xs
xsm
sm
md
lg

ดึงเงินสะสมอปท.แสนล.ปล่อยกู้รากหญ้าซื้อบ้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการรายวัน - สศค.เล็งดึงเงินอปท.ร่วมทำโครงการที่อยู่อาศัย ชง 2 สูตรการเข้าถึงแหล่งเงินของผู้มีรายได้น้อย เร่งผ่านกม.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ดึงรายได้เกือบแสนล.ตั้งธนาคารที่ดินและที่อยู่อาศัย หรือล้วงเงินสะสมอปท.จากมหาดไทยแสนล.ตั้งบรรษัทเงินทุนเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำระยะยาว ด้านสถาบันการเงิน-นักวิชาการ แนะสร้างวินัยการออมผ่านกองทุนฯ


นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)กระทรวงการคลัง กล่าวถึงแนวทางการเข้าถึงแหล่งเงินกู้สำหรับผู้มีรายได้น้อย ที่ต้องการมีบ้านเป็นของตนเองว่า ที่ผ่านมา ทำได้ยากลำบากและไม่ทั่วถึง เนื่องจากรัฐบาลมีงบประมาณที่จำกัด และเป็นผู้ดำเนิน การและจัดทำโครงการด้านที่อยู่อาศัยเอง แต่กลับไม่ได้มีการผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)เข้ามามีส่วนร่วม ทั้งที่อปท.เป็นหน่วยงานที่มีข้อมูลและอยู่ใกล้ชิดกับประชาชนในท้องถิ่นมากที่สุด
แต่อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า รายได้จากการจัดเก็บภาษีของอปท. ทำได้ไม่เต็มอัตรา ทั้งนี้ หากรัฐบาลผลักดันให้สภาผู้แทนราษฎร ผ่านกฎหมายการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้ จะทำให้ในระยะ 5-10 ปี หน่วยงานท้องถิ่นจะสามารถมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีมากกว่า 90,000 ล้านบาท ซึ่งในเบื้องต้น รายได้จากการจัดเก็บภาษีดังกล่าว จะมีการจัดสรรเงินบางส่วน เพื่อจัดตั้งธนาคารที่ดินและที่อยู่อาศัย เข้าไปดูแลการการพัฒนาที่อยู่อาศัยของประชาชน
นอกจากนี้ แนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้มีรายได้น้อย สามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้ง่ายและทั่วถึง ซึ่งทางสศค.เคยนำเสนอให้มีการนำเงินสะสมของอปท.ที่กระทรวงมหาดไทยดูแลอยู่กว่าแสนล้านบาท นำมาจัดตั้งเป็นบรรษัทเงินทุนเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งสามารถนำมาปล่อยกู้และผลักดันโครงการที่อยู่อาศัยได้ ซึ่งแน่นอนสามารถช่วยให้ผู้มีรายได้น้อย เข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำได้แน่นอน
ทั้งนี้ ในปัจจุบันแหล่งเงินกู้ของประชาชนผู้มีรายได้น้อย ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือเงินที่ได้รับการอุดหนุนจากงบประมาณของรัฐบาล และเงินกู้จากสถาบันการเงิน โดยในส่วนแรกที่ได้รับจากรัฐบาล เป็นแหล่งเงินที่เข้าถึงประชาชนโดยผ่านหน่วยงานรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ ที่รับผิดชอบโครงการอยู่แล้ว แต่ในภาวะปัจจุบัน ที่งบประมาณของรัฐบาลมีจำกัด ทำให้ไม่สามารถรองรับความต้องการของประชาชนผู้มีรายได้น้อย
ส่วนการเข้าถึงแหล่งเงินกู้จากสถาบันการเงินนั้น ต้องพิจารณาให้ครอบคลุมด้วยว่าสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้มีรายได้น้อยกลุ่มใดบ้าง ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ กลุ่มผู้มีรายได้น้อยมาก กลุ่มนี้มีรายได้พอเลี้ยงชีพวันต่อวันเท่านั้น ทำให้ไม่มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินจากสถาบันการเงินโดยสิ้นเชิง
กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มผู้มีรายได้น้อย โดยจะเป็นกลุ่มผู้มีงานทำ มีรายได้ประจำแต่มีรายได้ที่ต่ำ กลุ่มนี้หากต้องกู้เงินจากสถาบันการเงินต้องได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล และกลุ่มสุดท้าย คือ ผู้มีรายได้พอสมควร เพียงแต่หากมีการเก็บเงินออมไว้ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องพึ่งพาเงินอุดหนุนจากรัฐบาล
“ การเข้าถึงแหล่งเงินของกลุ่มสุดท้ายนั้น จำเป็นต้องสร้างวินัยในการออมให้เกิดในกลุ่มประชาชนผู้มีรายได้น้อย ก่อนดำเนินการขอเงินกู้จากสถาบันการเงิน ต้องยอมรับก่อนว่าในช่วงแรก ไม่จำเป็นต้องเร่งรีบมีบ้านเป็นของตนเอง แต่ให้ใช้ระบบการมีบ้านเช่นและเก็บออมเงินก่อนการกู้ยืม เพียงแต่เงินออมดังกล่าว ต้องได้รับการสนับสนุนเงินสมทบจากรัฐบาล ในรูปแบบเดียวกับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับกลุ่มผู้ชรา ที่มีการฝากเงินเข้ากองทุนฯ และรัฐจะสมทบเงินฝากให้ในทุกๆเดือน เช่น ฝาก 100 บาท รัฐสมทบให้ 50 บาท โดยในส่วนนี้ประชาชนจะสามารถกู้เงินดอกเบี้ยต่ำจากองทุนได้ แต่ต้องอาศัยระยะเวลา ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินที่ฝากเข้ากองทุน ” นายสมชัย กล่าวและว่า
นอกจากนี้ การแสวงหาหลักประกัน หรือการค้ำประกันของทั้ง2 ฝ่าย คือ ผู้กู้และสถาบันการเงิน โดยสามารถประกันการเกิดหนี้เสีย และประกันรายจ่ายให้แก่ประชาชนที่จะผ่อนจ่ายเงินกู้แก่สถาบันการเงิน โดยกรมประกันภัยต้องมีบทบาทดูแลเรื่องหลักประกันให้แก่ผู้มีรายได้น้อยที่ต้องการกู้เงินซื้อบ้าน

***แนะรัฐสมทบเงินผ่านกองทุนฯ
นายกิตติ พัฒนพงศ์พิบูล ประธานกรรรมการสมาคมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย กล่าวว่า ปัจจุบันต้นทุนการเงินและการบริหารความเสี่ยงหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) ของสถาบันการเงินมีสูงมาก ทำให้การปล่อยกู้สินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยต่ำคงทำไม่ได้ แต่การส่งเสริม ให้เกิดการเข้าถึงแหล่งเงินของผู้มีรายได้น้อยนั้น สามารถดำเนินการได้โดยการสร้างวินัยการออมให้แก่ประชาชน
ซึ่งแน่นอนว่าผู้มีรายได้น้อยนั้น จะต้องใช้ระยะเวลาในการออมที่นาน 10 ปี หรือ 20 ปี แต่หากรัฐบาลเข้ามาสนับสนุนวางนโยบายเรื่องการออมให้แก่ประชาชน โดยให้เงินสมทบสำหรับผู้ออมผ่านกองทุนที่อยู่อาศัย เช่นเดียวกับกองทุนเลี้ยงชีพของคนชรา ก็จะสามารถเพิ่มโอกาสการซื้อที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยสูงขึ้น
“ การที่จะทำให้ระบบการเงิน ปรับตัวเข้าหากลุ่มผู้มีรายได้น้อยหรือผู้กู้ ทำได้ลำบากเนื่องจากติดปัญหาต้นทุนการเงินและหนี้เสีย แต่สิ่งที่สามารถทำได้ คือ ผู้ก็ต้องปรับตัวเข้าสาระบบการเงิน ด้วยการสร้างวินัยการออมให้แก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อย ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินการ”
***ธอส.เสนอดึงรูปแบบสหกรณ์กู้เงิน
นายขรรค์ ประจวบเหมาะ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวยอมรับว่า กลุ่มลูกค้าผู้มีรายได้น้อยอาจทำได้ยากในการเข้าถึงแหล่งเงินของธนาคารฯ เนื่องจากต้นทุนการเงินที่สูง ทำให้ขอบเขตหรือข้อจำกัดของกลุ่มลูกค้าของธอส. จะเป็นผู้มีรายได้ระดับกลางและรายได้น้อยที่มีเงินออม แต่หากเป็นการรวมกลุ่มกันในรูปแบบเดียวกับสหกรณ์ เพื่อขอเงินกู้ในโครงการบ้านมั่นคงซึ่งสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.)รับผิดชอบ จะสามารถทำให้ผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้มากขึ้น
นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ฝ่ายวิจัยนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวมสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า สถาบันการเงินในประเทศ ยังไม่มีการพัฒนาอย่างดีพอ แต่เชื่อว่า หากมีการพัฒนาที่ดีพอแล้ว จะสามารถปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำระยะยาวได้
ดังนั้น แนวทางที่จะเสนอ คือ การออมผ่านกองทุนต่างๆ โดยรัฐบาลต้องเป็นผู้ริเริ่ม โดยอาจจะลงทุนด้วยการออกพันธบัตรระยะยาว แล้วนำเงินมาจัดตั้งกองทุน เปิดโอกาสให้ผู้มีรายได้น้อยฝากเงินออม เพื่อนำไปทำกำไรสร้างรายได้และนำมาปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำให้แก่ ประชาชนผู้มีรายได้น้อยได้
ส่วนที่สศค. เสนอให้ดึงอปท.เข้ามามีส่วนร่วมนั้น นายสมชัย กล่าวว่า ต้องพิจารณาอย่างละเอียด เนื่องจากอปท.และองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) มีศักยภาพที่ไม่สูงพอ แต่หน่วยงานที่น่าจะเข้ามาดูแล้วได้ คือ เทศบาล เนื่องจากเป็นองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีศักยภาพมากพอ
***พม.ให้กู้ก้อนแรกพันล้านส.ค.นี้
นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลเพิ่มเงินให้กองทุนสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) จำนวน 1,000 ล้านบาท เพื่อปล่อยสินเชื่อให้ผู้มีรายได้น้อย ในการซื้อที่อยู่อาศัยและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
ทั้งนี้ คาดว่าเงินก้อนแรกจะเริ่มนำมาปล่อยสินเชื่อให้ประชาชนเดือนสิงหาคมนี้เป็นต้นไป หลังจากก่อนหน้านี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบประมาณให้พอช. วงเงิน 6,000 ล้านบาท ดำเนินโครงการ 6 ปี ๆ ละ 1,000 ล้านบาท โดย พอช.จะคิดดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี นาน 15 ปี โดยจะให้คณะกรรมการชุมชน เป็นผู้พิจารณาการปล่อยกู้ ให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยในชุมชนของตนเอง วงเงินไม่เกิน 10 เท่าของเงินออมของแต่ละราย หรือสูงสุดไม่เกิน 3 แสนบาท คาดว่าจะช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่ต้องการที่อยู่อาศัย แต่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินจากสถาบันการเงิน เนื่องจากมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ตามที่ธนาคารกำหนด และหากธนาคารของรัฐต้องการเข้ามาร่วมโครงการก็ได้ แต่ต้องใช้เงื่อนไขเดียวกับ พอช.
“ รัฐบาลจะแบ่งงบประมาณจากโครงการไทยเข้มแข็ง 6,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนซื้อที่อยู่อาศัย โดยจะเน้นประชาชนในชุมชนแออัดเขตเมืองทั่วประเทศที่ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุดก่อน เนื่องจากโครงการดังกล่าวประเมินแล้วว่า จะช่วยแก้ปัญหาให้ผู้มีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัยได้เพียง 6แสนครอบครัวเท่านั้น จากที่ประเมินว่า มีผู้มีรายได้น้อยต้องการที่อยู่อาศัย 1 ล้านครอบครัว หากปีต่อไปไม่มีเงินเพียงพอ หรือช่วยเหลือประชาชนได้ไม่กี่ราย จะตั้งงบประมาณประจำปีแทน” นายอิสสระ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น