การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ เพื่อรับโครงสร้างใหม่ตำรวจ ในยุค"พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ"นั่ง ผบ.ตร.รอยต่อก่อนเกษียณอายุราชการ 30 ก.ย.นี้ กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ อย่างหนัก ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ พร้อมๆกับข้อกล่าวหาที่ว่า การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจในวาระพิเศษครั้งนี้ มีการซื้อขายตำแหน่งเกิดขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ จนนำไปสู่การลดทอนอำนาจของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ด้วยการถูกคำสั่งให้ลากพักราชการไปจีน รวมทั้ง คำสั่งให้ไปปฎิบัติราชการในพื้นที่ภาคใต้ โดยให้ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ที่ปรึกษา (สบ 10)ทำหน้าที่รักษาราชการแทน ผบ.ตร.เพื่อป้องกันข้อกล่าวหา ผลประโยชน์การโยกย้ายตำรวจ
ขณะที่การประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร.เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ที่ผ่านมา เพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้าย และมีมติว่า การแต่งตั้ง รอง ผบก.- ลงมา ให้ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป เป็นไปตาม กฎ ก.ตร.ว่าด้วยการแต่งตั้ง หากบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งไม่ได้เป็นไปตามกฎ ก.ตร.ว่าด้วยการแต่งตั้ง ขาดคุณสมบัติหรือต้องได้รับการยกเว้นต้องเสนอที่ประชุม ก.ตร.พิจารณาเป็นรายๆ ไป
จากประเด็นการจัดทำบัญชีโยกย้ายนายตำรวจระดับรองผู้บังคับการจนถึงระดับประทวน ซึ่งทั่วประเทศกว่าแสนนาย เมื่อวันที่ 9 ส.ค.ที่ผ่านมา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พูดชัดเจนว่า มีคนเป็นจำนวนมากที่อาจจะมีคุณสมบัติไม่ครบ จึงต้องมีการประชุม ก.ตร.อีกครั้งหนึ่ง และ พล.ต.อ.วิเชียร เดินหน้าทำงานในส่วนนี้ไปในช่วงที่ทำหน้าที่รักษาการ ผบ.ตร.
ดังนั้น ก่อนที่จะมีการประชุม ก.ตร.อีกครั้งในวันที่ 13 สิงหาคม ที่จะถึงนี้ และเป็นวันแรกที่ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ลงไปปฎิบัติราชการในพื้นที่ภาคใต้(13-18 ส.ค.52)โดยมี พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี รักษาราชการแทน ผบ.ตร.เราลองไปทำความเข้าใจ และศึกษา กฎ ก.ตร.ว่าด้วยการแต่งตั้งโยกย้าย ว่าจะต้องทำในรูปแบบใด จึงจะเกิดความเป็นธรรม กับข้าราชการตำรวจได้ตาม ที่ นายกรัฐมนตรี คาดหวังไว้...
กฎ ก.ตร.ว่าด้วย หลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจระดับ สารวัตร ถึง จเรตำรวจแห่งชาติและรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2549
หลักเกณฑ์การเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น ระดับ ผู้ช่วย ผบ.ตร.เลื่อนเป็น จเรตำรวจแห่งชาติ หรือ รอง ผบ.ตร.ต้องเป็น ผู้ช่วย ผบ.ตร. มาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี
ผู้บัญชาการ(ผบช.)เลื่อนเป็น ผู้ช่วย ผบ.ตร. ต้องเป็น ผบช.มาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี
รอง ผบช. เลื่อนเป็น ผบช. ต้องเป็น รอง ผบช. มาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี และนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งตั้งแต่ รอง สว.มาไม่น้อยกว่า 28 ปี
ผู้บังคับการ(ผบก.)เลื่อนเป็น รอง ผบช.ต้องเป็น ผบก.มาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งตั้งแต่ รอง สว.มาไม่น้อยกว่า 26 ปี
รอง ผบก. เลื่อนเป็น ผบก. ต้องเป็น รอง ผบก.ไม่น้อยกว่า 4 ปี ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งตั้งแต่ระดับรอง สว.มาไม่น้อยกว่า 23 ปี
ผู้กำกับการ(ผกก.)เลื่อนเป็น รอง ผบก. ต้องเป็น ผกก.มาแล้วไม่น้อยกว่า 4 ปี ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งตั้งแต่ระดับรอง สว.มาไม่น้อยกว่า 19 ปี
รอง ผกก.เลื่อนเป็น ผกก.ต้องเป็น รอง ผกก.ไม่น้อยกว่า 3 ปี นับระยะเวลาดำรงตำแหน่งตั้งแต่ระดับรอง สว.มาไม่น้อยกว่า 15 ปี
สว.เลื่อนเป็น รอง ผกก. ต้องเป็น สว.มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับระยะเวลาดำรงตำแหน่งตั้งแต่ รอง สว.มาไม่น้อยกว่า 12 ปี
รอง สว.เลื่อนเป็น สว. ต้องเป็น รอง สว.ไม่น้อยกว่า 7 ปี
การแต่งตั้งเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น ตั้งแต่ระดับ รอง ผบก.ลงมา ต้องแต่งตั้งจากผู้ดำรงตำแหน่งในหน่วยมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี เว้นแต่แต่งตั้งนายเวร ผู้ช่วยนายเวร หรือนายตำรวจราชสำนักประจำ
การสับเปลี่ยนหมุนเวียนในตำแหน่งเท่าเดิม ให้กระทำเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการอย่างยิ่ง โดยให้แสดงเหตุผลความจำเป็น เป็นลายลักษณ์อักษรและผู้นั้นจะต้องดำรงตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งครั้งสุดท้ายไม่น้อยกว่า 2 ปี เว้นแต่มีเหตุจำเป็นเพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ หรือ ถูกลงโทษทางวินัย หรือถูกตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง โดยได้รับความเห็นชอบจาก ผบ.ตร.ก่อน หรือ เป็นการแต่งตั้งให้พ้นจากตำแหน่งเดิมที่ถูกยกเลิก หรือถูกตัดโอนไปให้ส่วนราชการอื่นๆเป็นการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายเวร ผู้ช่วยนายเวร นายตำรวจราชสำนักประจำ หรือเป็นการแต่งตั้งนายเวร ผู้ช่วยนายเวร อันเนื่องมาจากผู้บังคับบัญชาได้เปลี่ยนแปลงสถานภาพ หรือนายตำรวจราชสำนักประจำ ไปดำรงตำแหน่งอื่น
สำหรับการจัดทำบัญชีข้อมูลผู้เหมาะสมเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น ตั้งแต่ สว. ถึง ผบช. ให้หัวหน้าหน่วยงานตั้งแต่ระดับ สว. รอง ผกก. ผกก. รอง ผบก. ผบก. และ ผบช. พิจารณาในรูปคณะกรรมการ โดยพิจารณาข้าราชการตำรวจที่มีคุณสมบัติครบถ้วน และสรรหาให้เหลือเฉพาะผู้เหมาะสมมากที่สุดลงไปถึงน้อยที่สุด ทั้งนี้ ไม่เกินร้อยละ 50 ในแต่ละระดับตำแหน่ง และจะต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่าสองเท่าของจำนวนตำแหน่งว่างในแต่ละหน่วยงาน
สำหรับผู้ที่ไม่เหมาะสมให้ระบุเหตุผลโดยละเอียด ชัดเจน และเป็นรูปธรรม ตามแบบที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนด ก่อนส่งไปยังหัวหน้าหน่วยหรือหน่วยงานเหนือขึ้นไปอีกระดับตามสายการบังคับบัญชา
ในส่วนของสำนักงาน ผบ.ตร.ให้สรรหาตำรวจที่มีคุณสมบัติครบถ้วนจะเลื่อนตำแหน่งระดับ สว.-ผบช.ในรูปคณะกรรมการ ประกอบด้วย ผบ.ตร. จเรตำรวจแห่งชาติ และ รอง ผบ.ตร.ทุกคนเป็นกรรมการ
ทั้งนี้ การสรรหาผู้เหมาะสมที่จะได้รับการพิจารณาเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น ให้พิจารณาจากความรู้ ความสามารถ ผลการปฏิบัติงาน ความประพฤติ ประวัติรับราชการ และอาวุโสประกอบกัน
อย่างไรก็ตาม วิธีการคัดเลือกหรือแต่งตั้งของผู้มีอำนาจในแต่ละระดับตำแหน่ง ให้กระทำดังนี้
ข้าราชการตำรวจที่จะแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ ผู้ช่วย ผบ.ตร.ขึ้นไป ให้พิจารณาเรียงตามลำดับอาวุโส
ส่วนข้าราชการตำรวจที่จะแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ระดับ สว.ขึ้นไปถึง ผบช. ให้พิจารณาเรียงตามลำดับอาวุโสจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของจำนวนตำแหน่งว่างในแต่ละระดับ
โดยตำแหน่งว่างที่เหลือให้พิจารณาเรียงตามลำดับความเหมาะสมจากผู้มีความเหมาะสมมากที่สุดตามบัญชีข้อมูลที่หน่วยเสนอขึ้นมาเท่านั้น
การคัดเลือกหรือแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งระดับ สว.ขึ้นไปถึง ผบช.หากมีตำแหน่งว่างเพียงตำแหน่งเดียว ให้ถือว่าผู้เหมาะสมที่ได้รับการพิจารณาไว้แล้วทุกรายเป็นผู้มีสิทธิเท่าเทียมกัน
สำหรับผู้เหมาะสมเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นที่เพิ่งมีคุณสมบัติครบถ้วนในปีแรก ต้องมีผลการปฏิบัติงานดีเด่นเป็นที่ประจักษ์ เป็นรูปธรรม เป็นที่ยอมรับว่าเป็นประโยชน์ต่อองค์กรอย่างยิ่ง และมีประสิทธิภาพดีกว่าตำรวจที่มีคุณสมบัติครบถ้วนทั่วไปรายอื่นอย่างชัดเจน ซึ่งผู้มีอำนาจและคณะกรรมการคัดเลือกต้องสามารถอธิบายข้อเท็จจริงและเปิดเผยต่อบุคคลทั่วไปได้
ดังนั้น จาก กฎ ก.ตร.ที่กล่าวมา ซึ่งหากการแต่งตั้งโยกย้ายได้ปฎิบัติตามอย่างเคร่งครัด ก็จะทำให้การแต่งตั้งโยกย้ายเกิดความเป็นธรรมกับ ทุกคนอย่างแน่นอน