xs
xsm
sm
md
lg

โผโยกย้ายในสตช. : บทพิสูจน์ภาวะผู้นำนายกฯ

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ท่านผู้อ่านที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ ปชป. หรือมิใช่เป็นแฟนพันธุ์แท้ แต่ผิดหวังกับอดีตนายกฯ ทักษิณ และหันมานิยม ปชป. ด้วยหวังจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในวงราชการ คงจะรู้สึกเบื่อหน่าย และคลายศรัทธารัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ไม่มีความเด็ดขาด และปล่อยให้นักการเมืองประเภทสีเทาดำชี้นำจนตัวเองเสียจุดยืน และต้นทุนทางสังคมที่เคยมีอยู่อย่างมากก่อนเข้ารับตำแหน่งผู้นำรัฐบาลลดลงเรื่อยๆ จนในที่สุดผลโพลออกมาว่าต่ำกว่าอดีตนายกฯ ทักษิณเสียด้วยซ้ำ

อะไรคือเหตุให้คนที่เคยได้รับความนิยมชมชอบเฉกเช่นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องตกอยู่ในภาวะแห่งศรัทธาตกต่ำดังที่เป็นอยู่ และถ้าจะแก้ไขให้กลับสู่สภาพเดิมก่อนเข้ารับตำแหน่งนายกฯ จะเป็นไปได้หรือไม่ และด้วยวิธีใด?

เพื่อจะตอบประเด็นแห่งปัญหาดังกล่าวข้างต้น ผู้เขียนใคร่ขอให้ท่านผู้อ่านลองย้อนไปดูบทบาทของ ปชป. ในฐานะเป็นนิติบุคคล โดยพิจารณาจากพฤติกรรมองค์กรและพฤติกรรมบุคคลในองค์กร ก็จะพบลักษณะเด่นและลักษณะด้อยดังต่อไปนี้

1. ลักษณะเด่น

1.1 พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองพรรคเดียวที่มีอายุการจัดตั้งยาวนานกว่าทุกพรรคการเมืองที่มีอยู่ในปัจจุบัน และเป็นพรรคเดียวที่ไม่เคยหยุดกิจกรรมทางการเมืองในยุคที่มีการเลือกตั้ง และมีการปกครองในระบบรัฐสภา จึงถือได้ว่าเป็นพรรคเดียวที่มีสถานภาพเป็นสถาบันทางการเมือง

1.2 ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง และ ปชป. เป็นฝ่ายค้าน ทุกคนใน ปชป. จะต่อสู้กับการทุจริตคอร์รัปชันของฝ่ายบริหารมาตลอด และการค้านของบรรดา ส.ส.ของ ปชป. ทุกครั้งทำให้รัฐบาลสั่นคลอนและมีอยู่หลายครั้งจบลงด้วยมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองด้วยการปรับ ครม.

1.3 ในยุคที่ประเทศไทยปกครองด้วยระบบเผด็จการ นักการเมืองสังกัด ปชป. ก็เรียงหน้าออกมาต่อสู้กับผู้นำเผด็จการ และมีผลทำให้เกิดการเร่งรัดให้มีการเลือกตั้งเร็วขึ้น

2. ลักษณะด้อย

2.1 ทุกครั้งที่ได้เป็นฝ่ายบริหาร จะทำงานไม่เข้าตาประชาชนที่ตั้งตารอคอยจะเห็นทุกปัญหาได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็วและถูกต้องตามครรลองแห่งศีลธรรม จริยธรรม และกฎหมายเท่าที่ควรจะเป็น จนทำให้อดีตผู้นำ ปชป. ในบางยุคได้รับขนานนามว่า เชื่องช้า ไม่ทันกิน ตามเกมข้าราชการประจำไม่ทัน ดังที่เกิดขึ้นในยุคของนายชวน หลีกภัย ผู้มีความโดดเด่นในแง่ของความเป็นคนซื่อสัตย์สุจริตที่ปล่อยให้ทีมเศรษฐกิจแก้ปัญหาด้วยการสร้างปัญหาเพิ่มในกรณีของการออกกฎหมาย 11 ฉบับและมีผลทำให้มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจตามมา โดยไม่มีการกำหนดให้ชัดเจนว่ารัฐวิสาหกิจใดควรแปรและไม่ควรแปร จึงเป็นโอกาสให้รัฐบาลในยุคของอดีตนายกฯ ทักษิณใช้เป็นเครื่องมือในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และเปิดทางให้คนกลุ่มหนึ่งเข้ามาถือครองหุ้นในธุรกิจของรัฐ และกอบโกยรายได้ในรูปของเงินปันผลและมูลค่าหุ้นที่เพิ่ม ดังที่เกิดขึ้นกับ ปตท. เป็นต้น

2.2 ถึงแม้ ปชป. จะมีภาพลักษณ์ของพรรคโดยรวมโดดเด่นเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต แต่ก็ยังมี ส.ส.ส่วนหนึ่งของ ปชป. มีภาพลักษณ์ที่ตรงกันข้ามกับภาพลักษณ์ของพรรคโดยสิ้นเชิงเหมือนอยู่คนละพรรค และทางผู้นำพรรคเองดูเหมือนไม่รู้ไม่เห็น และไม่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าจะแก้ไขป้องกันพฤติกรรมที่ว่าได้อย่างไร และด้วยวิธีใด ทั้งๆ ที่ดูเหมือนว่าผู้คนในสังคมที่เป็นแฟนของ ปชป. และคนที่มิได้เป็นแฟนพันธุ์แท้ของ ปชป. เองรอดูว่าปัญหานี้จะได้รับการแก้ไขอย่างไร และเมื่อใด

จะเห็นได้จากการที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะหัวหน้าพรรค และในฐานะผู้นำฝ่ายบริหารซึ่งมีพฤติกรรมสวนทางกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรค และรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ในเรื่องของการโยกย้ายแต่งตั้งตำรวจใน สตช. โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในคดียิงนายสนธิ ลิ้มทองกุล ที่มีข่าวออกมาตลอดว่าเจอตอ และตามข่าวที่ออกมาดูเหมือนว่านายกฯ เองก็รู้ดีว่าใครคือตอ แต่ก็ได้แค่พูด ทำอะไรคนที่คาดว่าเป็นตอไม่ได้ และที่ตอเป็นตกอยู่ได้ คนส่วนใหญ่ก็รู้ว่าส่วนหนึ่งของอำนาจต้านนายกฯ ในครั้งนี้มาจากคนบางคนใน ปชป. ร่วมมือกับคนนอก ปชป. จับมือกันต่อต้านนั่นเอง

ส่วนสาเหตุแห่งการจับมือต่อต้านจะมาจากอะไรนั้น คงจะเข้าใจได้ไม่ยาก เพียงแค่ดูพฤติกรรมนักการเมืองที่ว่านี้ให้รอบคอบในทุกแง่มุม ก็คงได้คำตอบและคำตอบที่ว่านี้ก็ไม่หนีผลประโยชน์ร่วม ส่วนจะเป็นผลประโยชน์ในรูปใดนั้น ถ้าอยากรู้ก็ต้องไปถามคนที่ต้องการวิ่งเต้นโยกย้ายใน สตช. เองว่าได้ลงทุนอะไรไปบ้าง และจำนวนเท่าใดกับหนึ่งตำแหน่ง

แต่ถ้าไปถามแล้วไม่มีใครบอก หรือทุกคนปฏิเสธก็ต้องถือว่าทุกอย่างเป็นไปตามธรรมเนียมปฏิบัติในการวิ่งเต้นตำแหน่งของระบบราชการก็แล้วกัน

2.3 ข้อด้อยอีกประการหนึ่งของ ปชป. ก็คือการประกาศตลอดเวลาว่าทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย แต่พฤติกรรมที่ปรากฏอย่างเป็นรูปธรรมในขณะนี้ค่อนข้างสวนทางกับคำพูด ยกตัวอย่างในขณะที่เป็นฝ่ายค้านในยุคของรัฐบาลทักษิณก็ดี รัฐบาลสมัครก็ดี หรือแม้กระทั่งในยุคของรัฐบาลสมชายก็เรียกร้องให้รัฐบาลเอาจริงเอาจังกับการปราบปรามการทุจริต แต่พอขึ้นมาเป็นรัฐบาล และทางฝ่ายค้านคือ พรรคเพื่อไทยได้ออกมากล่าวหาว่ามีการทุจริตในโครงการชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง กลับพูดว่ามีการทุจริตเล็กน้อย และที่ยิ่งกว่านี้บอกว่าเป็นเรื่องต่อเนื่องมาจากรัฐบาลชุดก่อน เป็นต้น

ทั้งข้อเด่นและข้อด้อยที่ยกมาก็เพื่อให้แฟน ปชป. และแม้กระทั่งคนใน ปชป. เองได้ย้อนไปดูพฤติกรรมของพรรค และของบุคคลบางคนในพรรคเพื่อจะได้นำไปปรับปรุงแก้ไข

ส่วนว่าจะแก้ไขอย่างไรนั้น ในทัศนะของผู้เขียนที่ลงคะแนนให้ ปชป. มาตลอดเห็นว่า ทางเดียวที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะเรียกคะแนนคืนก็คือปรับ ครม. และดำเนินคดีต่อทุกคนที่ทำผิดให้รวดเร็ว และเป็นธรรม ก็จะตีตื้นมาได้บ้าง
กำลังโหลดความคิดเห็น