xs
xsm
sm
md
lg

ราคาน้ำมัน : รัฐบาลจะสร้างความเป็นธรรมได้อย่างไร?

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม (คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์)

1. คำนำ

ขณะนี้หลายท่านคงจะรู้สึกกังวลร่วมกันว่า ราคาน้ำมันกำลังมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นจนอาจถึงหรือสูงกว่าเมื่อกลางปี 2551 (ดูกราฟประกอบ-ต่ำสุดเดือนธันวาคม 2551 ที่ 40 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จนมาถึงเกือบ 80 ในเดือนสิงหาคมปีนี้) ซึ่งจะนำความเดือดร้อนมาสู่เรามากน้อยแค่ไหนก็คงพอจะนึกกันออก

เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ที่ผ่านมา วุฒิสภา โดยคณะกรรมาธิการตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล ซึ่งมี คุณรสนา โตสิตระกูล เป็นประธาน ได้จัดให้มีการเสวนาและเสนอผลการศึกษาในประเด็นปัญหาพลังงาน โดยได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมาธิการขึ้นมาศึกษา การศึกษาใช้เวลาประมาณ 1 ปี มีประเด็นที่น่าสนใจ 3 อย่างที่เกี่ยวกับกิจการพลังงานในบ้านเรา แต่เพื่อไม่ให้ประเด็นมันกว้างเกินไป คณะกรรมาธิการฯ ได้ยกประเด็น ราคาน้ำมัน ขึ้นมานำเสนอต่อสาธารณชนก่อน

ผมเองได้รับเชิญไปร่วมให้ความเห็นและเสนอแนะ ผมจึงขอนำเรื่องนี้บางส่วนมาเล่าต่อในที่นี้ครับ ผมถือโอกาสหยิบเอาหัวข้อการเสวนามาเป็นชื่อบทความนี้เสียเลย อย่างไรก็ตามผมคงเล่าได้ในบางประเด็นเท่านั้น ไม่ใช่ทั้งหมดของการเสวนา

2. ความเป็นธรรมของใคร ?

ในฐานะอาจารย์คณิตศาสตร์ ผมจึงเริ่มตั้งคำถามให้ผู้ฟังช่วยกันคิดว่าเมื่อมองความเป็นธรรมนั้นเราคิดถึง “ความเป็นธรรมของใคร” คงไม่ใช่หมายถึงระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบการเพียงคู่เดียวเท่านั้น

ในรายงานผลการศึกษาของคณะฯ ระบุว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้ส่งออกทั้งน้ำมันสำเร็จรูปและน้ำมันดิบรวมกันปีละเกือบ 3 แสนล้านบาท มากกว่ามูลค่าข้าวส่งออกที่เป็นสินค้าหลักด้านการเกษตรของประเทศเสียอีก ในปี 2551 ร้อยละ 22 ของน้ำมันสำเร็จรูปจากโรงกลั่นในบ้านเราถูกส่งออกไปขายต่างประเทศ ขณะเดียวกันร้อยละ 20 ของน้ำมันดิบที่ขุดได้ในบ้านเราก็ถูกส่งออกเช่นกัน

เมื่อเป็นดั่งนี้ ผมเริ่มเท้าความว่า ตอนผมเป็นเด็กได้อ่านหนังสือเรียนพบว่า “ประเทศไทยส่งออกไม้สัก ไม้เต็ง ฯลฯ เป็นอันดับหนึ่ง แต่แทบไม่มีป่าไม้ในประเทศให้คนรุ่นผมได้เห็นแล้ว”

ผมย้อนไปว่า “เมื่อ 30 ปีที่แล้วประเทศไทยส่งออกแร่ดีบุกได้มากเป็นอันดับสองของโลก เราขายแร่แทนตาลัมที่มีราคาแพงมากและเป็นยุทธปัจจัยไปในราคาถูกราวกับเศษดิน ทุกวันนี้เราไม่มีดีบุกเหลือให้ลูกหลานแล้ว”

มาวันนี้ เราพบแหล่งปิโตรเลียมซึ่งได้แก่น้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติทั้งบนบกและในทะเลคิดเป็นมูลค่าประมาณ 100 ล้านล้านบาท

หรือคิดเป็นมูลค่าเท่ากับงบประมาณแผ่นดินของประเทศไทยได้ถึง 50 ปี นี่เป็นมรดกที่สะสมกันมานับล้านปี ใจคอเราคิดจะขุดให้หมดภายใน 10 - 20 ปีข้างหน้านี้หรือ เราไม่คิดจะเก็บไว้ให้ลูกหลานของเราได้ใช้บ้างเลยเชียวหรือ

หรือถ้าอยากจะขุดให้หมดจริงๆ เราก็น่าจะเก็บภาษีน้ำมันเพื่อมาสร้างระบบขนส่งมวลชน เช่น รถไฟฟ้าไว้ให้คนรุ่นหลังได้ใช้บ้างจะดีไหม

ผมสรุปว่า “ถ้าขืนยังขุดและใช้น้ำมันกันอย่างฟุ่มเฟือยเช่นนี้ จะไม่เป็นธรรมกับคนรุ่นหลังอย่างแน่นอน”

นั่นเป็นมิติของความเป็นธรรมจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่งในประเทศเดียวกัน ผมเรียกความเป็นธรรมนี้โดยรวมว่า ความมั่นคงด้านพลังงาน (energy security) ซึ่งต้องมองกันยาวๆ ไม่ใช่แค่ความมั่นคงเป็นรายเดือน รายปี หรือสิบปีเท่านั้น

นอกจากนี้ ผมได้กล่าวถึงความเป็นธรรมอีก 2 ประการ คือ ความเป็นธรรมต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้ข้อสรุปตรงกันว่า สาเหตุที่ทำให้เกิด “สภาวะโลกร้อน” นั้น ประมาณ 70 - 80% มาจาการใช้พลังงานฟอสซิล (หรือซากพืชซากสัตว์) ของมนุษย์นั่นเอง สภาวะโลกร้อนได้นำภัยพิบัติมาสู่คนรุ่นเรามากขนาดไหนเราพอจะประเมินกันได้ แต่ในอนาคตภัยพิบัติเหล่านี้จะรุนแรงอย่างที่คนธรรมดาๆ คาดไม่ถึง

ดังนั้น การจะสร้างความเป็นธรรมต่อสภาพแวดล้อมก็คือ การลดใช้พลังงานฟอสซิล ซึ่งมีวิธีการลดได้ 3 ทางคือ หนึ่ง หันไปใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น ถ้าพูดถึงน้ำมันก็ต้องหันไปหาน้ำมันจากพืชให้มากขึ้น สอง เก็บภาษีน้ำมันให้มากขึ้นเพื่อให้คนใช้น้อยลง จะเรียกภาษีชนิดนี้ว่าภาษีสิ่งแวดล้อม น้ำมันพืชไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็ไม่ต้องเก็บภาษี น้ำมันจากฟอสซิลก็เก็บภาษีให้มากหน่อย เพื่อให้น้ำมันพืช เช่น ไบโอดีเซลสามารถแข่งขันได้ และ สาม ใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ความเป็นธรรมประการสุดท้าย คือความเป็นธรรมในการพัฒนาเศรษฐกิจ ผมพูดถึงอย่างกว้างๆ ว่า เราต้องสนใจการสร้างงานและกระจายรายได้ที่เป็นธรรมด้วย ขณะเดียวกันพ่อค้าน้ำมันก็ต้องมีกลไกมาควบคุมไม่ให้ค้ากำไรเกินควร

ผมได้ยกตัวเลขให้เห็นว่า เมื่อ 40 ปีที่แล้ว (พ.ศ. 2513) ประเทศไทยเรานำเข้าพลังงานเพียง 1% ของรายได้ประชาชาติเท่านั้น แต่พอถึงปี 2536 เราใช้พลังงานคิดเป็นมูลค่าถึง 1 ใน 10 ของรายได้ประชาชาติ ล่าสุดในปี 2551 พบว่า “รายได้ทุก ๆ 100 บาทที่คนไทยหามาได้ ต้องจ่ายเป็นค่าพลังงานถึงเกือบ 20 บาท หรือประมาณ 1 ใน 5 ของรายได้ต้องจ่ายไปเป็นค่าพลังงาน”

ถ้าเราไม่คิดจะแก้ไขอะไรกันเลย ในอีก 15 ปีข้างหน้า เราจะต้องจ่ายค่าพลังงานเป็นเท่าใด จะเป็น 2 ใน 5 ไหม?

ผมได้คุยกับนักธุรกิจระดับพันล้านบาทท่านหนึ่งโดยบังเอิญ ท่านว่า “ธุรกิจใดที่มีค่าขนส่งเกิน 20% ธุรกิจนั้นต้องเจ๊งแน่ๆ ”

ผมฟังแล้วรู้สึกเสียวกับ “ธุรกิจบริษัทประเทศไทย”

ถ้าเรากล่าวเฉพาะน้ำมันและไฟฟ้ารวมทั้งการจ้างงาน การกระจายรายได้ พบว่ามีสัญญาณอันตรายเพิ่มขึ้นอย่างน่ากลัว ดังตารางข้างล่างนี้

ผมได้เรียนต่อวงเสวนาที่มีคนฟังประมาณ 100 คนว่า “ปัจจุบันคนในวัยทำงานมีประมาณ 34 ล้านคน แต่อยู่ในภาคไฟฟ้า น้ำมัน และปั๊มน้ำมัน ประมาณ 3.4 แสนคน หรือประมาณ 1% ของแรงงานทั้งหมด แต่คนเพียงร้อยละ 1 กลับมีส่วนเกี่ยวกับรายได้ถึงร้อยละ 15 ของรายได้ประชาชาติ”

ในเรื่องคนทำงาน 1% ที่มีรายได้ถึง 15 % ของรายได้ประชาชาตินี้ ผมได้รวมเด็กปั๊มประมาณ 2 แสนคนเข้าไปใน 1% นี้แล้ว เด็กปั๊มเหล่านี้มีรายได้แค่เพียงเดือนละ 4-5 พันบาทเท่านั้น

ดังนั้น ถ้าคิดให้ละเอียดจริงๆ ยิ่งน่ากลัวกว่าที่ได้กล่าวมาแล้ว

นอกจากความเป็นธรรมใน 3 ประการหลัก คือ (1) ความเป็นธรรมต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ (2) ความมั่นคงด้านพลังงานและ (3) ความเป็นธรรมต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ผมยังได้เสนอเรื่องความเป็นธรรมในการค้าขาย ทั้งการกลั่นและค่าการตลาดด้วย

3. ความเป็นธรรมเรื่องค่าการกลั่น

ผมได้เรียนต่อวงเสวนาว่า ผมเองเป็นนักคณิตศาสตร์ ผมไม่ทราบหรอกว่า ค่าการกลั่นของโรงกลั่น (ที่มีอยู่ 7 โรงในประเทศไทย แต่ 85% ของกำลังการผลิตเป็นโรงกลั่นในเครือของบริษัท ปตท. จำกัด) นั้นถูกหรือแพงเกินไปหรือไม่ แต่ผมใช้วิธีการเปรียบกับโรงกลั่นของประเทศอื่นๆ พบว่า ค่าการกลั่นของโรงกลั่นในประเทศไทยสูงกว่าของกลุ่มประเทศยุโรป และสิงคโปร์เยอะเลย

ในขณะที่ (ปี 2550) ของประเทศอื่นอยู่ที่ประมาณ 5.3 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล (ประมาณ 1.17 บาทต่อลิตร) แต่โรงกลั่นในประเทศไทยคิดกับคนไทยในราคาประมาณ 9.2 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล (ประมาณ 2.03 บาทต่อลิตร แพงไปถึง 86 สตางค์ต่อลิตร)

ในแต่ละปี คนไทยบริโภคน้ำมันประมาณ 4 หมื่นล้านลิตร ดังนั้นส่วนที่คนไทยต้องแบกภาระค่าการกลั่นเกินที่ควรจะเป็นไปถึง 3.4 หมื่นล้านบาท

ไม่น้อยเลยครับ ถ้าเรานำมูลค่าส่วนเกินนี้ไปสร้างรถไฟฟ้าระบบขนส่งมวลชนไว้ให้คนรุ่นหลังใช้ก็ได้ตั้งเยอะต่อปี

อนึ่ง กระทรวงพลังงานของไทยเราเคยนำเสนอข้อมูลค่าการกลั่นเฉลี่ยมาตลอด แต่นับจากปลายเดือนธันวาคม 2551 เป็นต้นมา กลับไม่มีข้อมูลนี้อีกเลย โดยไม่ทราบเหตุผลใดๆ

การที่ผู้ประกอบการค้าไม่นำเสนอข้อมูลที่จำเป็นที่สะดวกต่อการทำความเข้าใจและมีความถูกต้องกับผู้บริโภค คิดเป็นอื่นไม่ได้นอกจากไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคอย่างแน่นอน

คราวนี้ลองมาพิจารณาค่าการกลั่นของโรงกลั่นไทยกันบ้างครับ

เนื่องจากกระทรวงพลังงานไม่ยอมนำเสนอค่าการกลั่นเฉลี่ย ผมจึงนำราคาหน้าโรงกลั่นของน้ำมันสองชนิด คือ ดีเซลหมุนเร็ว (ที่คนใช้มากที่สุด) และน้ำมันแก๊สโซฮอล 95 มาเขียนกราฟพร้อมกับราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยของกลุ่มประเทศโอเปก ตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม ถึง 5 สิงหาคม 2552 (ข้อมูลที่หายไปคือข้อมูลที่ไม่มีการนำเสนอ)

ผมทราบดีครับว่า การพิจารณาค่าการกลั่นต้องพิจารณากันตลอดทั้งปี แต่ในที่นี้ผมต้องการชี้ให้เห็นถึงความผิดปกติเพียงบางช่วงเท่านั้น (คือในกรอบสี่เหลี่ยมสีเขียว)

จากกราฟ โดยส่วนมากเราจะเห็นว่าราคาน้ำมันดิบกับราคาน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่นจะไปทำนองเดียวกัน แต่ในกรอบดังกล่าวทั้งๆ ที่ราคาน้ำมันดิบลดลงติดต่อกัน 2 วัน แต่ราคาน้ำมันสำเร็จรูปกลับเพิ่มขึ้นติดต่อกันสองวัน

คำถามก็คือ ทำไม? และจะเกิดขึ้นอีกไหม? ไม่มีใครทราบ

เราอาจจะถามต่อไปได้อีกว่า รัฐบาลมีกลไกใดมาควบคุมราคาให้เกิดความเป็นธรรม

คำตอบคือ “ไม่มีในทางปฏิบัติ”

แต่ในทางทฤษฎี รัฐบาลได้ตั้ง “คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน” มาจำนวน 7 คน แต่ละคนกินเงินเดือนๆ ละ 2 ถึง 2.5 แสนบาท พร้อมค่าใช้จ่ายอีกไม่เกิน 25% ของเงินเดือน

ในจำนวนกรรมการ 7 ท่านนี้ บางท่านเคยเป็นบอร์ดของ ปตท. มาก่อน บางท่านเคยเป็นเลขานุการคณะทำงานแปรรูป ปตท. และบางท่านก็มีลูกเป็นฝ่ายวางแผนให้บริษัท ปตท.

ข้าราชการระดับสูงหลายคนที่กินเงินเดือนจากภาษีประชาชนได้เป็นบอร์ดของบริษัทค้าน้ำมัน แต่ผลประโยชน์ที่บริษัทค้าน้ำมันยื่นให้กลับสูงกว่าเงินเดือนหลายเท่าตัว

แล้วข้าราชการเหล่านี้จะรักษาผลประโยชน์ให้ใคร?

นี่คือความไม่เป็นธรรมที่คณะกรรมาธิการฯ วุฒิสภาตั้งคำถาม

ยังมีอีกหลายประเด็นที่ผมยังไม่ได้กล่าวถึง แต่บทความชักจะยาวเกินไปแล้ว เอาไว้คราวต่อไปนะครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น