xs
xsm
sm
md
lg

เถ้าแก่โรงสีข้าวพิจิตรถอดใจขายกิจการ ประเมินมูลหนี้NPL ไม่ต่ำกว่า 3 พันล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พิจิตร-ผู้ประกอบการโรงสีข้าวทั่วประเทศพากันปิดกิจการไม่ต่ำกว่า 100 แห่ง ลูกหนี้NPL หมดทางทำมาหากิน ธ.ก.ส.ตัดหางปล่อยวัดตัดสิทธิ์ใบประทวน ด้านเถ้าแก่เมืองชาละวันประกาศเร่ขายกิจการหวังปลดหนี้ที่รวมมูลค่ากันแล้วไม่ต่ำกว่า 3 พันล้านบาท ด้านเอสเอ็มอีแบงก์ยื่นมือเข้าช่วยแบบเสียไม่ได้ โดยเน้นปล่อยสินเชื่อเพื่อลดต้นทุน และเลือกเฉพาะโรงสีที่มีศักยภาพเท่านั้น

แหล่งข่าวจากสมาคมโรงสีข้าวแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์โรงสีข้าวในประเทศไทยขณะนี้ว่า อยู่ในภาวะที่วิกฤตที่สุดมีจำนวน มีโรงสีที่ปิดกิจการไปแล้วไม่ต่ำกว่า 100 แห่ง โดยเฉพาะที่จังหวัดพิจิตรเองมีเกือบ 50 แห่ง โดยสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเจ้าของโรงสีกู้เงินจากสถาบันการเงินมาแล้วบางรายนำเงินไปใช้ผิดประเภท ,บางรายเปิดโรงสีเพื่อบังหน้าโดยเป็นการฟอกเงินบ้าง หรือบางรายก็มีข้อหาติดตัว ในกรณีลักลอบนำข้าวออกจากโกดังอย่างที่เป็นข่าวไปแล้ว

ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ได้ส่งผลให้โรงสีทั้งที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL ) และโรงสีที่มีข้อหาติดตัวไม่สามารถเข้าไปในโครงการรับจำนำข้าวของภาครัฐได้ หรือแม้แต่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส )เองก็ไม่ยอมออกใบประทวนให้ ในที่สุดก็ต้องพากันปิดตัวลง ซึ่งขณะนี้มีการประเมินกันว่ามูลค่าความเสียหายที่เกิดแก่โรงสีเหล่านี้ โดยเฉพาะที่จังหวัดพิจิตรมีไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท

“ตอนนี้โรงสีเล็ก ๆ หรือโรงสีที่ยังต้องให้ความช่วยเหลือลูกจ้างหรือพนักงานอยู่ ก็ต้องดิ้นรนโดยการขอความช่วยเหลือจากโรงสีขนาดใหญ่ ทั้งเรื่องออกใบประทวนและบางรายก็ขอฝากฝังลูกจ้างบ้างพนักงานบ้างหรือไม่ก็คอยรับงานต่ออีกทอดหนึ่ง ด้วยการเปิดเป็นจุดย่อยหรือช่วยแปรรูปข้าวนอกสต๊อกจำนำ”แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวต่อไปอีกว่า แม้ขณะนี้มีโรงสีข้าวเกือบทั่วประเทศที่ปิดตัวไปแล้วเป็นจำนวนมาก แต่มีเจ้าของโรงสีข้าวจำนวนไม่น้อยที่กำลังอยู่ในระหว่างติดต่อประกาศขายกิจการ โดยเฉพาะโรงสีที่เคยเป็นสมาชิกของสมาคมฯแถบภาคเหนือ เช่น ที่จังหวัดพิจิตร ซึ่งมีกระแสข่าวออกมาเป็นระยะ ๆ ว่ากำลังมีการติดต่อซื้อขายกันไม่ต่ำกว่า 4-5 โรง โดยมีมูลค่าไม่ต่ำกว่าโรงละ 100 ล้านบาท ราคาของโรงสีขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่และทำเล แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นโรงสีขนาดกลางและเล็ก โดยทำเลค่อนข้างจะห่างไกลจากตัวเมืองหรือถนนหลักพอสมควร

“คาดว่าหลังจากนี้จะมีโรงสีข้าวที่เหลืออยู่และประกอบการอย่างจริงๆ จัง ๆไม่มากนัก เนื่องจากต้องประสบปัญหาหลายอย่างไม่เฉพาะแต่ดอกเบี้ยของสถาบันการเงินท่านั้น แต่รวมไปถึงต้นทุนทั้งน้ำมัน ค่าแรงล้วนเป็นต้นทุนที่ไม่มีคำว่าลง การทำธุรกิจทุกวันนี้ไม่ง่ายเหมือนในอดีตอีกแล้ว ซึ่งเถ้าแก่โรงสีจำนวนมากตอนนี้ ก็พากันพูดคุยเชิงประชดประชันกันแล้วว่า ใครมาซื้อก็ขายไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือต่างชาติ”

ทางด้านนายบรรจง ตั้งจิตรวัฒนากูล ประธานชมรมโรงสีข้าว จ.พิจิตรกล่าวว่า ชมรมฯเองได้ทำการช่วยเหลือสมาชิกของชมรมทุกวิถีทาง แต่เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันรวมทั้งสถาบันการเงินเองก็ไม่ยอมปล่อยสินเชื่อง่าย ๆ จึงต้องร้องขอความช่วยเหลือจากภาครัฐ ว่าควรจะหันมาให้ความสนใจในเรื่องนี้บ้าง นอกจากนี้ ในช่วงเข้าพรรษานี้ โรงสี 15 แห่ง และสหกรณ์ 4 แห่ง ในจังหวัดพิจิตรไม่มีการหยุดกิจการแต่อย่างใด โดยยังคงเปิดรับซื้อและจำนำข้าวจากชาวนาตามปกติ

ทั้งนี้ เพราะผู้ส่งออกยังคงมีความต้องการข้าวเพื่อการส่งออกไปยังประเทศมาเลเซีย และฟิลิปปินส์ รวมทั้งมีการสั่งซื้อเข้ามาใหม่จากประเทศไนจีเรีย ที่สั่งซื้อข้าวสารมาอีก 1.3 ล้านตัน ซึ่งทั้งหมดนี้น่าจะส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกมีการขยับตัวสูงขึ้น และคาดว่าในเร็วๆ นี้จะกลายเป็นโอกาสทองของชาวนา ที่จะสามารถขายข้าวเปลือกได้ในราคาที่สูงกว่าตันละ 1.4 หมื่นบาท โดยคาดว่าต้นเดือนสิงหาคมนี้ราคาข้าวเปลือกน่าจะเริ่มขยับสูงขึ้น ซึ่งต่อจากนี้ชาวนาจะสามารถเลือกได้ว่าจะขายข้าวเงินสดหรือจะนำเข้าโครงการรับจำนำ

สำหรับกระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี นายบรรจง แสดงความเห็นว่า การเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ น่าจะส่งผลดีในหลายประการโดยเฉพาะต่อการส่งออกข้าว อีกทั้งโรงสีในภูมิภาคมีการรวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง เพื่อจะรวมกลุ่มกันทำตลาดขายสินค้าล่วงหน้าเพื่อประลองกำลังกับกลุ่ม 5 เสือผู้ส่งออก จึงทำให้วงการค้าข้าวในประเทศไทยมีความต้องการซื้อข้าวมากขึ้นและเก็บไว้ในมือ

ส่งผลให้ 5 เสือผู้ส่งออก อาจจะกลายเป็นเสือลำบาก เพราะมีคำสั่งซื้อเพื่อจัดหาข้าวสารเพื่อการส่งออกแต่ไม่มีข้าวสารอยู่ในมือ จึงทำให้กลุ่มโรงสีมีอำนาจต่อรองจนทำให้ราคาข้าวขยับขึ้นราคาดังกล่าว ซึ่งเป็นผลดีต่อชาวนาที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ แต่ประชาชนกลุ่มน้อย เช่น ผู้ใช้แรงงาน และ มนุษย์เงินเดือนต้องได้รับผลกระทบจากการซื้อข้าวสารมาบริโภคในราคาแพงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งปัญหาข้อนี้เป็นการบ้านให้รัฐบาลต้องตอบโจทย์ต่อไป

ด้านนายจรินทร์ เฮียงกุล ผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจฯหรือ SME BANK เขต 2 กล่าวว่าทางธนาคารฯได้มีนโยบายเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการโรงสีข้าวในจังหวัดพิจิตรโดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้เรียกผู้ประกอบการโรงสีและกลุ่มผู้ประกอบการ OTOP ของจังหวัดพิจิตร ซึ่งมีผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายย่อยกว่า 50 รายเข้าร่วมโครงการ “ขยายฐานสินเชื่อ” โดยให้โรงสีต่างๆของจังหวัดพิจิตรที่ดำเนินกิจการกว่า 30 รายให้หันมาใช้พลังงาน NGVให้มากขึ้น ทั้งในรถบรรทุกและเครื่องจักรกล โดยธนาคารจะสนับสนุนสินเชื่อให้สูงสุดถึง 100 ล้านบาทในกิจการที่มีศักยภาพ

นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าด้วยพลังงานทดแทนต่างๆ เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานแกลบ โดยใช้วัสดุที่เหลือจากการสีข้าวมาเป็นวัตถุดิบ สร้างพลังงานไฟฟ้าใช้ในกิจการของตนเอง อันจะเป็นการลดต้นทุนและประหยัดพลังงาน ซึ่งเป็นทางเลือกใหม่อีกทางหนึ่งที่น่าสนใจ

ขณะที่ ในกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยอย่างกลุ่ม OTOP ของจังหวัดพิจิตร ที่เคยซบเซาและปิดกิจการไปหลายแห่ง ก็มีโครงการให้กู้ยืมและขยายฐานสินเชื่อให้มากขึ้น เพื่อพลิกฟื้นธุรกิจของการลงทุนในจังหวัดพิจิตรและภาคเหนือให้กลับมาฟื้นคืนชีพอีกครั้ง และยังรวมถึงจะสนับสนุนให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการรถบรรทุกและรถรับจ้างที่ต้องการเปลี่ยนเครื่องยนต์มาใช้พลังงานก๊าซ NGV ก็สามารถกู้ยืมได้ด้วยเช่นกัน

“การที่เอสเอ็มอีแบงก์ยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แม้ว่าจะเน้นให้สินเชื่อในเรื่องของการติดตั้งถังแก๊ส เพื่อลดต้นทุน ซึ่งก็ถือเป็นปัญหาใหญ่ของโรงสีเหมือนกัน เพราะทุกวันนี้เฉพาะค่าน้ำมันดีเซลในการขนข้าวในแต่ละเที่ยวก็มีมูลค่าเกือบครึ่งของต้นทุนทั้งหมด”
กำลังโหลดความคิดเห็น