ ออกมาอีก ซึ่งอาจจะรวมถึงการนำเงินสำรองระหว่างประเทศมาใช้ในการซื้อสินค้าและวัตถุดิบที่นำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อนำไปลงทุนก่อสร้างในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆก็เป็นได้
bunluasak.p@cimbthai.com
บทความนี้ผมจะกล่าวถึงสาเหตุของการแข็งค่าของเงินบาท มาตรการสำคัญที่มีอยู่ และมาตรการใหม่จะเสริมมาตรการเดิมได้อย่างไร เนื่องจากผมได้เคยเขียนถึงการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทมาแล้วหลายครั้ง ดังนั้นจึงขอกล่าวถึงเรื่องนี้สั้นๆ โดยสรุป ค่าเงินบาทแข็งขึ้นมาจากสาเหตุสำคัญ 2 ประการคือ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย และการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ
การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเกิดจากการที่อุปสงค์ในประเทศซบเซา ส่งผลให้การนำเข้าหดตัวลงมากกว่าการลดลงของการส่งออกที่เกิดจากถดถอยของเศรษฐกิจโลก ในครึ่งแรกของปี 2552 ประเทศไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดถึง 11,404.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ส่งผลให้เงินสำรองระหว่างประเทศของไทยเพิ่มขึ้นอย่างมาก
ในส่วนการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐฯนั้น จากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากและรัฐบาลสหรัฐฯมีการขาดดุลงบประมาณสูงถึง 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปีงบประมาณ 2552 หรือประมาณร้อยละ 13 ของมูลค่าเศรษฐกิจ (GDP) และคาดว่าจะยังคงขาดดุลสูงอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันประเทศอื่นๆ ก็มีการขาดดุลงบประมาณในระดับสูงเช่นเดียวกันอันเป็นผลมาจากการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินและเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ปัจจัยดังกล่าวทำให้ประเทศต่างๆมีการแย่งชิงเงินทุนเพื่อชดเชยการขาดดุล ประกอบกับสหรัฐฯมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจำนวนมากอยู่แล้ว จึงต้องพึ่งเงินทุนจากต่างประเทศเพื่อชดเชยทั้งการขาดดุลงบประมาณและดุลบัญชีเดินสะพัด ดังนั้น จึงมีความเสี่ยงสูงที่สหรัฐฯจะไม่สามารถหาเงินทุนมาชดเชยการขาดดุลได้เพียงพอ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯจึงถูกกดดันให้ลดลง
การที่เงินบาทถูกกดดันให้สูงค่าขึ้น ธปท.จึงมีมาตรการ เพื่อระบายเงินสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดออกนอกประเทศ แต่เดิม ธปท.อนุญาตให้นำเงินทุนออกไปลงทุนนอกประเทศได้ 2 ช่องทาง คือ (1) อนุญาตให้นักลงทุนสถาบัน 7 ประเภท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสถาบันการเงินและกองทุนต่างๆ นำเงินไปลงทุนในต่างประเทศรวมกันแล้วได้ไม่เกิน 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ (2) อนุญาตให้บริษัทลูกของบริษัทต่างประเทศในประเทศไทยปล่อยสินเชื่อให้กับบริษัทแม่ในต่างประเทศได้ และบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ปล่อยเงินกู้ให้กับบริษัทลูกในต่างประเทศได้ โดยทั้ง 2 กรณีไม่เกิน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี
อย่างไรก็ตาม การลงทุนในทั้ง 2 ช่องทาง ก็ยังทำให้เงินทุนไหลออกน้อยกว่าการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมาก โดยใน 5 เดือนแรกปี 2552 การปล่อยกู้และการลงทุนในต่างประเทศมีมูลค่าเพียง 2,522 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนเพียงประมาณ 1 ใน 4 ของการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่มีมูลค่า 10,927.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเป็นเช่นนี้ ธปท.จึงต้องมีมาตรการเพิ่มเติมในวันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยอนุญาตให้นิติบุคคลที่มีสินทรัพย์ตามงบดุล 5,000 ล้านบาท สามารถไปลงทุนในต่างประเทศได้ไม่เกิน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ซึ่งในปัจจุบันมี 503 บริษัทที่เข้าข่ายนี้ นอกจากนี้ยังมีมาตรการเพิ่มเติมต่างๆ เช่น การปรับปรุงคำจำกัดความของหลักทรัพย์ต่างประเทศให้ครอบคลุมประเภทหลักทรัพย์ได้มากขึ้น และอนุญาตให้นักลงทุนสถาบันที่ได้รับอนุญาตทำสัญญาอนุพันธ์กับคู่สัญญาในต่างประเทศโดยอ้างอิงกับตัวแปรต่างประเทศได้ เป็นต้น
เนื่องจากมาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการใหม่ที่ยังไม่เคยใช้มาก่อน ทำให้ ธปท. ต้องรอดูผลอีกระยะหนึ่ง ถ้าเงินบาทยังคงแข็งค่าขึ้นต่อไปอีก เราอาจจะเห็นมาตรการใหม่ๆ ออกมาอีก ซึ่งอาจจะรวมถึงการนำเงินสำรองระหว่างประเทศมาใช้ในการซื้อสินค้าและวัตถุดิบที่นำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อนำไปลงทุนก่อสร้างในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆก็เป็นได้
bunluasak.p@cimbthai.com