xs
xsm
sm
md
lg

108 – 1009 เรื่องเล่าอนุพันธ์:ลงทุนอย่างพอดี สร้างกำไรอย่างยั่งยืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตามที่ดิฉันได้เคยนำเสนอเรื่อง "กำจัด(จำกัด) ความเสี่ยง เรื่องง่ายที่ไม่เคยทำได้" ไปแล้ว มาครั้งนี้เพื่อเป็นการตอบข้อสงสัยในใจคุณผู้อ่าน หลายๆ ท่าน ดิฉันจึงขอหยิบยกเรื่องราวการลงทุนอย่างพอดี (เหมาะสม) กับเงินในกระเป๋าของนักลงทุนมานำเสนอบ้างนะคะ

ท่านผู้อ่านเคยสงสัยไหมคะว่า "ทำไมลงทุนในอนุพันธ์ (ขอกล่าวถึงเฉพาะด้าน Futures และ Short Options นะคะ) ต้องเติมเงินอยู่ตลอด บางครั้งกำไรแล้วพอหักลบกลบหนี้ สุดท้าย ขาดทุนมากกว่าที่ตั้งใจลงทุนไว้ในตอนต้นเสียอีก " เหตุการณ์เหล่านี้อาจวนเวียนหลอกหลอน นักลงทุนมือใหม่อยู่บ่อยครั้ง แล้วเราจะมาหาวิธีไม่ให้เหตุการณ์เหล่านี้ เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกได้อย่างไร ?

ดิฉันขอนำเสนอแนวทางที่เป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้ท่านผู้อ่านลองพิจารณากันดูนะคะ ซึ่งวิธีนั้นก็คือ ให้ท่านกำหนดจำนวนเงินที่ต้องการลงทุนตั้งแต่ต้นและอย่าลืมกำหนดจุด Cut loss ไว้พร้อมกันด้วยเลยนะคะ หลายท่านคงบอกว่า ก็ทำอยู่ทุกครั้งแต่ใช้ไม่ได้ผลเลยสักที ดิฉันต้องขอบอกว่า "อย่าเพิ่งใจร้อนกันซิคะ" มาลองดูตัวอย่างนี้ก่อน

ถ้าสมมติให้ท่านเปิดสถานะ Short S50U09 ไว้ที่ 458 จำนวน 2 สัญญา และต้องการลงทุนด้วยเงิน 120,000 บาท จุดคาดหวังที่จะ Take Profit คือ 8% ของเงินที่ลงทุน และรับความเสี่ยงของการขาดทุนได้ 5 % ของเงินที่ตั้งใจจะลงทุนใน Futures ทั้งหมด สิ่งที่นักลงทุนทั่วไปมักจะไม่ได้นำมารวมในการคำนวณ คือ ค่าธรรมเนียมการซื้อขาย (Commission) ซึ่งบางครั้ง เหมือนยิ่งลงทุนแล้วเงินลงทุนยิ่งลดลงไปเรื่อยๆ จนไม่ทันสังเกต ดังนั้น ในการลงทุนแต่ละครั้งต้องรวมค่าใช้จ่ายนี้ด้วย จากตัวอย่างท่านสามารถคำนวณจุดลงทุนที่ไม่ทำให้เสี่ยงจนรับภาระไม่ไหว นั่นคือ 5 % ของเงินที่ตั้งใจจะลงทุน Futures ทั้งหมด ซึ่งคำนวณได้เท่ากับ 6,000 บาท (120,000 x 5%)

ดังนั้น การขาดทุนของท่าน (ที่รับความเสี่ยงได้) รวมกับค่าธรรมเนียมการซื้อขายแล้ว ต้องไม่เกินกว่า 6,000 บาทด้วย หลายท่านจะเข้าใจว่า ถ้าขาดทุนได้ 6,000 บาท นั่นคือ ผิดทางได้ 3 จุด (คือ 461) เพราะ 1 จุด ดัชนีที่เปลี่ยนแปลงทำให้มีผลกับกำไร / ขาดทุนของท่าน 2,000 บาท (เพราะมี 2 สัญญาที่ถือสถานะไว้ค่ะ) ซึ่งตัวเลขนี้ยังไม่ได้รวมค่า Commission ที่เกิดขึ้นทั้งไป และกลับของการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเลย ถ้ามีการรวมค่า Commission จะทำให้จุด Stop loss ของท่านคือ 460 (เป็นจุดที่ท่านมั่นใจได้ว่าท่านจะไม่เสียเงินที่ลงทุนไว้เมื่อรวมค่าธรรมเนียมการซื้อขายแล้วเกิน 6,000 บาท)

กรณีจุดที่ท่านต้องการ Take Profit นั้นต้องเป็นจุดที่ทำให้ท่านได้ค่า Commission กลับคืนมาด้วย จากตัวอย่าง คือ ระดับที่ 453 ซึ่งจะทำให้ท่านได้กำไร 10,000 (เกิดจาก 458 – 453 = 5 จุด , 5 x 2 สัญญา x 1,000 = 10,000) บาท ซึ่งจะต้อง มากกว่า หรือ เท่ากับ 8 % ของเงินลงทุน (เงินลงทุนคือ Margin + Commission ตอนเปิดสถานะสัญญา) รวมกับ ค่า Commission ทั้งหมด ทั้งตอนเปิด และ ปิดสัญญา (481.5 x 2 สัญญา x 2) คิดเป็น [8 % x {(49,400 x 2 ) + 963}] + (963 x 2) = 9,907.04 บาท นั่นเอง

ก่อนการลงทุนทุกๆ ครั้ง ท่านควรกำหนดจุดที่ท่านรับความเสี่ยงได้ (Stop loss) เมื่อท่านสามารถรับความเสี่ยงได้มากขึ้น จุดที่ท่านจะ Stop loss ก็จะลึกขึ้น แม้ในบางครั้งจะผิดทางในช่วงสั้น แต่ถ้ายังอยู่ในกรอบของการรับความเสี่ยงได้ก็เป็นจังหวะที่สามารถรอโอกาสกำไรที่น่าจะกลับมาได้ เพราะในหลายครั้ง นักลงทุนบางท่าน จะรู้สึกเจ็บใจที่ยอมตัดใจ Cut loss ผิดจังหวะทุกครั้ง ทำให้เงินลงทุนลดลงไปเรื่อยๆ ดังนั้น ถ้าท่านรอได้ เพราะมีเงินลงทุนที่หนาพอ ก็ควรรอ ถ้ายังมั่นใจในทิศทางการลงทุนที่ได้ตัดสินใจไว้ตั้งแต่ต้นแล้ว

กรณีที่ท่านกำไร เช่น ตัวอย่าง และภาวะตลาด เป็นขาลง ซึ่งลงไปเกินจุด Take Profit ของที่ท่านตั้งใจไว้ แต่ท่านเกิดลังเล ยังไม่ต้องการปิดสถานะสัญญา ท่านอาจเลือกใช้วิธีขยับจุด Take Profit ไปเรื่อยๆ ในที่นี้กำหนดให้ราคาตลาดอยู่ที่ 450 จุด ท่านอาจขยับจุด Take Profit เป็นการตั้ง Stop Order ที่มีเงื่อนไข คือ "เมื่อราคา Last >/= 450.5 แล้วให้ Long ที่ 451.0 " เพื่อ Lock กำไร กรณีราคาดีดกลับ หากท่านใช้วิธีการนี้ไปเรื่อยๆ ในช่วงจังหวะขาลง โดยที่ท่านลงทุนไว้ถูกทางจริง ท่านก็สามารถทำกำไรได้มากกว่าที่ตั้งใจไว้

ทั้งหมดที่ดิฉันนำเสนอเป็นเพียงตัวอย่างวิธีหนึ่งที่ทำให้การลงทุนของท่าน ครอบคลุมความสามารถในการับความเสี่ยงของท่านได้ เพราะถ้าท่านลงทุนอย่างพอดีกับความเสี่ยงที่ท่านรับได้ โอกาสที่จะได้กำไรอย่างยั่งยืนก็จะมากขึ้นไปด้วยนะคะ

หากมีข้อสงสัย หรือต้องการเสริมความเข้าใจให้มากยิ่งขึ้น ท่านสามารถลงทะเบียนอบรมหลักสูตรต่างๆ ที่เกี่ยวกับอนุพันธ์ของ บล. ฟิลลิป ได้ที่ www.poems.in.th หรือสอบถามโดยตรงกับดิฉัน (ณภัทร์ ภัทรานิตฐ์ ผู้จัดการ ฝ่ายธุรกิจอนุพันธ์) โดยส่งคำถามของท่าน มาที่ Futures@phillip.co.th ค่ะ
กำลังโหลดความคิดเห็น