xs
xsm
sm
md
lg

รัฐขอมาให้ตรึงค่าไฟหลังจ่อขยับ10สต./หน่วย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- “กฟผ.”ทำใจเงินค้างหนี้ค่าไฟ 2 หมื่นล้านบาทอาจทยอยได้รับคืนไปเป็นกลางปี 2544 หลังราคาน้ำมันขยับสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้เหตุค่าเอฟทีจ่อขึ้นต่อเนื่องยากที่จะนำมาหักคิดในค่าไฟได้ แย้มตัวเลขเอฟทีงวดใหม่(ก.ย.-ธ.ค.) จ่อขยับ 10 สตางค์ต่อหน่วยวงในเผยรัฐบาลเต้นเล็งขอให้ดูว่าตรึงได้หรือไม่ ขณะที่เรกูเลเตอร์ยังกั๊กต้องให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย

นายสมบัติ ศานติจารี ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยหลังลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในโครงการร่วมสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนา เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ สำหรับกิจการไฟฟ้า วานนี้(6ส.ค.) ว่า ขณะนี้ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกมีการปรับตัวค่อนข้างสูงโดยล่าสุดอยู่ในระดับ 71เหรียญต่อบาร์เรลซึ่งสูงกว่าที่เคยประมาณการไว้ที่คาดว่าปีนี้จะเฉลี่ยที่ 55 เหรียญต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นจึงมีผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ใช้น้ำมันโดยตรงและยังสะท้อนไปยังราคาก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟกว่า 70% ให้สูงตามไปด้วยดังนั้นหากราคาน้ำมันยังคงปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องก็จะยิ่งกระทบกับค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติหรือเอฟทีให้สูงตาม

“ กฟผ.จะติดตามแนวโน้มราคาน้ำมันต่อไป และยืนยันว่ายังไม่ต้องการปรับค่าไฟฟ้าในขณะนี้ เนื่องจากจะเป็นภาระของประชาชน แต่หากในอนาคตราคาน้ำมันตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นก็คงจะต้องมาพิจารณาถึงฐานะการเงินโดยรวมด้วย”ผู้ว่ากฟผ.กล่าว

ทั้งนี้ที่ผ่านมากฟผ.ยังคงแบกรับภาระค่าเอฟทีให้กับประชาชนอยู่รวม 2 หมื่นล้านบาทโดยแนวนโยบายจะนำมาทยอยหักจากค่าไฟฟ้าในช่วงที่ราคาปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลให้การนำเงินดังกล่าวไปรวมกับค่าไฟคงจะทำได้ยากและคาดว่าเร็วสุดจะได้รับคืนเงินทั้งหมดครบปลายปี 2553 คงจะต้องเลื่อนไปเป็นอย่างเร็วกลางปี 2554 แทน

สำหรับการใช้ไฟฟ้าของประเทศ 6 เดือนแรกปีนี้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าของไทยปรับตัวลดลง 3.74% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้ประมาณการว่าตลอดปีนี้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าจะลดลงประมาณ 2.5 %หรือ 3,000-4,000 ล้านหน่วย

แหล่งข่าวจากกฟผ.กล่าวว่า แนวโน้มค่าเอฟทีงวดใหม่(ก.ย.-ธ.ค.) ราคาก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าราคาสูงสุดเมื่อธ.ค. 51 อยู่ที่ 265 บาทต่อล้านบีทียู ส่งผลให้ราคาก๊าซเฉลี่ยอยู่ในระดับสูงส่งผลให้ค่าเอฟเฉลี่ยงวดใหม่มีแนวโน้มจะปรับขึ้นประมาณ 10 สตางค์ต่อหน่วย โดยขึ้นอยู่กับคณะกรรมการกำกับกิจการไฟฟ้า(เรกูเลเตอร์) ว่าจะพิจารณาอย่างไร แต่ยอมรับว่าหากสั่งตรึงราคาแล้วให้กฟผ.แบกรับภาระเพิ่มอีกกฟผ.เองก็คงจะต้องทำตามนโยบายรัฐบาล

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า นโยบายรัฐบาลได้มอบหมายให้กฟผ.ไปพิจารณาฐานะทางการเงินว่าควรจะแบกรับภาระเพิ่มได้อีกหรือไม่จนถึงปลายปีนี้เนื่องจากเห็นว่าเป็นช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวหากค่าไฟปรับเพิ่มจะมีผลกระทบต่อค่าครองชีพประชาชน แต่หากกฟผ.มีปัญหาภาระทางการเงินเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีมาตรการอื่นๆ เข้ามาดูแลซึ่งเป็นหน้าที่เรกูเลเตอร์จะพิจารณาในเรื่องดังกล่าว

นายดิเรก ลาวัลย์ศิริ ประธานเรกูเลเตอร์ กล่าวว่า ปลายส.ค.นี้จะมีการหารือเพื่อดูตัวเลขที่แท้จริงของค่าเอฟทีก่อนที่จะประกาศค่าเอฟทีงวดใหม่ โดยหลักการแล้วคงจะต้องดูแลทั้งประชาชน และผู้ผลิตไฟฟ้าด้วย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทุกฝ่าย
กำลังโหลดความคิดเห็น