xs
xsm
sm
md
lg

ไทย-เขมรลงนามโอนผู้ต้องหา เรื่องชายแดนรอถกรอบหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 09.00 น. วานนี้ (5ส.ค.) ที่โรงแรมเซนทารา แกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ ได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการร่วม ว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (เจซี)ไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 6 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ โดยนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายไทย ขณะที่นายฮอร์ นัม ฮง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศของกัมพูชา เป็นหัวหน้าคณะกรรมาธิการฝ่ายกัมพูชา
ภายหลังการประชุมดังกล่าวเสร็จสิ้น รมว.ต่างประเทศของไทยและกัมพูชาได้ทำพิธีลงนามความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรกัมพูชา ว่าด้วยการโอนตัวผู้ต้องคำพิพากษาและความร่วมมือในการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญา (สนธิสัญญาโอนตัวนักโทษ) ซึ่งจะเสริมสร้างความร่วมมือด้านกระบวนการยุติธรรมระหว่าง 2 ประเทศให้มีความแนบแน่นยิ่งขึ้น และเพื่อประโยชน์ของผู้ต้องคำพิพากษาของแต่ละประเทศบนพื้นฐานของหลักมนุษยธรรม
จากนั้น นายกษิต และนายฮอร์ นัม ฮง ได้แถลงข่าวร่วมกันถึงผลการประชุมดังกล่าว โดยนายฮอร์ นัม ฮง กล่าวว่า การหารือในการประชุมดังกล่าวได้มีความเห็นด้วยและเห็นชอบในหลายประเด็น ทั้งความร่วมมือด้านการศึกษา การสาธารณสุข เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และด้านอื่นๆโดยหวังว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำบันทึกผลการประชุมครั้งนี้ไปใช้ต่อไป
นอกจากนี้ เนื่องจาก ขณะนี้กำลังมีวิกฤตทางเศรษฐกิจทั่วโลก เราจะเร่งให้มีการบังคับใช้การตรวจลงตราเข้าเมือง (วีซ่า)ร่วมกันในกลุ่มประเทศยุทธศาสตร์เพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ลุ่มน้ำอิรวดี เจ้าพระยา และแม่น้ำโขง (แอคเมคส์) หรือแอคเมคส์ ซิงเกิ้ล วีซ่า รวมทั้งยังเห็นพ้องถึงความร่วมมือในการพัฒนาเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำสตึงมนัม และสตึงเมตึ๊ก
รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา กล่าวอีกว่า อีกประเด็นที่สำคัญ คือ การเปิดจุดผ่านแดนถาวรแห่งใหม่บริเวณ จ.บันเตียเมียนเจย ของกัมพูชา และจ.สระแก้ว ของไทย ซึ่งกัมพูชาเสนอให้อยู่ในบริเวณสตัง บอต เนื่องจาก จุดผ่านแดนด่านปอยเปต มีความคับแคบ และมีผู้เดินทางเข้า-ออกจำนวนมาก ทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นชอบที่จะให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหารือร่วมกันเพื่อเปิดจุดผ่านแดนถาวรแห่งใหม่นี้ ซึ่งจะใช้เฉพาะการขนส่งสินค้า ส่วนด่านปอยเปต จะยังเปิดไว้สำหรับให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้า-ออก และเราจะยังเปิดจุดผ่อนปรนแห่งใหม่ ที่บ้านโนนหมากมุ่น อ.โคกสูง จ.สระแก้ว อีกทั้ง ที่ประชุมยังได้หารือถึงปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งที่ผ่านมามีชาวกัมพูชาจำนวนมากตกเป็นเหยื่อ โดยที่ประชุมเห็นชอบร่วมกันในการเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเพื่อป้องกันการค้ามนุษย์
นายฮอร์ นัม ฮง กล่าวว่า นอกจากนี้ ตนและนายกษิต ยังเห็นด้วยที่จะให้จัดการประชุมความร่วมมือสามเหลี่ยมมรกต ที่ประกอบด้วย ลาว กัมพูชา และไทย เพื่อให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่ดังกล่าว อีกทั้ง ในปี 2553 ทั้ง 2 ประเทศ จะร่วมกันจัดงานครบรอบ 60 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับกัมพูชา และในโอกาสเดียวกัน ทั้ง 2 ประเทศ อาจมีการยกเลิกการทำวีซ่าสำหรับหนังสือเดินทางธรรมดา ซึ่งจะทำให้การไปมาหาสู่ระหว่างกันทำได้ง่ายขึ้น และจะยิ่งทำให้ประชาชน 2 ประเทศเข้าใจกันและกันมากขึ้น
สำหรับปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชานั้น จะเร่งให้มีการประชุมคณะกรรมการเขตแดนเพื่อให้มีการแก้ปัญหาต่างๆในเรื่องนี้ ส่วนเรื่องการเก็บกู้ทุ่นระเบิด บริเวณชายแดน ทางคณะกรรมการชายแดนร่วมไทย-กัมพูชา
ด้านนายกษิต กล่าวว่า การประชุมดังกล่าว ประสบความสำเร็จด้วยดี และดำเนินไปได้ด้วยบรรยากาศของความเป็นมิตรที่ดีต่อกัน รวมทั้งสะท้อนความมุ่งมั่น ที่จะกระชับความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ใน 3 สาขาหลัก คือ 1. การศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม 2. เศรษฐกิจและการท่องเที่ยว 3.การเมืองและความมั่นคง ให้มีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมและเป็นผลประโยชน์โดยตรงต่อประชาชนชาวไทยและกัมพูชา
ทั้งนี้ ฝ่ายกัมพูชาขอบคุณที่รัฐบาลไทยจะให้ความช่วยเหลือในรูปแบบของเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรน มูลค่า 1,400 ล้านบาท เพื่อการปรับปรุงและพัฒนาถนนหมายเลข 8 โอเสม็ด-กรอลันห์ ที่จะต่อไปยังเมืองเสียมราฐของกัมพูชา ซึ่งจะเป็นโอกาสอันดีต่อการท่องเที่ยว และการพัฒนาด้านการค้าการลงทุนในภาคอีสานตอนใต้ ของไทยกับตอนเหนือของกัมพูชา แม้จะมีถนนเชื่อมเส้นทางต่างๆมากขึ้น แต่สิ่งที่จะต้องเป็นตัวสนับสนุนโดยเฉพาะ ทั้งจุดผ่านแดนถาวร และจุดผ่อนปรนต่างๆ ที่ต้องได้รับการขยาย และภาครัฐของ 2 ประเทศต้องให้บริการในการไปมาหาสู่และการทำมาหากินของประชาชนที่ต้องมีความสะดวกและความปลอดภัยมากขึ้น
นอกจากนี้ยังน่ายินดี ที่กัมพูชาตัดสินใจย้ายสถานกงสุลใหญ่กัมพูชาใน จ.สระแก้ว จาก อ.เมือง ไปยัง อ.อรัญประเทศ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพและความร่วมมือในการแก้ไขประเด็นชายแดนต่างๆ ขณะเดียวกัน ฝ่ายกัมพูชาได้รับทราบการที่ไทยจะเปิดสถานกงสุลใหญ่ไทยที่เมืองเสียมราฐ ของกัมพูชา
นายกษิต กล่าวด้วยว่า รัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศ ต้องการร่วมมือให้มีผลอย่างจริงจัง เพื่อความผาสุขของประชาชนทั้ง 2 ฝ่าย โดยสิ่งใดที่เป็นอุปสรรค เราจะเร่งรีบแก้ไขและทำด้วยความโปร่งใสให้ประชาชน และผู้แทนในรัฐสภาได้รับรู้
กำลังโหลดความคิดเห็น