xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลส่งสัญญาณตรึงค่าไฟถึงสิ้นปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-รัฐบาลส่งสัญญาณตรึงค่าไฟถึงสิ้นปี แต่มีเงื่อนไขต้องหาทางจ่ายหนี้คืนกฟผ.ที่แบกภาระไว้สูงถึง 1.9 หมื่นล้านบาทด้วย แย้มการประชุมเรกูเลเตอร์ต้นพ.ค.นี้ เตรียมถกค่าเอฟทีเองวดพ.ค.-ส.ค. คาดคงเอฟทีอัตราเดิม ไม่ปรับขึ้น หวั่นซ้ำเติมประชาชน ส่วนผลการใช้ไฟฟ้าเดือนเม.ย.ยอดวูบ เหตุมีวันหยุดยาว 10 วัน ทั้งๆ ที่ปกติเป็นช่วงพีคของทุกปี
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงฯ พิจารณาอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนในยามวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งหากพิจารณาทิศทางราคาก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้ามีแนวโน้มที่จะลดลงต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี ก็มีแนวโน้มว่าค่าเอฟทีจะไม่ต้องปรับขึ้น แต่จากการที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)ได้รับภาระค่าไฟไว้ประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาท จึงต้องนำส่วนนี้มาคำนวณ ดังนั้น หากจะมีการตรึงค่าไฟฟ้าไปจนถึงสิ้นปี ก็ต้องหาทางทยอยจ่ายหนี้คืนให้กับกฟผ.ด้วย
นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรกูเลเตอร์) กล่าวว่า ต้นเดือนพ.ค.นี้ จะมีการพิจารณาค่าเอฟทีงวดใหม่ (พ.ค.-ส.ค.) ซึ่งในหลักการมีแนวโน้มจะคงค่าเอฟทีไว้ไม่เปลี่ยนแปลง เนื่องจากจะใช้วิธีนำส่วนที่ต้นทุนลดลงจากราคาก๊าซธรรมชาติไปใช้จ่ายหนี้กฟผ.ที่ต้องแบกรับภาระค่าไฟที่ไม่สามารถปรับขึ้นตามต้นทุนที่แท้จริงไว้ถึง 1.9 หมื่นล้านบาท
“หลักการจะเป็นแบบนี้ ตัวเลขเอฟทีจริงจะเป็นเท่าใดต้องรอดูอีกครั้ง ส่วนการตรึงค่าไฟไปจนถึงสิ้นปีนั้น มีความเป็นไปได้ เพราะแนวโน้มราคาก๊าซธรรมชาติ จากการพิจารณาจนถึงสิ้นปีจะมีทิศทางที่ลดลงเพราะสูตรราคาก๊าซจะอิงกับราคาน้ำมันย้อนหลังไป 6 เดือนถึง 1 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันขาลง ดังนั้น เอฟทีจึงมีทิศทางที่ลดลง แต่ส่วนที่ลดก็จะนำคืนหนี้กฟผ. เพราะเป็นวิธีดีสุดที่จะไม่กระทบประชาชน และยังช่วยกฟผ.ด้วย”นายดิเรกกล่าว
แหล่งข่าวจากกฟผ. กล่าวว่า เอฟทีงวดใหม่นั้น หากคำนวณเบื้องต้นประเมินว่าจะปรับลดลงประมาณ 14 สตางค์ต่อหน่วย และหากนำเอาภาระที่กฟผ.แบกรับค่าไฟที่ผ่านมาอยู่ 1.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งคิดเป็นค่าเอฟที 50 สตางค์ต่อหน่วย เท่ากับค่าไฟฟ้าจะต้องเพิ่มขึ้น 36 สตางค์ต่อหน่วย แต่รัฐบาลคงไม่ให้ขึ้นเพราะเศรษฐกิจชะลอตัวจะกระทบกับประชาชน แต่จะใช้วิธีตรึงแล้วนำส่วนที่จะลดคืนกฟผ.แทน
นายพิบูลย์ บัวแช่ม ผู้อำนวยการฝ่ายควบคุมระบบกำลังไฟฟ้า กฟผ. กล่าวว่า การใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีค) ล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 เม.ย.2552 อยู่ที่ 2.05 หมื่นเมกะวัตต์ ขณะที่มี.ค. พีคเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 มี.ค.อยู่ที่ 2.131 หมื่นเมกะวัตต์ ซึ่งยังต่ำกว่าเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ในระดับ 2.18 หมื่นเมกะวัตต์ ขณะที่พีคของปี 2551 สูงสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 เม.ย.อยู่ที่ระดับ 2.201 หมื่นเมกะวัตต์ ดังนั้น ภาพรวมพีคปีนี้มีทิศทางว่าจะต่ำกว่าปีที่แล้ว
สำหรับอัตราการใช้ไฟเฉพาะวันที่ 1-19 เม.ย. ที่ผ่านมา นั้นมีอัตราลดลง 6.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสาเหตุมาจากมีวันหยุดราชการยาวถึง 10 วัน ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทำให้การใช้ในภาคอุตสาหกรรมลดลงไปด้วย ส่วนยอดการใช้ไฟ 3 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-มี.ค.)อยู่ที่ 3.36 หมื่นล้านหน่วยลดลงจากช่วงเดียวกนของปีก่อน 5.48%
“ปกติแล้วพีคจะเกิดขึ้นสูงสุดในช่วงเม.ย.ของทุกปี ดังนั้น หากดูช่วงนี้แล้วอุณหภูมิแม้ว่าจะร้อนมากแต่การใช้ไฟนั้นค่อนข้างต่ำ ซึ่งตัวแปรพีคคือภาวะเศรษฐกิจและอุณหภูมิที่สูงขึ้น โดยเฉลี่ยอุณหภูมิที่สูงขึ้นทุก 1 องศา จะใช้ไฟฟ้าเพิ่ม 300 เมกะวัตต์” นายพิบูลย์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น