ASTVผู้จัดการรายวัน - “อภิสิทธิ์” สั่ง “วิเชียร” ทำ “โผเล็ก” ย้ายตำรวจระดับรองผู้บังคับการ ลั่นมีคุณสมบัติไม่ครบเพียบ ต้องนำเรื่องถกในที่ประชุม ก.ตร.อีกครั้ง ขณะที่ “พัชรวาท” ไม่ยอม บินกลับด่วนทวงคืนเก้าอี้-ป้องโผ ทำหนังสือแจ้งรอง-ผู้ช่วย ผบ.ตร.วันนี้ทำงานปกติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 08.00 น.วานนี้ (9 ส.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมายังสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย เพื่อดำเนินรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์” โดยมี พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี รักษาการ ผบ.ตร.คอยให้การต้อนรับ และร่วมรับประทานอาหารเช้าและพูดคุยเป็นการส่วนตัวนานประมาณ 15 นาที ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะออกรายการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนายอภิสิทธิ์ออกรายการเสร็จได้เดินเข้าห้องรับร้องอีกครั้งเพื่อหารือกับ พล.ต.อ.วิเชียร นานประมาณ 15 นาที โดยมี พล.ต.ต.ชนาภัทร์ เชยสมบัติ ผู้บังคับการสำนักงานทะเบียนพล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เข้าหารือร่วมด้วย ทั้งนี้คาดว่าเป็นการหารือถึงการจัดทำบัญชีโยกย้ายนายตำรวจระดับรองผู้บังคับการจนถึงระดับประทวน ซึ่งทั่วประเทศกว่าแสนนาย หรือที่เรียกว่า “โผเล็ก”
จากนั้นนายอภิสิทธิ์ให้สัมภาษณ์หลังการหารือว่า รักษาการ ผบ.ตร.เข้ารายงาน สรุปเรื่องการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร.เพื่อให้ทราบถึงประเด็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งขณะนี้น่าจะมีความเข้าใจที่ตรงกันในเรื่องการประกาศโครงสร้างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ การออกประกาศต่างๆ ตามพระราชกฤษฎีกา และมีประเด็นการโยกย้ายในระดับรองลงมาที่มีคนเป็นจำนวนมาก ปรากฏว่าจะมีคนจำนวนหนึ่งที่อาจจะคุณสมบัติไม่ครบ จึงซักซ้อมกันว่าตามกฎหมายไม่สามารถจะยกเว้นในลักษณะทั่วไปได้ หมายความว่าใครไม่ครบคุณสมบัติต้องมาขอยกเว้น เป็นการเฉพาะราย แต่จะมีจำนวนมาก จึงต้องมีการประชุมก.ตร.อีกครั้งหนึ่ง และพล.ต.อ.วิเชียร จะเดินหน้าทำงานในส่วนนี้ไปในช่วงที่ทำหน้าที่รักษาการ ผบ.ตร.อยู่
“ผมขอยืนยันว่าการเดินหน้าทำนี้เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และจะไม่มีเรื่องการเมืองเข้าไปแทรกแซง เพราะต้องการให้ทุกอย่าง เรียบร้อยราบรื่นที่สุด เพราะเราต้องการให้การทำงานของตำรวจเดินหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ผู้สื่อข่าวถามว่า การโยกย้ายดังกล่าวนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในวันที่ 16 ส.ค.ที่จะประกาศใช้โครงสร้างใหม่ของ สตช.หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า โดยหลักจะต้องดำเนินการให้เรียบร้อยไม่เช่นนั้นจะเกิดสุญญากาศ แต่ถ้าไม่พร้อม เรื่องการประกาศตัวโครงสร้างอาจจะสามารถปรับเวลาได้ เพราะหลักการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ของพระราชกฤษฎีกา หรือกฎกระทรวงนั้นผู้ปฏิบัติต้องพร้อมด้วย หากเขายังไม่พร้อมก็คงยังไม่ประกาศ แต่ว่าเราต้องทำให้เร็วที่สุด
เมื่อถามว่า แสดงว่ามีความเป็นไปได้ที่โครงสร้างใหม่อาจจะไม่สามารถประกาศได้ในวันที่ 16 ส.ค.ตามที่กำหนด นายกฯ กล่าวว่า หากทำงานไม่เสร็จก็ประกาศไม่ได้ เพราะถ้าประกาศไปก็จะเกิดปัญหา แต่ว่าจะเร่งทำให้เร็วที่สุด เพราะตามเจตนารมณ์เราต้องการทำเร็วที่สุดอยู่แล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่าการกลับมาประเทศไทยของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร.ในวันที่ 10 ส.ค.นั้น พล.ต.อ.พัชรวาทจะเข้ามาร่วมพิจารณาตรงนี้ด้วยหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ตนยังไม่ทราบ แต่ที่ พล.ต.อ.พัชรวาท ลาตนไว้นั้นลาถึงวันที่ 14 ส.ค. เพียงแต่ได้พูดกันไว้ว่าในงานพระราชพิธี หรืองานพิธีที่สำคัญนั้นก็ขอให้มาร่วม
ผู้สื่อข่าวถามว่า การยกเลิกการลาก่อนกำหนดนั้นทำได้หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ไม่มีข่าวอย่างนั้น ต่อข้อถามว่า นายกฯมีความมั่นใจว่าทุกอย่างจะเป็นตามเดิมซึ่งคุยกันไว้ก่อนหน้านี้ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ขณะนี้ที่คุยกันไว้ ทำการซักซ้อมการทำงาน ก็ไม่น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลง และทุกคนก็ทราบดี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีเองก็ทราบดี เมื่อถามว่า จากการที่พล.ต.อ.พัชรวาทบินด่วนกลับมาก่อนวันครบกำหนดลามีนัยใดหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ตนไม่ทราบเลยว่าท่านกลับมาแล้ว
พัชรวาทบินกลับคุมโผ ตร.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กลับจากประเทศจีนเมื่อคืนวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา จากกำหนดการเดิมจะเดินทางกลับวันที่ 14 ส.ค. พร้อมทั้งได้ทำหนังสือเวียนถึงสำนักงานรองและผู้ช่วย ผบ.ตร. ว่าวันนี้จะไปทำงานตามปกติ
ส่วนความเคลื่อนไหวของ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ วันนี้จะไปปฏิบัติหน้าที่ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล
ปิดไม่ลับกล่อม ก.ตร.ก่อนลงมติ
ผู้สื่อข่าวรายงานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา โดย ก.ตร.มีเรื่องสำคัญๆ 3 เรื่องด้วยกัน เรื่องแรก พิจารณาการดำเนินการประกาศพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2552 โดย ก.ตร.มีมติยืนยันให้ ตร.เสนอนำส่งให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 15 ส.ค.และให้มีผลบังคับใช้ในวันถัดไปคือ วันที่ 16 ส.ค.ตามกำหนดเดิมที่ได้วางไว้ ซึ่งเรื่องนี้ที่ประชุมได้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง โดยมีผู้เสนอถึงความเป็นไปได้ในการเลื่อนการประกาศ พ.ร.ฎ.แบ่งส่วนราชการฯ ในราชกิจจานุเบกษา จากกำหนดเดิมที่ให้ประกาศในวันที่ 15 ส.ค.2552 เป็นวันที่ 30 ก.ย.2552 และให้มีผลในวันที่ 1 ต.ค.2552 แต่มีผู้คัดค้านว่าหากกระทำดังกล่าวจะมีปัญหาเรื่องความชอบด้วยกฎหมาย ที่ระบุว่าร่างกฎหมายเมื่อทรงลงพระปรมาภิไธยจะต้อง“ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาโดยพลัน” หากปล่อยให้เนิ่นช้าอาจมีปัญหาได้ นอกจากนี้หากดึงเรื่องไว้จะเป็นการมิบังควร เพราะทรงลงพระปรมาภิไธยมานานแล้ว หากมีการดึงเรื่องไว้จะเป็นการละเมิดพระราชอำนาจ ซึ่ง ก.ตร.หลายท่านเป็นห่วงในประเด็นนี้
ขณะทีอีกฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย เห็นว่าการเลื่อนประกาศ พ.ร.ฎ.ลงในราชกิจจานุเบกษาสามารถกระทำได้ เพราะกรณีเช่นนี้ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำพิพากษาว่าหากยังไม่มีการลงนามสนองพระบรมราชโองการ ก็สามารถที่จะดึงเรื่องการลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้
อย่างไรก็ตาม ภายหลังมีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ในที่สุดที่ประชุม ก.ตร.ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 21 คน จึงให้มีการยกมือโหวต ซึ่งในที่ประชุมมีมติให้ทำตามกำหนดการเดิม คือ ลงประกาศวันที่ 15 ส.ค. มีผลวันที่ 16 ส.ค.โดยมีคะแนนเสียงชนะกันประมาณ 3 เสียง
มีรายงานว่า ก่อนการประชุมนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน ก.ตร.ได้รับประทานอาหารร่วมกับ ก.ตร.โดยในวงรับประทานอาหาร นายสุเทพ พยายามพูดในเชิงอ้อนวอนและ ขอร้องให้ ก.ตร.พิจารณาเพื่อประโยชน์ของ ตร.โดยย้ำว่า หากเรื่องใดน่าจะผ่านได้ ก็ขอให้ผ่านไป ขณะที่แหล่งข่าวกล่าวว่า เหตุผลที่นายสุเทพ ต้องการให้ ก.ตร.ผ่านการประชุมในครั้งนี้ เพราะไม่ต้องการให้ การประชุม ก.ตร.ต้องล่มอีก และหาก ก.ตร.หล่ม ก็จะทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับ สตช.ยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
“จงรัก” ขอให้ทบทวน แต่สู้ไม่ได้
สำหรับเรื่องที่ 2 คือ รายชื่อนายพล 152 ตำแหน่งที่ ก.ตร.ได้อนุมัติแต่งตั้งไปแล้วเมื่อวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมานั้น ก.ตร.ได้มีมติไม่มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งใดๆให้นำรายชื่อนำความกราบบังคมทูลโปรดเกล้าฯ หลังจาก พ.ร.ฎ.แบ่งส่วนราชการมีผลบังคับใช้แล้ว (วันที่ 16 ส.ค.) และในที่ประชุมได้มีการอภิปรายในข้อกฎหมาย และเมื่อพระราชกฤาฎีกาแบ่งส่วนราชการฯ ที่ประชุมได้มีมติไปแล้วว่าให้คงตามกำหนดเดิม การเสนอให้โปรดเกล้าฯ ตำแหน่งนายพล 152 ตำแหน่ง ยังเป็นไปตามกำหนดเดิมเช่นเดียวกัน โดย พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ รองผบ.ตร.ได้เสนอในที่ประชุมให้มีการรื้อบัญชีนายพลที่ ก.ตร.มีมติไปแล้ว ให้เหตุผลว่าขั้นตอนการดำเนินการใกล้เคียงกับวาระประจำปี แต่ที่ประชุมเห็นว่าหากจะรื้อหรือทบทวน ทั้งหมดหรือบางตำแหน่ง จะไม่ทันการณ์ เพราะเหลือเวลาอีก ไม่มากแล้ว (หากทบทวนบางตำแหน่ง ตามกฎหมายในการแต่งตั้งระดับนายพล กระบวนการจะต้องเริ่มใหม่ทั้งหมด ตั้งแต่การกลั่นกรองและนำเข้าพิจารณาในที่ประชุม ก.ตร.
คาดโผ “รอง ผบก.-ลงไป” รื้อครั้งใหญ่
เรื่อง 3 กรณีการแต่งตั้งระดับ รอง ผบก.ลงมา ที่เดิมนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี สั่งให้ระงับไว้ก่อน ก็ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป(ด้วยเหตุผลว่าโครงสร้าง ตร.จะมีผลใช้บังคับในวันที่ 16 ส.ค.จึงต้องมีคนทำงาน ซึ่งระดับหัว คือระดับนายพลได้แต่งตั้งไปแล้ว จึงต้องแต่งตั้งระดับปฏิบัติ) แต่มีข้อแม้ว่าครั้งนี้ให้ยึด กฎ ก.ตร.ว่าด้วยการแต่งตั้งอย่างเคร่งครัด หากบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งไม่ได้เป็นไปตามกฎ ก.ตร.ว่าด้วยการแต่งตั้ง ขาดคุณสมบัติหรือต้องได้รับการยกเว้นก็ต้องเสนอที่ประชุม ก.ตร.พิจารณาเป็นรายๆ ไป ซึ่งในที่ประชุมให้เหตุผลว่า เนื่องจากมีกระแสข่าวการซื้อขายตำแหน่ง การวิ่งเต้น ขอยกเว้นหลักเกณฑ์ (จากเดิมเนื่องจากการแต่งตั้งครั้งนี้ เป็นวาระพิเศษ ซึ่ง ผบ.ตร.จะใช้มาตรา 56 แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ในการแต่งตั้ง การขอยกเว้นหลักเกณฑ์ ก็ยื่นขอกับ ผบ.ตร.ได้ และแม้ว่าครั้งนี้การใช้มาตรา 56 จะต้องดำเนินการในรูปกรรมการ ซึ่งมี ผบ.ตร.เป็นประธานมีรองผบ.ตร.และจเรตำรวจแห่งชาติ เป็นกรรมการ แต่การขอยกเว้นหลักเกณฑ์ก็ยังทำได้ง่ายอยู่ดี) ซึ่งต้องดูเหตุผลและความจำเป็น เป็นการยกเลิก มติ ก.ตร.ก่อนหน้านี้ ที่ใช้ พ.ร.บ.ตำรวจมาตรา 56 ให้ ผบ.ตร.มีอำนาจในการแต่งตั้ง ในรูปของคณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วย รอง ผบ.ตร.และจเรตำรวจเป็นผู้ดำเนินการแต่งตั้ง
นอกจากนี้ ที่ประชุมมีการอภิปรายถึงกระแสข่าวเรื่องการซื้อขายตำแหน่ง โดย ก.ตร.หลายท่านกังวล และได้อภิปรายเรื่องนี้ ซึ่ง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี และประธาน ก.ตร.ก็แจ้งว่าเรื่องนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมาก แต่ก็ยังไม่พบหลักฐานว่าเกิดเรื่องเช่นนี้ขึ้นจริง ทั้งนี้ ก็มีการเสนอว่าหากมีพยานหลักฐานเรื่องการซื้อขายตำแหน่ง ก็ต้องดำเนินการทันทีเนื่องจากเป็นเรื่องที่ทำให้ ตร.เสียหาย
อย่างไรก็ตาม สำหรับการแต่งตั้งระรับรอง ผบก.ลงไป เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่า การจัดทำโผของ พล.ต.อ.พัชรวาท พบว่านำบุคคลที่ไม่ผ่านหลักเกณฑ์ได้รับการแต่งตั้งจำนวนมาก โดยอ้างว่า เป็นวาระพิเศษ ซึ่งเมื่อมีการทบทวนก็จะทำให้นายตำรวจเหล่านั้น ได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน
ฉะสมาคม ตร.มุดหัวเงียบสมัย “แม้ว”
นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นายกสมาคมตำรวจได้ออกมาให้สัมภาษณ์พาดพิงถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ว่าแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจอย่างชัดเจนมากกว่ายุคอื่นว่า เป็นคำให้สัมภาษณ์ที่ปราศจากความเป็นจริง เพราะนายกฯ ไม่เคยใช้อำนาจเข้ามาแทรกแซง ล้วงลูกเพื่อการโยกย้าย แต่นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจเพื่อเข้ามาแก้ไของค์กรตำรวจให้มีประสิทธิภาพในการทำงาน โดยยึดหลักของกฎหมาย และที่สำคัญคือต้อการความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)
“ความจริงเรื่องนี้เริ่มต้นจากการทำงานของ สตช.ที่ไม่มีประสิทธิภาพ แต่กำลังจะเบี่ยงเบนประเด็นไปสู่การล้วงลูกของนักการเมือง เพื่อโยนความผิด ให้ฝ่ายการเมืองว่า เป็นผู้แทรกแซงการโยกย้ายเหมือนทุกยุคทุกสมัย ทั้งๆที่ การโยกย้ายตำรวจเป็นเรื่องของการช่วงชิงอำนาจ การแต่งตั้งของผู้บังคับบัญชาใน สตช.”
นายเทพไทกล่าวว่า เห็นได้จาก พ.ร.ฎ.การแบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งจะมีผลปฏิบัติ หลังจากประกาศใช้ 60 วัน และมีการแก้ไข 30 วัน และมีผลบังคับใช้แล้วหลังจากประกาศ พ.ร.ฎ.และประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา ก็เพียงเพื่อจะใช้สิทธิ์ในการแต่งตั้งโยกย้ายให้เร็วที่สุด จนเชื่อมโยงมาถึงโผโยกย้าย 152 นายพลว่าถูกต้องตามขั้นตอนกฎหมายหรือไม่ และเป็นที่จับตามองว่า ฝ่ายการเมืองจะเข้ามารื้อโผให้คนของตัวเองเข้าไปรับตำแหน่งนั้น ก็มีบทพิสูจน์ชัดเจนแล้วว่า ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการกฎหมายทุกอย่าง
นายเทพไทกล่าวต่อว่า เมื่อมติ ก.ตร.ยืนยันว่าให้เป็นไปตามโผเดิมก็เป็นเรื่องของ ก.ตร.ที่จะต้องทำตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป ฝ่ายการเมืองจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง ที่นายกสมาคมตำรวจบอกว่าไม่มียุคใดเข้าไปแทรกแซงเหมือนยุคนี้ ก็อยากถามว่ายุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกสมาคมคนนี้ ไปนอนหลับมุดหัวอยู่ที่ไหน จึงไม่ยอมรับรู้การสร้างารัฐตำรวจ จึงอยากให้กลับไปดูการทำงานของ สตช.ย้อนหลังว่า ยุคไหนกันแน่ ที่ฝ่ายการเมืองเข้าไปล้วงลูก เล่นพรรค เล่นพวก ล้วงลูก ตั้งเพื่อนร่วมรุ่น ญาติพี่น้อง และตำรวจ ที่ยอมรับใช้ตัวเอง ข้ามหัวผู้อื่นเข้ารับตำแหน่งสำคัญอย่างมากมาย
“ขอยืนยันว่ายุคนี้จะไม่มีฝ่ายการเมืองเข้าไปแทรกแซง สตช. ปล่อยให้ดำเนินการตามกฎหมาย ไม่มีปูดบำเหน็จพวกตัวเอง เพราะพรรคมีหลักการที่ชัดเจนว่า ทุกอย่างเป็นไปตามข้อกฎหมาย ตัวนายกฯ ไม่มีใครเป็นพวกของตัวเองในวงการตำรวจ ไม่มีคนรู้จักหรือญาติพี่น้อง แม้แต่ระดับจ่าตำรวจจนถึงนายพลก็ยังไม่มี” นายเทพไทกล่าว