ศูนย์ข่าวเชียงใหม่- ภาวะการท่องเที่ยวของเชียงใหม่ไม่กระเตื้อง แม้มีการจัดกิจกรรมกระตุ้นการท่องเที่ยวที่หลากหลาย แม้แต่งานเชียงใหม่แกรนด์เซลล์ที่หวังโกยเงินไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาทอาจไม่ถึงฝั่ง เหตุยังไม่ลดกระหน่ำซัมเมอร์เซลล์อย่างที่คิด แถมผู้ประกอบการติงติดต่อเข้าร่วมโครงการกระชั้นชิดเตรียมการไม่ทัน ส่งผลโรงแรมและสถานบันเทิงหลายแห่งส่อปิดกิจการ เผยขณะนี้มีตัวเลขโรงแรมที่ต้องการขายไม่ต่ำกว่า 100 แห่งมูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท
นายณรงค์ คองประเสริฐ์ ประธานหอการค้า จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่เริ่มซบเซาตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมือง เศรษฐกิจโลก รวมทั้งสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวในปีนี้ลดลงไม่ต่ำกว่า 30 % ส่งผลให้รายได้ของทั้งจังหวัดเชียงใหม่ที่ควรจะได้จากการท่องเที่ยวลดลงถึง 30 % เช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ประธานหอการค้าเชียงใหม่ มองว่าสถานการณ์การท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ เริ่มมีสัญญานดีขึ้น จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาชมความน่ารักของแพนด้าน้อยในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ทั้งนี้เชื่อว่างบประมาณที่ได้รับจัดสรรจากรัฐบาล จำนวน 18,600 ล้านบาทในช่วงแรก จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เศรษฐกิจในจังหวัดเชียงใหม่ปรับตัวดีขึ้นได้ ภายในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้
ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวด้วยว่า จากการหารือกับภาคเอกชน พบว่าส่วนใหญ่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือผู้ประกอบการในพื้นที่ โดยเฉพาะธุรกิจการท่องเที่ยวขนาดกลางขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) ที่กำลังประสบปัญหาด้านสภาพคล่อง ด้วยการผ่อนปรนเงื่อนไขการกู้เงินจากสถาบันการเงินของภาครัฐ เพื่อให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น
ด้านนายวรพงษ์ หมู่ชาวใต้ อุปนายกฝ่ายการตลาดสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ขณะนี้ถือว่าเป็นภาวะวิกฤตที่สุดของธุรกิจโรงแรมของจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีกระแสข่าวการขายโรงแรมในเชียงใหม่มาอย่างต่อเนื่อง มีโรงแรม ตั้งแต่ระดับล่าง-5 ดาวประกาศขายกิจการมากถึง 124 แห่ง ประมาณ 80% เป็นโรงแรมระดับกลาง-ล่างที่มีขนาดการลงทุนไม่ถึง 100 ล้านบาท ส่วนอีก 20% เป็นโรงแรมที่มีขนาดการลงทุนเกิน 200 ล้านบาท ซึ่งมีโรงแรมหรูระดับ 5 ดาวประกาศขาย 2-3 แห่ง
วิธีการขายนั้น จะใช้หลายช่องทางทั้งการขายตรงโดยเจ้าของเอง ขายผ่านนายหน้า ขายผ่านสถาบันการเงินกรณีที่ติดเอ็นพีแอล และขายผ่านเว็บไซต์
รูปแบบการซื้อขายมีทั้งเปลี่ยนมือ และการหาผู้ร่วมทุน ซึ่งกลุ่มทุนต่างชาติที่สนใจเข้ามาซื้อกิจการโรงแรมในเชียงใหม่ ได้แก่ ญี่ปุ่นและสิงคโปร์ ส่วนใหญ่จะตั้งราคา ขายไม่สูงมากนัก เพราะเจ้าของโรงแรมต้องการขายจริงๆ เนื่องจากขาดสภาพคล่อง และติดเอ็นพีแอล คาดว่าโรงแรมทั้ง 124 แห่งที่ประกาศขายมีมูลค่าประมาณ 2 หมื่นล้านบาท
ที่ผ่านมามีการลงทุนในกิจการโรงแรมเพิ่มมากขึ้นจนอยู่ในขั้นล้นตลาดหรือโอเวอร์ซัปพลายในปี 2551 มีห้องพัก 25,870 ห้อง แบ่งเป็นโรงแรม 5 ดาว 2,012 ห้อง โรงแรม 4 ดาว 6,676 ห้อง ระดับ 3 ดาว 6,304 ห้อง ระดับ 2 ดาว 2,619 ห้อง ที่เหลือประมาณ 4,700 ห้อง เป็นโรงแรมระดับ 1 ดาว หรือไม่มีดาว ปัจจุบันมีห้องพักในตลาดมากกว่า 3 หมื่นห้อง
“โรงแรมบางแห่งการซื้อขายค่อนข้างลำบากเนื่องจากมีมูลค่าค่อนข้างสูงจึงใช้วิธีปรับโครงสร้างหนี้บ้าง บางแห่งก็ใช้วิธีให้เช่าคือให้นักลงทุนเข้ามาเช่าบริหารต่อไปแต่ก็มีจำนวนน้อยมาก ส่วนใหญ่ต้องการขายมากกว่า”นายวรพงษ์กล่าว
นอกจากธุรกิจโรงแรมแล้ว สถานบันเทิงและร้านอาหารในตัวเมืองเชียงใหม่หลายแห่งเริ่มทยอยปิดกิจการมีทั้งประกาศขาย เซ้ง และให้เช่ากันเป็นจำนวนมาก แหล่งข่าวจากชมรมภัตตาคารร้านอาหารและบันเทิง กล่าวว่า สาเหตุใหญ่ ๆ ที่มีการปิดกิจการกันจำนวนมากเป็นเพราะบางร้านมีสายป่านที่ไม่ยาวพอและส่วนใหญ่จะเป็นการเช่าเสียมากกว่า เมื่อภาวะเศรษฐกิจไม่ดีเปิดกิจการไปก็หมดลงที่ค่าเช่าซึ่งไม่คุ้ม
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาอีกมากมาย ทั้งภาษี ค่าลิขสิทธิ์ ยังไม่นับรวมต้นทุนอื่น ๆ ภาวะเช่นนี้ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายต้องหยุดกิจการกันไป แต่หวังว่าเมื่อถึงช่วงไฮซีซันผู้ประกอบการร้านอาหารก็น่าจะกลับมาอีกครั้งหนึ่งซึ่งจะว่าไปแล้วแม้จะเป็นวัฏจักร แต่คราวนี้ค่อนข้างรุนแรงที่สุด
“เชียงใหม่แกรนด์เซลล์”กร่อยไม่ลดอย่างคาด
งานเชียงใหม่แกรนด์เซลล์หรืองานม่วนก๋าย ม่วนใจแอ่วเชียงใหมแกรนด์เซลล์ โครงการที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมกับภาคธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว จัดขึ้นเพื่อกระตุ้นการจับจ่ายสินค้า ซึ่งเริ่มโครงการตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม ที่ผ่านมา และสิ้นสุดวันที่ 2 สิงหาคม
ปรากฏว่า เท่าที่มีการสอบถามบรรดาผู้ประกอบการร้านค้าหลายแห่ง โดยเฉพาะที่บ้านบ่อสร้าง ตำบลต้นเปา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีประมาณ นับร้อยร้าน โดยเข้าร่วมในช่วงประมาณ 1 เดือนที่เหลือ หลังจากมีการจัดโครงการนี้มา ตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ปรากฏว่าร้านค้าหลายแห่งไม่ได้มียอดขายที่กระเตื้องขึ้นเท่าไหร่นัก
สาเหตุเพราะมีการประชาสัมพันธ์และมีการชักชวนให้เข้าโครงการกระชั้นชิดมาก ร้านค้าบางแห่งไม่รู้ข้อมูลหรือรายละเอียดของโครงการนี้เลยว่าเป็นมาอย่างไร และจะต้องลดราคาเพื่อเป็นแรงจูงใจให้แก่นักท่องเที่ยวให้สมกับชื่อโครงการจำนวนเท่าไหร่
นอกจากนี้จากการสำรวจของ ASTV ผู้จัดการรายวัน พบว่า ราคาค่าห้องพักของโรงแรมหลายแห่งในเชียงใหม่ไม่ได้มีการลดราคามากมายนัก โดยมีการลดราคาระหว่าง 20-40 % เท่านั้น ซึ่งไม่แตกต่างไปจากราคาของช่วงโลว์ซีซันของแต่ละปีจะมีการลดราคาในระดับนี้กันอยู่แล้ว
“จะมีบางช่วงเท่านั้นที่ดูเหมือนเชียงใหม่จะคึกคักเป็นพิเศษเฉพาะช่วงที่มีการโปรโมทแพนด้าน้อยนี้เท่านั้นแต่กลุ่มนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ก็เป็นคนไทยและอยู่ในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงเท่านั้น ฉะนั้นมูลค่าการใช้จ่ายจะอยู่เฉพาะในส่วนของสวนสัตว์เท่านั้น โรงแรมจะไม่ค่อยได้อานิสงส์ในส่วนนี้เท่าไหร่”ผู้ประกอบการด้านโรงแรมกล่าว