xs
xsm
sm
md
lg

"มาร์ค"ลั่นฎีกาต้องรอ 60 วัน ฮิวแมนไรท์ฯ ฉะ นช.แม้วหนีคดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-"มาร์ค"ดักคอเสื้อแดงบิดเบือน หาเหตุชุมนุมใหญ่ ยันต้องใช้เวลามากกว่า 60 วันในการพิจารณาฎีกา ด้าน"พีระพันธ์"ขอตรวจสอบรายละเอียดเนื้อหาฎีกา ก่อนทำความเห็น ด้านสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ ยื่นคำขาด"แม้ว" ห้ามใช้ดูไบเป็นฐานโฟนอินป่วน “ฮิวแมนไรต์วอตช์” จับตาฎีกา “เพื่อแม้ว” เผย ทั่วโลกรู้ทันแม้วแค่นักโทษหนีคดีไม่ใช่วีรบุรุษ แฉประเทศตะวันตกไม่ต้อนรับ จึงต้องซุกอยู่แถบทะเลทราย

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้กับพล.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ของกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งสำนักราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง จะส่งเรื่องมาให้รัฐบาลดำเนินต่อว่า แนวปฏิบัติเหมือนการฎีกาทั่วไป คือทางสำนักราชเลขาฯ จะส่งมายังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ซึ่งตนจะให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ไปพิจารณาตรวจสอบ เมื่อตรวจสอบแล้วจะส่งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อจัดทำความเห็นในการที่จะให้รัฐบาลได้นำเสนอความเห็นกลับไปยังสำนักราชเลขาธิการฯ
นายอภิสิทธิ์ ยืนยันว่าหน้าที่ของรัฐบาลคือ ให้ความเห็นกลับไป เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ประชาชนฎีกาไปยังสำนักราชเลขาธิการ เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่การฎีกาไม่ว่าจะเรื่องใดก็ตาม ย่อมเกี่ยวข้องกับหน่วยงานที่รัฐบาลดูแลอยู่ ทางสำนักราชเลขาธิการ ก็จะขอความเห็นจากรัฐบาล ดังนั้นหน้าที่ของรัฐบาลคือ ให้ความเห็นเพื่อดำเนินการตามกระบวนการต่อไป

ส่วนการที่จะดูว่าฎีกาเป็นประเภทไหน เข้าข่ายอย่างไร และความเห็นควรเป็นอย่างไร ต้องพิจารณาจากตัวเนื้อหาฎีกา และผู้ที่ยื่นด้วย ซึ่งเรื่องรายชื่อถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่หน่วยงานจะต้องสรุปความเห็นขึ้นไป เท่ากับว่าเรื่องนี้ยุติที่รัฐบาลไม่ได้ รัฐบาลต้องนำเรื่องกลับไปยังสำนักราชเลขาธิการอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นขั้นตอนเหมือนฎีกาทั่วไป จะไม่ตกไปในขั้นตอนของรัฐบาลแน่

ส่วนที่กลุ่มเสื้อแดงพยายามกล่าวหาว่ารัฐบาลพยายามขัดขวาง หรือจะล้มฎีกา เพื่อนำไปเป็นข้ออ้างในการการเคลื่อนไหวล้มรัฐบาลนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่มีกรณีเช่นนั้น กรุณาอย่าบิดเบือนข้อเท็จจริง ตนได้สอบถามดูว่าฎีกาปกติ ที่เข้ามาแล้วส่งให้หน่วยงานต่างๆ จะต้องใช้เวลานานเท่าไร ก็ได้รับการชี้แจงจากหน่วยงานว่า ตามปกติฎีกาที่ไม่มีความซับซ้อน เช่น กรณีมีครอบครัว หรือเจ้าตัว ขอพระราชทานอภัยโทษ ง่ายๆ อย่างนี้ ก็ใช้เวลาประมาณ 60 วัน แต่กรณีนี้ได้สอบถามเบื้องต้นก็บอกว่ามีรายชื่อจำนวนมาก ก็ต้องนานกว่า 60 วัน

"ต้องพูดไว้ก่อน เพราะว่าจะมีคนไปบิดเบือนว่ารัฐบาลเก็บเรื่องไว้นาน รัฐบาลดำเนินการตามปกติ มีมาตรฐานเดียว ฉะนั้นเมื่อมีฎีกาเข้ามา ปฏิบัติอย่างไร ก็ปฏิบัติอย่างนั้น ตามอำนาจหน้าที่”

เมื่อถามว่าวันที่ 26 ส.ค.นี้ กลุ่มคนเสื้อแดงจะมีการชุมนุมใหญ่อีกครั้งหนึ่ง เพื่อทวงถามเรื่องนี้ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ถึงได้เรียนว่า กระบวนการและระยะเวลาขั้นตอนต่างๆ มันมีของมันอยู่ เหมือนกับกรณีอื่นๆ ซึ่งก็ได้มีการสอบถามเหมือนกันว่า ต้องใช้ระยะเวลาเท่าไร ก็บอกว่า 60 วัน ฉะนั้นวันที่ 26 ส.ค.นี้ ยังไงก็ไม่ทันอยู่แล้ว

**"พีระพันธ์"ขอเวลาตรวจสอบก่อน

นายนัทธี จิตสว่าง อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า การยื่นฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเป็นนักโทษหนีคดีจัดซื้อที่ดินรัชดาฯ โดยศาลพิพากษาจำคุก 2 ปี แต่พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่เคยมีประวัติการรับโทษ ดังนั้นแม้กระทรวงยุติธรรมส่งเรื่องมาให้ทางกรมราชทัณฑ์พิจารณา ก็คงไม่สามารถให้ข้อมูลใดๆเพิ่มเติมได้ ซึ่งในส่วนนี้กระทรวงยุติธรรม คงต้องไปตรวจสอบข้อมูลในทางคดีกับศาลได้เพียงอย่างเดียว

ขณะที่ นายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาดูแลหรือไม่นั้น ต้องขอดูอีกครั้ง ซึ่งที่ผ่านมาในเรื่องทั่วไป โดยปกติแล้วจะมีการพิจารณาตามขึ้นตอน และคงจะไม่มีปัญหาอะไร แต่ในกรณีนี้จะต้องตรวจสอบให้เกิดความชัดเจน ว่าเป็นเรื่องในลักษณะใด และจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ส่วนจะให้ฝ่ายใดในกระทรวงยุติธรรมดูแล คงตอบอะไรตอนนี้ไม่ได้ เพราะเรื่องเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

**จวกแกนนำเสื้อแดงน่าจะรู้ดี

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการชี้แจงและทำความเข้าใจกับประชาชน หลังจากที่กลุ่มเสื้อแดงถวายฎีกาว่า แนวทางในการปฎิบัติในเรื่องนี้ เป็นไปตาม พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม และกฎหมายฉบับดังกล่าว จะระบุวิธีการ ซึ่งถ้าเป็นฎีกาขออภัยโทษ ขั้นตอนคือ ต้องส่งเรื่องไปยังกระทรวงยุติธรรม จากนั้นกระทรวงยุติธรรม จะเป็นผู้ที่จะดำเนินการตรวจสอบกฎหมายเบื้องต้น และจะถวายคำวินิจฉัยในเชิงของกฎหมาย ความจริงกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเป็นกฎหมายที่แก้ในสมัย อดีตนายกฯทักษิณ ปี 2548 และคนที่แก้คือ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา เป็นรมว.ยุติธรรมในขณะนั้น ตนจึงคิดว่าในบรรดาแกนนำคนเสื้อแดง น่าจะทราบดีว่า ต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างไร

"กฎหมายประมวลวิธีพิจารณา ที่แก้สมัยนายกฯทักษิณ เขียนชัดเลยว่า ผู้ที่จะขออภัยโทษ จะต้องเป็นผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวเนื่อง ซึ่งมีการพิจารณาชัดเจนว่า ต้องเป็นเจ้าตัว หรือคนที่เกี่ยวพัน ไม่ว่า จะเป็นบุตร หรือภรรยา ที่ได้รับความเดือดร้อน และต้องไปตรวจสอบดูว่ารายชื่อมีท่านใดเข้าข่ายหรือไม่ และ ต้องตรวจสอบต่อไปว่า คำพิพากษาจำคุก ท่านจำคุกหรือไม่ และสำนึกผิดหรือไม่ นี่เป็นขั้นตอนตามกฎหมาย" นายสาทิตย์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า กลุ่มเสื้อแดงใช้วิธีการร้องทุกข์ว่า เดือดร้อนในเรื่องต่างๆ นายสาทิตย์ กล่าวว่า กรณีร้องทุกข์ จะเป็นอีกกรณีหนึ่ง ที่ต้องไปดูว่าร้องทุกข์ในกรณีใด แล้วโดยหลักสำนักราชเลขาธิการ จะส่งเรื่องไปให้หน่วยงานนั้นๆ รับไปพิจารณา แต่ประเด็นในหนังสือ ถ้าข้อความตรงกันกับที่กลุ่มเสื้อแดงเปิดเผยก่อนหน้านั้น ก็ถือว่าเป็นหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษ

เมื่อถามว่า ถ้าไม่มีชื่อญาติ ก็ถือว่าไม่เข้าองค์ประกอบกฎหมายใช่หรือไม่ นายสาทิตย์ กล่าวว่า ถ้าไม่มี ก็ไม่เข้าตามองค์ประกอบของกฎหมาย ถ้าไม่เข้า ก็เป็นเรื่องที่กระทรวงยุติธรรม จะถวายคำวินิจฉัยแบบนั้นได้

เมื่อถามว่าจะดำเนินการอย่างไร ถ้าในวันที่ 26 ส.ค. ที่กลุ่มเสื้อแดงจะนัดชุมนุมใหญ่ แล้วมีการนำประเด็นนี้ไปขับไล่รัฐบาล นายสาทิตย์ กล่าวว่า ก็จะขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง ความจริงแล้วกลุ่มเสื้อแดงก็ประกาศว่า ยื่นฎีกาแล้วจะหยุดการเคลื่อนไหว ก็ขอให้เป็นไปตามนั้นจริง แต่ก่อนถึงวันที่ 26 ส.ค. คิดว่ารัฐบาลต้องทำการชี้แจง หลายหลายรูปแบบ แล้วก็ผ่านสื่อทุกชนิด

**ยันตรวจสอบตรงไปตรงมา

ด้านนพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงหลังการประชุม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ว่า ที่ประชุมได้มีการหยิบยกเรื่องการถวายฎีกาของกลุ่มกลุ่มคนเสื้อแดงมาหารือ โดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมพรรคว่า หลังจากที่ได้มีการรับเรื่องจากสำนักราชเลขาธิการแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะดำเนินการไปตามกฎหมายทุกประการ และย้ำว่าการพิจารณาต้องทำอย่างตรงไปตรงมา โดยรายละเอียดการพิจารณาจะดูสาระของการถวายฎีกาว่า มีการเกี่ยวข้องทางการเมือง และสถาบันตุลาการจะเป็นในส่วนของกระทรวงยุติธรรม

หากกลุ่มคนเสื้อแดงเห็นแก่บ้านเมือง และมีความตั้งใจจริง ในการถวายฎีกา และจงรักภักดี ก็ควรที่จะหยุดดำเนินการใดๆ ที่สร้างความแตกแยกแความขัดแย้ง โดยเฉพาะการที่แกนนำออกมาระบุว่า ภายใน 3 เดือน จะมีการเปลี่ยนแปลงเหมือนปี 2475 นั้น อาจจะทำให้เกิดการตีความได้ว่า เหมือนเป็นการยื่นคำขาด กดดันกระบวนการตรวจสอบฎีกาของกลุ่มคนเสื้อแดง

**ขู่รัฐบาลดึงเกมเจอชุมนุมไล่

นายจตุพร พรหมพันธ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย ในฐานะแกนนำกลุ่มนปช. กล่าวว่า จะดูท่าทีของรัฐบาล ก่อนจะกำหนดวันชุมนุมใหญ่ โดยการชุมนุมหลังจากนี้จะยกระดับจากการเรียกร้องให้มีการยุบสภา เป็นการขับไล่รัฐบาล ส่วนที่นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ระบุว่า กลุ่มคนเสื้อแดงจะชุมนุมในวันที่ 26 ส.ค. นั้น อยากถามว่า รู้ได้อย่างไร คนเสื้อแดงยังไม่มีใครบอกเลย แต่ยอมรับว่าข้อเสนอของนายสาทิตย์ น่าสนใจ เพราะวันที่ 26 ส.ค. เป็นวันเกิดของ พล.อ.เปรม

ขณะนี้ฝ่ายกฎหมายของกลุ่มคนเสื้อแดง กำลังร่างคำฟ้องที่ปลัดกระทรวง 29 คน ออกแถลงการณ์คัดค้านการถวายถวายฎีกา

** "ไข่แม้ว"อ้างเป็นญาติห่างๆ

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลระบุว่า การถวายฎีกา ต้องมีญาติของพ.ต.ท.ทักษิณ ร่วมลงชื่อด้วยนั้น ขอบอกว่า ตนเป็นญาติห่างๆคนหนึ่งของพ.ต.ท.ทักษิณ เนื่องจากอาของตนคือ น้าสุมาลี โตวิจักษณ์ชัยกุล ได้แต่งงานกับนายเสถียร ชินวัตร อา ของพ.ต.ท.ทักษิณ ดังนั้นจึงถือว่าตนและพ.ต.ท.ทักษิณนั้นเป็นญาติกัน แม้จะเป็นญาติห่างๆ แต่กฎหมายก็ไม่ได้เขียนไว้ว่า ผู้ที่จะขอพระราชทานอภัยโทษได้นั้นต้องเป็นญาติใกล้ชิดขนาดไหน อย่างไรก็ตาม นอกจากตนที่เป็นญาติและได้ร่วมลงชื่อด้วยนั้น ยังมีญาติของ พ.ต.ท.ทักษิณ อีกคนหนึ่งที่ได้ร่วมลงชื่อด้วยคือ นายประกิตต์ ชินวัตร ซึ่งเป็นลูกของ นายสุเจต ชินวัตร ซึ่งเป็นน้องชายของนายเลิศ ชินวัตร บิดาของพ.ต.ท.ทักษิณ ดังนั้นการทูลเกล้าถวายฎีกาครั้งนี้ จึงถูกต้องตามกฎหมาย และชอบธรรม

**จวก"แม้ว"จงรักภักดีแต่ปาก

นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง การโฟนอินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ประกาศเน้นความจงรักภักดีเป็นเรื่องหลักว่า การที่ พ.ต.ท.ทักษิณประกาศว่าจะมีความจงรักภักดีต่อสถาบันเบื้องสูง จะต้องพิสูจน์ด้วยการกระทำ แต่ที่ผ่านมาพฤติกรรมของ พ.ต.ท.ทักษิณ เห็นได้ชัดว่ามีการจาบจ้วง ต่อสถาบันหลักของชาติอยู่ตอลดเวลา

**UAE ห้ามแม้วใช้ดูไบเป็นฐานโฟนอิน

นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ผู้ช่วย รมว.ต่างประเทศ เปิดเผยว่า ทางการสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ได้แสดงความกังวล กรณีพ.ต.ท.ทักษิณ โฟนอิน มายังเวทีคนเสื้อแดง ที่สนามหลวง เมื่อวันที่ 17 ส.ค. ในช่วงก่อนที่จะมีการถวายฎีกา เพราะจากรายงานข่าว ระบุว่าพ.ต.ท.ทักษิณ โฟนอินมาจากดูไบ ซึ่งเท่ากับเป็นการใช้ UAE เป็นฐานในการขับเคลื่อนทางการเมือง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ รัฐบาลUAE ได้เชิญ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าไปพูดคุย และไม่ให้ขับเคลื่อนทางการเมือง โดยรัฐบาล UAE ได้ส่งหลักฐานเอกสารมาให้กับทางการไทยแล้ว

"แต่การเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นครั้งนี้ เท่ากับว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้ดำเนินการ ตามที่รับปากกับรัฐบาล UAE ดังนั้น สิ่งที่สำคัญวันนี้คือรัฐบาล UAE จะต้องดำเนินการต่อกรณีที่เกิดขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสัมพันธภาพระหว่างไทย กับ UAE ซึ่งเราได้ใช้ช่องทางทางการทูต ติดต่อไปยังรัฐบาล UAE ตั้งแต่เมื่อวันที่ 17 ส.ค. แล้ว และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีว่าจะไม่ให้มีเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นอีก เราก็ต้องรอดูท่าทีของ UAE ต่อไป" นายพนิช กล่าว

อย่างไรก็ตามนายพนิช ยอมรับว่า การจะนำตัวพ.ต.ท.ทักษิณ กลับมา ดำเนินคดี เป็นเรื่องยาก เพราะบางประเทศไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับไทย และพ.ต.ท.ทักษิณ ก็จะใช้ประเทศเหล่านั้น เป็นฐานในการขับเคลื่อนทางการเมือง แต่เวลา พ.ต.ท.ทักษิณ โฟนอินมาที่ประเทศไทย และระบุว่าอยู่ที่ไหน กระทรวงการต่างประเทศ ก็จะแจ้งสถานทูตไทยในประเทศนั้นๆ ให้แจ้งไปยังกระทรวงการต่างประเทศของประเทศนั้น ซึ่งตอนนี้ได้ดำเนินการเป็นระยะ ๆ

ด้านนายศิริศักดิ์ ติยะพรรณ อธิบดีอัยการฝ่ายต่างประเทศ กล่าวถึงความคืบหน้าการติดตามตัว พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมารับโทษว่า แม้จะทราบว่า พ.ต.ท.ทักษิณ โฟนอินมาจากเมืองดูไบ แต่ทางตำรวจ และกระทรวงการต่างประเทศ ก็ยังไม่ได้มีการแจ้งที่อยู่ที่ชัดเจนมายังอัยการ ซึ่งคาดว่าขั้นตอนต่างๆ ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ

**ชี้แม้วละเมิดสิทธิมนุษยชน
       
       วันนี้ (18 ส.ค.) นายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาฮิวแมนไรต์วอตช์ประจำประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนระดับสากล กล่าวถึงมุมมองของฮิวแมนไรต์วอตช์ในการจับตาดูความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงที่ชุมนุมเพื่อยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ว่า ถ้ามองจากจุดยืนด้านสิทธิมนุษยชน ก็ควรจะปล่อยให้เป็นเรื่องของการตรวจสอบตามกระบวนการตามกฎระเบียบที่มีอยู่ ทางฝ่ายผู้ที่จะยื่นก็ให้เขายื่น และให้กระบวนการตรวจสอบทางซีกรัฐบาลตรวจสอบว่าเขายื่นถูกต้องตามหลักเกณฑ์หรือไม่ ถ้าไม่ถูกต้องก็ต้องชี้แจงว่าไม่ถูกต้องอย่างไร และฝ่ายผู้ยื่นก็คงต้องยอมรับกติกา ซึ่งรัฐบาลก็มีเวลาอยู่อย่างน้อยก็ 2 เดือนในการพิจารณาเรื่องนี้    
   
       นายสุณัย กล่าวอีกว่า ตนขอเสนอให้มีคนกลางของสังคมในการที่จะออกมาเป็นกรรมการให้สังคมในการให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาในเรื่องของขั้นตอนการถวายฎีกา ราชบัณฑิตเป็นหน่วยงานที่มีความเป็นกลางและมีคนที่มีความรู้ความสามารถจำนวนมาก ดังนั้น ตนจึงขอเสนอให้ราชบัณฑิตช่วยเป็นอนุกรรมการเล็กๆในสังคมเพื่อให้ความรู้กับสังคมด้วย       

       เมื่อถามถึงความชอบธรรมในการยื่นฎีกาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯในสายตานักสิทธิมนุษยชนนานาชาติมองอย่างไร ที่ปรึกษาฮิวแมนไรต์วอตช์ กล่าวว่า สถานะของ พ.ต.ท.ทักษิณ ตอนนี้เป็นนักโทษหนีคดี และในสายตานานาชาติเขาไม่ได้เป็นวีรบุรุษ แต่เป็นคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ซึ่งตอนนี้ประเทศตะวันตกแทบจะทุกประเทศมอง พ.ต.ท.ทักษิณ ว่า เป็นคนที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง จากกรณีการฆ่าตัดตอนยาเสพติด จากกรณีการละเมิดสิทธิ์ในภาคใต้ จากการคุกคามสื่อ ซึ่งคุณทักษิณมีบัญชีติดตัวอยู่ในเรื่องนั้น

       “ฉะนั้น ตั้งข้อสังเกตได้เลยว่า คุณทักษิณ ทำไมถึงเคลื่อนไหวในประเทศตะวันตกไม่ได้แล้ว ถึงต้องไปในประเทศที่เขาไม่แคร์เรื่องสิทธิมนุษยชน อย่างดูไบ”

ตอนนี้ประเทศตะวันตกเขารู้ทันแล้ว ว่า เป็นคนที่ได้อำนาจมาจากเลือกตั้งก็จริง แต่หลังจากนั้นก็ละเมิดสิทธิมนุษยชนตลอดจนถึงวันสุดท้ายที่ตกจากอำนาจ ก็ยังไม่รับผิดว่าตัวเองมีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆ่าตัดตอนประชาชนในประเทศ ทั้งที่นานาชาติมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ จนทำให้ประเทศไทยถูกเพ่งเล็ง ถูกเข้มงวดในการแลกเปลี่ยนการฝึกอบรมทหาร-ตำรวจ และเรื่องของการซื้อขายอาวุธ ซึ่งถูกจำกัดเพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ       
กำลังโหลดความคิดเห็น