xs
xsm
sm
md
lg

ส.ส.เดินหน้าแก้รธน. 40 ส.ว.ให้ฟังประชาชนก่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) แถลงภายหลังการประชุมว่า ได้มีการหารือเพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดประชุมสภาสมัยนิติบัญญัติในวันที่ 1 ส.ค.นี้ นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ยืนยันพ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 (ฉบับที่ 5) และพ.ศ.2552 ตามมาตรา 184 ของรัฐธรรมนูญ โดยวิปรัฐบาลมีมติส่งเข้าที่ประชุม ครม.ในวันอังคารที่ 4 ส.ค. เพื่อยืนยันต่อรัฐสภาต่อไป
ทั้งนี้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 ได้กำหนดไว้ว่า ในกรณีเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในด้านเศรษฐกิจของประเทศ หรือเป็นการป้องภัยพิบัติสาธารณะ โดยพระมหากษัตริย์จะทรงลงตราพระราชกำหนด ใช้บังคับ ดั่งเช่นพระราชบัญญัติก็ได้
นายชินวรณ์ กล่าวด้วยว่า วิปรัฐบาลได้รับรายงานจากคณะกรรมการสมานฉันท์ เพื่อการปฏิรูปการเมือง และศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยได้นำรายงานมาให้ตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาลได้ศึกษารายงานฉบับนี้ ซึ่งที่ประชุมเห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ โดยในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ วิปรัฐบาลเห็นว่า ประธานสภาที่เป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ จะรับไปดำเนินการตามแนวทางที่ได้เสนอเอาไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ควรดำเนินการเรื่องความสมานฉันท์ การปฏิรูปการเมือง และการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญควบคู่กันไป
ทั้งนี้ เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เห็นว่าถ้ารัฐสภารับเรื่องนี้ไปเพื่อให้สมาชิกรัฐสภาได้แสดงความคิดเห็น หากมีความเห็นว่า ต้องการแก้ไข ตามนัยยะของมาตรา 291 ที่ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อดำเนินการปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งระยะสั้น กลาง ยาว
เมื่อถามว่า วิปรัฐบาลได้หารือเรื่องประชามติหรือไม่ นายชินวรณ์ กล่าวว่ายังไม่ถึงขั้นนั้น เพียงแต่เราเห็นว่า ต้องการให้เรื่องนี้มีความคืบหน้า เมื่อถามว่าได้มีการหารือประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า จะมีประเด็นอะไรบ้าง นายชินวรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้เพียงแต่เห็นว่าข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ เป็นข้อเสนอที่ทุกฝ่ายรับได้ ส่วนกระบวนการและวิธีการก็ต้องเป็นไปตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยุ่กับกระบวนการที่ประธานสภาจะรับเรื่องนี้ไว้ดำเนินการ เช่น อาจนำไปสู่การพิจารณาของสมาชิกรัฐสภา หลังจากนั้นหากมีความเห็นอย่างไร ก็ต้องเคารพความเห็นนั้น
เมื่อถามว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องผ่านความเห็นก่อนใช่หรือไม่ นายชินวรณ์ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับประธานสภา เพราะเป็นคนแต่งตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ เมื่อถามว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ 2 หรือคณะกรรมการอื่น เพื่อถ่วงเวลาอีกหรือไม่ ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า ตลอดเวลาไม่มีใครต้องการถ่วงเวลา แต่เราต้องการให้กระบวนการในการดำเนินการได้ดำเนินการควบคู่กันไป
เมื่อถามต่อว่าข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ มีเรื่องของนิรโทษกรรมหรือไม่ นายชินวรณ์ กล่าวว่า ยังไม่มีการพูดถึงเรื่องอื่น นอกจากกรอบข้อเสนอแนะ โดยในรายละเอียดได้มอบหมายให้แต่ละพรรคนำไปปรึกษาหารือกันในพรรคตัวเองด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่าหากประธานสภาเห็นว่าควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ วิปรัฐบาลจะรวบรวมรายชื่อและยื่นตาม มาตรา 291 เลยหรือไม่ ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่าเป็นเรื่องของสภา ขณะนี้ต้องรอมติของสมาชิกรัฐสภา ว่ามีความเห็นอย่างไร
ด้านพ.ต.ท.สมชาย เพศประเสริฐ ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมคณะทำงานด้านยุทธศาสตร์ของพรรคว่า ในวันที่ 5 ส.ค.ที่จะประชุมสภานัดแรก ตนจะลุกขึ้นพูดถึงความสมานฉันท์ โดยให้เร่งหยิบยกพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ ที่บรรจุระเบียบ ลำดับที่วาระที่ 6 นอกจากนี้ ขอให้นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาฯ เร่งพิจารณาผลสรุปของคณะกรรมการสมานฉันท์ ที่เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย รัฐบาลสามารถบริหารประเทศต่อไปได้โดยไม่สะดุด เรื่องนี้จะวัดความจริงใจของรัฐบาลด้วย
อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทยจะประสานกับพรรคร่วมรัฐบาล ให้เร่งผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญ เชื่อว่าจะได้รับความร่วมมือ เพราะทุกฝ่ายเห็นปัญหาเหมือนกันว่าถ้าไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเทศชาติก็ไม่สามารถสร้างความปรองดองได้

**40 ส.ว.ให้ฟังปชช.ก่อนแก้รธน.
นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา แกนนำกลุ่ม 40 ส.ว. กล่าวว่า ขอเรียกร้องนายกรัฐมนตรีว่า การจะดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยไม่ฟังเสียงประชาชน ฟังแต่เสียงนักการเมืองอย่างเดียวไม่ได้ นักการเมืองต้องเคารพกฎหมาย โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ไม่พอใจกฎหมายข้อไหนที่ตัวเองเสียประโยชน์ ก็รวมตัวกันแก้ไขให้เป็นประโยชน์กับพวกตน แบบชงเองกินเอง โดยไม่เคารพกฎหมายเดิมที่บัญญัติไว้ หากแก้ไขตามความต้องการของนักการเมืองฝ่ายเดียว แล้วนายกฯ จะเรียกร้องให้ประชาชนเคารพกฎหมายได้อย่างไร จึงอยากเสนอให้มีการรับฟังความเห็นจากประชาชนใน 2 ข้อ คือ
1.ประชาชนจะเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นประโยชน์เฉพาะนักการเมือง หรือจะแก้เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนโดยตรง
2. ข้อเสนอให้แก้ไข 6 ประเด็น ของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมือง และศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะทำให้กลุ่มมวลชนสีเสื้อต่างๆ ที่ขัดแย้งกัน ยุติการเคลื่อนไหวสร้างความสมานฉันท์ในสังคมไทยได้หรือไม่ ซึ่งคณะอนุกรรมาธิการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบการดำเนินการของรัฐ จะจัดสัมมนาเรื่อง “การมีส่วนร่วมของประชาชนในการตวรจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ในวันที่ 25 ส.ค.นี้ ที่รัฐสภา
----------------------
กำลังโหลดความคิดเห็น