ASTVผู้จัดการรายวัน – เปิดโผ 7 กลุ่มผู้โชคดีที่ได้วัคซีนก่อนใคร เผยเฉพาะนำเข้าฉีดได้แค่ 1 ล้านคนขณะที่มีกลุ่มเสี่ยงมากถึง 3.7 ล้านคน ด้านอภ.เริ่มทดลองเพาะเชื้อเป็นในไข่ “หมอวิชัย” แจงสิทธิประโยชน์อาสาสมัคร 424 คน ลั่นเกิดปัญหารักษาฟรี พิการ-ตายมีประกันชีวิต ขณะที่พิษไข้หวัดฉุดเศรษฐกิจทรุด หอการค้าไทยชี้ทำท่องเที่ยวปีนี้ลด 30% รายได้หาย 2 แสนล้าน อังกฤษอาทิตย์เดียวล้มป่วยแสนคน
นพ.จรุง เมืองชนะ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางสำนักงานฯได้กำหนดกลุ่มผู้ที่มีความสำคัญจะได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่เสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะนำเสนอต่อคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติที่จะประชุมกันในวันที่ 13 ส.ค.นี้ต่อไป แต่เบื้องต้นหลายฝ่ายเห็นด้วยกับการแบ่งกลุ่มดังกล่าว โดยแบ่งไว้ทั้งหมด 7 กลุ่มคือ กลุ่มที่ 1 กลุ่มบุคลากรทางด้านสาธารณสุขซึ่งเป็นไปตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก
ส่วนกลุ่มถัดๆ มาเป็นกลุ่มที่แต่ละประเทศได้พิจารณาจากข้อมูลสถานการณ์การระบาดของแต่ละประเทศเอง สำหรับประเทศไทยจัดกลุ่มที่ 2 เป็น กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ กลุ่มที่ 3 กลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัวได้แก่ 1.โรคตับ 2.โรคไต 3.โรคหัวใจ 4.โรคปอด รวมถึงโรคหอบหืด หลอดลมอุดตัน 5.โรคมะเร็ง 6.โรคเบาหวาน 7.โรคหลอดเลือดสมอง 8.โรคอ้วน และที่ในไทยเพิ่มขึ้นมาคือ 9.โรคธาลัสซีเมีย
กลุ่มที่ 4 เป็นเด็ก อายุ 6-15ปี ซึ่งเป็นนักเรียนระดับอนุบาล ระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนต้น กลุ่มที่ 5 กลุ่มวัยตั้งแต่ 15-49 ปี ซึ่งอาจรวมถึงนักเรียนโต ตั้งแต่มัธยมศึกษาตอนปลายถึงระดับมหาวิทยาลัยและวัยแรงงาน จนวัยกลางคน กลุ่มที่6 กลุ่มอายุ 49-65 ปี และกลุ่มสุดท้ายคือ กลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป
“เหตุที่มีการจัดลำดับหญิงตั้งครรภ์ไว้ลำดับแรกๆ เนื่องจากว่ามีการพบผู้เสียชีวิตที่ตั้งครรภ์ซึ่งถือว่ามีความสำคัญมาก และการที่เน้นในกลุ่มของนักเรียนระดับเล็กมาก่อน เพราะจากข้อมูลในการแพร่ระบาดพบว่า นักเรียนเป็นกลุ่มผู้ติดเชื้อมากที่สุด ทั้งนี้ข้อเสนอดังกล่าวเข้าสู่การประชุมวอร์รูมของสธ.และคณะกรรมการส่งเสริมการผลิตวัคซีนไว้แล้ว ซึ่งหลายฝ่ายเห็นด้วยโดยจะนำเสนอต่อคณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิชาการและยุทธศาสตร์ด้านการแพทย์และการสาธารณสุขระดับชาติต่อไป”นพ.จรุง กล่าว
**วัคซีนฉีดได้แค่ 1 ล้านคน
นพ.จรุงกล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตามวัคซีนที่สธ.สั่งซื้อจากบริษัทซาโนฟี่ปาสเตอร์ ประเทศฝรั่งเศสจำนวน 2 ล้านโดส ซึ่งดำเนินการจากเชื้อตาย สามารถให้กับทุกกลุ่มได้ แต่วัคซีนที่ไทยจะผลิตเองโดยองค์การเภสัชกรรมเป็นผู้ผลิตจะผลิตจากเชื้อเป็นที่อ่อนฤทธิ์แล้ว จะมีข้อจำกัดในการให้กับกลุ่มหญิงตั้งครรภ์และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ดังนั้นจำเป็นต้องมีการจัดสรรวัคซีนอย่างละเอียด
ทั้งนี้ ในจำนวนวัคซีนเชื้อตายที่สั่งซื้อจากต่างประเทศจำนวน 2 ล้านโดส อาจจะต้องมีการฉีด 2 โดสต่อคนเพื่อเป็นการกระตุ้น ดังนั้นจะเหลือสำหรับคนเพียง 1 ล้านคน ซึ่งไม่เพียงพอกับบุคลากรทางการแพทย์ประมาณ 3 แสนคน หญิงตั้งครรภ์ประมาณ 8 แสนคน ผู้ป่วยโรคประจำตัว 2.6 ล้านคน รวมแล้ว 3.7 ล้านคนแล้ว
“หากรวมข้อมูลของกรมอนามัยที่สำรวจคนอ้วนอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไปในประเทศไทยที่มีกว่า 15 ล้านคนขึ้นไป ก็จำเป็นต้องมาพิจารณาถึงรายละเอียดหลักเกณฑ์บุคคลที่ควรได้อีก เช่น หากคนอ้วนที่อยู่บนภูเขา อาจไม่ได้รับวัคซีนแต่คนอ้วนในเมืองใหญ่จะได้รับ เพราะโอกาสในการสัมผัสเชื้อต่างกัน”นพ.จรุง กล่าว
**อภ.เริ่มทดลองเพาะเชื้อในไข่
ภก.สมชาย ศรีชัยนาค รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ขณะนี้กระบวนการผลิตวัคซีนมีการแบ่งเชื้อไวรัสเป็นมาทดลองฉีดในไข่สะอาดเพื่อหาเงื่อนไขที่เหมาะสมในการนำเชื้อไปเพาะเลี้ยงในไข่ไก่ ซึ่งจะศึกษาการเจริญเติบโต ปริมาณเชื้อที่เหมาะสมในการเพาะเชื้อ ความเข้มข้นของตัวเชื้อ เป็นต้น ทั้งนี้ ผลการทดลองเมื่อวันที่ 21 ก.ค.พบการเจริญเติบโตดี แต่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 วัน จึงจะทราบผลก่อนจะนำเชื้อไวรัสเป็นมาเลี้ยงในไข่ปราศจากเชื้อ
ส่วนอาสาสมัครทดลองวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ขณะนี้ทราบว่ามีผู้ที่มีความสนใจเป็นอาสาสมัครบ้างแล้ว ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถสมัครได้โดยตรงที่คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล
** “หมอวิชัย” แจงสิทธิอาสาสมัคร
นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานคณะกรรมการบริหารองค์การเภสัชกรรม(บอร์ดอภ.) กล่าวว่า อาสาสมัครที่เข้าร่วมทดลองวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดพ่นขององค์การเภสัชกรรมจำนวน 424 คน จะได้รับการคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ โดยสิทธิค่าตอบแทนที่อาสาสมัครจะได้รับคือ จะได้รับค่าเดินทางแบบไปกลับเพื่อมาพบนักวิจัยตามที่นัดหมายครั้งละ 500 บาท ส่วนช่วงเวลาที่ต้องมาพักค้างคืนที่ศูนย์ทดสอบวัคซีน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล ซึ่งมี 2 ครั้ง ครั้งละประมาณ 1 สัปดาห์ จะให้ค่าตอบแทนครั้งละ 5,000 บาท นอกจากนี้ สิทธิในกรณีที่เกิดปัญหาจากการทดลองจะมีการดูแลรักษาโดยอาสาสมัครไม่ต้องเสียค่ารักษาพยาบาล และหากเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการทดลองวัคซีนแบบร้ายแรง เช่น พิการ เสียชีวิต จะมีการทำประกันชีวิตให้ แต่ยังไม่ทราบวงเงินที่แน่นอน
ทั้งนี้ ในการดำเนินการทดลองวัคซีนจะมีคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ค่อยกำกับตรวจสอบการวิจัยวัคซีน โดยจะพิจารณา 2 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.เชิงวิชาการว่าเป็นไปตามหลักสากลและการทดลองสามารถวัดผลความสำเร็จของการวิจัยได้ไม่เปล่าประโยชน์กับการนำอาสาสมัครมาเสี่ยงในการทดลอง และ2.การคุ้มครองอาสาสมัครกระทำตามหลักหลักสากลหรือไม่
**อย.พร้อมขึ้นทะเบียนวัคซีน
นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมในการขึ้นทะเบียนวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่อยู่ระหว่างการผลิตขององค์การเภสัชกรรม ( อภ.) ถือว่ามีความพร้อมอย่างเต็มที่ ซึ่งหน่วยงานที่รับขึ้นทะเบียนของอย.ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) โดยจะใช้เวลาในการตรวจสอบเพื่อขึ้นทะเบียนให้เร็วที่สุด
ทั้งนี้ เมื่อวัคซีนผ่านการรับรองได้รับการขึ้นทะเบียนจากอย.แล้ว ถือว่า มีความปลอดภัยที่จะสามารถนำไปในในการให้บริการได้ และผู้ผลิตจะต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม ผลผลิตจากทุกล็อตการผลิตจะต้องมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค เนื่องจากตามหลักการแล้วไม่สามารถยืนยันว่า มีความปลอดภัย 100% แต่มีโอกาสเกิดความเสี่ยงในการแพ้ได้ในผู้ที่ได้รับวัคซีนแต่ละราย
**จับตาจังหวัดเสียชีวิตสูง
นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สธ. กล่าวว่า ขณะนี้มีจังหวัดที่มีอัตราผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่สูง เช่น จ.ราชบุรี ตนได้แจ้งให้นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดสธ.ติดตามจากผู้ตรวจราชการและนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ว่ามีการปล่อยปละละเลยในการรักษาผู้ป่วยหรือไม่ โดยให้พิจารณาผู้ที่เสียชีวิตว่าเกิดจากเหตุผลอันควรหรือไม่
“หากเป็นเพราะเข้าถึงยาช้า ต้องตรวจสอบต่อไปว่าเจ้าหน้าที่ระดับภูมิภาคทำอะไรอยู่ มีการกวดขันร้านขายยาและคลินิกที่ประชาชนไปซื้อยากินเองจนทำให้ประชาชนหลุดจากระบบการรักษาของโรงพยาบาลหรือไม่ เพราะที่ผ่านมากระทรวงฯ มีการเน้นย้ำตลอดเวลาว่าหากผู้ป่วยมีอาการไข้ 2 วันไม่ลดแพทย์ต้องให้ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ทันที เช่นเดียวกับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวหากมีอาการไข้ต้องให้ยาทันที”
นายวิทยากล่าวต่อว่าตลอด 3 เดือนที่มีการแพร่ระบาดยังมีจุดบกพร่องของระบบการเฝ้าระวังและรักษาต้องมีการปรับปรุงในส่วนของการเข้าถึงยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดสูง จะต้องมีการสำรองยาต้านไวรัสในโรงพยาบาลต่างๆในระดับเดิมเสมอ หากมีการใช้ไปจำนวนเท่าไหร่ก็จะต้องเติมให้เต็มในจำนวนเท่าเดิม เพื่อไม่ให้ยาพร่องจากคลังสำรองยาของโรงพยาบาล
**“มานิต” ชี้ปริมาณส่งเชื้อตจว.เริ่มเพิ่ม
นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้ปริมาณการส่งตัวอย่างเชื้อเพื่อตรวจหาไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในเขตกรุงเทพฯ มีปริมาณส่งเชื้อตรวจเริ่มลดลง จากช่วงการระบาดตอนต้น ซึ่งมีตัวอย่างที่ส่งตรวจวันละประมาณ 400-500 ตัวอย่าง เหลือประมาณวันละ 100 ตัวอย่าง ขณะที่ในต่างจังหวัดโดยเฉพาะเมืองใหญ่เช่น เชียงใหม่ โคราช ภูเก็ต พบว่าเริ่มมีปริมาณการส่งเชื้อตรวจมากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าการระบาดเริ่มกระจายไปยังพื้นที่อื่นๆแล้ว
**เฝ้าระวังนร.สพฐ.6พันคน
นายสมเกียรติ ชอบผล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคในโรงเรียนไม่น่าเป็นห่วง โดยพบเด็กที่ยืนยันติดเชื้อ 223 คนซึ่งหายเป็นปกติแล้ว เสียชีวิต 1 คน โดยยังมีเด็กที่มีอาการอยู่ในข่ายเฝ้าระวังอีก 5,900 คน ทั้งนี้สำหรับโรงเรียนที่เคยปิดเรียนได้เปิดเรียนแล้ว 128 แห่ง เมื่อเทียบกับจำนวนนักเรียนในสังกัด สพฐ.ทั้งหมดที่มีกว่า 8 ล้านคน ถือว่าน้อยมาก
*ศก.ทรุดคนไทยงดเที่ยว-ชอป
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจทัศนะประชาชนต่อการระบาดของโรคไข้หวัด 2009 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,200 คนว่า หากการระบาดเกิดต่อเนื่องในไตรมาสสาม จะทำให้รายได้ท่องเที่ยวและการบริโภคลดลง 30,000-60,000 ล้านบาท และทำให้จีดีพีไตรมาสสามติดลบ 3.5% ถึง 4.5% ขณะที่จีดีพีทั้งปีติดลบ 3.8% ถึง 4.8% แต่หากการระบาดยังยืดเยื้อถึงไตรมาสสี่ จะกระทบต่อรายได้การท่องเที่ยวและการบริโภคลดลง 60,000-120,000 ล้านบาท ทำให้จีดีพีไตรมาสสี่ติดลบ 0.5% ถึง 1% และจีดีพีทั้งปีติดลบ 4% ถึง 5.5%
ทั้งนี้ การระบาดส่งผลลบต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยยะ เพราะตอนนี้คนกลัวติดไข้หวัดจนไม่กล้าเดินทางออกไปใช้จ่าย ท่องเที่ยว ช้อปปิ้ง กินอาหารนอกบ้านทั้งกลางวันกลางคืน ทำให้ภาคธุรกิจขายสินค้าและบริการได้น้อยลง จำเป็นต้องจัดโปรโมชั่นมากขึ้นเพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย ซึ่งจุดนี้จะกลายปัจจัยลบสำคัญต่อการสำรวจดัชนีผู้บริโภคของเดือน ก.ค.รวมถึงเงินเฟ้อให้ติดลบได้นานกว่าที่คาดหมายด้วย
ด้านนายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล กรรมการรองเลขาธิการหอการค้าไทย กล่าวว่า การระบาดส่งผลกระทบรุนแรงให้การท่องเที่ยวปีนี้ลดลง 30% ทำให้นักท่องเที่ยวลดลง 2-3 ล้านคน รายได้หายไป 2 แสนล้านบาท และยังกระทบต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องรวมถึงการบริโภคภายในประเทศ ที่สำคัญยังทำให้การส่งออกลดลง เพราะคนกังวลไม่กล้าใช้จ่าย โดยคาดว่าการส่งออกสินค้ากลุ่มอาหารทั้งปีนี้จะลบ 7% ขณะที่ภาพรวมการส่งออกทั้งปีจะติดลบ 15% ถึง 20% โดยไตรมาสสามจะติดลบ 18% ถึง 20% ขณะที่ไตรมาสสี่ติดลบ 10% ถึง 15%
**อังกฤษป่วยเพิ่ม1แสนคนใน1สัปดาห์**
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ในอังกฤษเมื่อสัปดาห์ที่แล้วสัปดาห์เดียว มีผู้ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่เพิ่มขึ้นประมาณ 100,000 คน ทั้งนี้ตามการแถลงของกระทรวงสาธารณสุขอังกฤษเมื่อวานนี้ (23) ซึ่งแจกแจงว่า ในจำนวนนี้มี 840 คนต้องนอนโรงพยาบาล โดย 63 คนอยู่ในหอรักษาผู้ป่วยอาการหนัก (ไอซียู)
อังกฤษซึ่งเป็นชาติที่มีผู้ติดเชื้อไวรัสนี้หนักหนาสาหัสที่สุดในยุโรป โดยมีผู้เสียชีวิตไปอย่างน้อย 31 คน ยังได้ประกาศแผนการใหม่ในการต่อสู้กับไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ทั้งนี้ นับจากนี้ไปคนที่เชื่อว่าตนเองติดเชื้อไวรัสนี้ สามารถที่จะขอรับยา "ทามิฟลู" ผ่านทางออนไลน์หรือทางโทรศัพท์ โดยไม่ต้องพบแพทย์ เพื่อเป็นการผ่อนเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์
ศูนย์บริการออนไลน์และโทรศัพท์สายด่วนในเรื่องนี้ จะใช้พนักงานที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่การแพทย์ราว 1,500 คน คอยถามคำถามตามรายการที่กำหนดไว้ และสามารถสั่งยาจ่ายทามิฟลูได้ อย่างไรก็ตาม ในรายที่อาการหนักที่สุด ตลอดจนพวกที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ยังจะต้องส่งต่อไปให้แพทย์ดูแล.
นพ.จรุง เมืองชนะ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางสำนักงานฯได้กำหนดกลุ่มผู้ที่มีความสำคัญจะได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่เสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะนำเสนอต่อคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติที่จะประชุมกันในวันที่ 13 ส.ค.นี้ต่อไป แต่เบื้องต้นหลายฝ่ายเห็นด้วยกับการแบ่งกลุ่มดังกล่าว โดยแบ่งไว้ทั้งหมด 7 กลุ่มคือ กลุ่มที่ 1 กลุ่มบุคลากรทางด้านสาธารณสุขซึ่งเป็นไปตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก
ส่วนกลุ่มถัดๆ มาเป็นกลุ่มที่แต่ละประเทศได้พิจารณาจากข้อมูลสถานการณ์การระบาดของแต่ละประเทศเอง สำหรับประเทศไทยจัดกลุ่มที่ 2 เป็น กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ กลุ่มที่ 3 กลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัวได้แก่ 1.โรคตับ 2.โรคไต 3.โรคหัวใจ 4.โรคปอด รวมถึงโรคหอบหืด หลอดลมอุดตัน 5.โรคมะเร็ง 6.โรคเบาหวาน 7.โรคหลอดเลือดสมอง 8.โรคอ้วน และที่ในไทยเพิ่มขึ้นมาคือ 9.โรคธาลัสซีเมีย
กลุ่มที่ 4 เป็นเด็ก อายุ 6-15ปี ซึ่งเป็นนักเรียนระดับอนุบาล ระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนต้น กลุ่มที่ 5 กลุ่มวัยตั้งแต่ 15-49 ปี ซึ่งอาจรวมถึงนักเรียนโต ตั้งแต่มัธยมศึกษาตอนปลายถึงระดับมหาวิทยาลัยและวัยแรงงาน จนวัยกลางคน กลุ่มที่6 กลุ่มอายุ 49-65 ปี และกลุ่มสุดท้ายคือ กลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป
“เหตุที่มีการจัดลำดับหญิงตั้งครรภ์ไว้ลำดับแรกๆ เนื่องจากว่ามีการพบผู้เสียชีวิตที่ตั้งครรภ์ซึ่งถือว่ามีความสำคัญมาก และการที่เน้นในกลุ่มของนักเรียนระดับเล็กมาก่อน เพราะจากข้อมูลในการแพร่ระบาดพบว่า นักเรียนเป็นกลุ่มผู้ติดเชื้อมากที่สุด ทั้งนี้ข้อเสนอดังกล่าวเข้าสู่การประชุมวอร์รูมของสธ.และคณะกรรมการส่งเสริมการผลิตวัคซีนไว้แล้ว ซึ่งหลายฝ่ายเห็นด้วยโดยจะนำเสนอต่อคณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิชาการและยุทธศาสตร์ด้านการแพทย์และการสาธารณสุขระดับชาติต่อไป”นพ.จรุง กล่าว
**วัคซีนฉีดได้แค่ 1 ล้านคน
นพ.จรุงกล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตามวัคซีนที่สธ.สั่งซื้อจากบริษัทซาโนฟี่ปาสเตอร์ ประเทศฝรั่งเศสจำนวน 2 ล้านโดส ซึ่งดำเนินการจากเชื้อตาย สามารถให้กับทุกกลุ่มได้ แต่วัคซีนที่ไทยจะผลิตเองโดยองค์การเภสัชกรรมเป็นผู้ผลิตจะผลิตจากเชื้อเป็นที่อ่อนฤทธิ์แล้ว จะมีข้อจำกัดในการให้กับกลุ่มหญิงตั้งครรภ์และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ดังนั้นจำเป็นต้องมีการจัดสรรวัคซีนอย่างละเอียด
ทั้งนี้ ในจำนวนวัคซีนเชื้อตายที่สั่งซื้อจากต่างประเทศจำนวน 2 ล้านโดส อาจจะต้องมีการฉีด 2 โดสต่อคนเพื่อเป็นการกระตุ้น ดังนั้นจะเหลือสำหรับคนเพียง 1 ล้านคน ซึ่งไม่เพียงพอกับบุคลากรทางการแพทย์ประมาณ 3 แสนคน หญิงตั้งครรภ์ประมาณ 8 แสนคน ผู้ป่วยโรคประจำตัว 2.6 ล้านคน รวมแล้ว 3.7 ล้านคนแล้ว
“หากรวมข้อมูลของกรมอนามัยที่สำรวจคนอ้วนอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไปในประเทศไทยที่มีกว่า 15 ล้านคนขึ้นไป ก็จำเป็นต้องมาพิจารณาถึงรายละเอียดหลักเกณฑ์บุคคลที่ควรได้อีก เช่น หากคนอ้วนที่อยู่บนภูเขา อาจไม่ได้รับวัคซีนแต่คนอ้วนในเมืองใหญ่จะได้รับ เพราะโอกาสในการสัมผัสเชื้อต่างกัน”นพ.จรุง กล่าว
**อภ.เริ่มทดลองเพาะเชื้อในไข่
ภก.สมชาย ศรีชัยนาค รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ขณะนี้กระบวนการผลิตวัคซีนมีการแบ่งเชื้อไวรัสเป็นมาทดลองฉีดในไข่สะอาดเพื่อหาเงื่อนไขที่เหมาะสมในการนำเชื้อไปเพาะเลี้ยงในไข่ไก่ ซึ่งจะศึกษาการเจริญเติบโต ปริมาณเชื้อที่เหมาะสมในการเพาะเชื้อ ความเข้มข้นของตัวเชื้อ เป็นต้น ทั้งนี้ ผลการทดลองเมื่อวันที่ 21 ก.ค.พบการเจริญเติบโตดี แต่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 วัน จึงจะทราบผลก่อนจะนำเชื้อไวรัสเป็นมาเลี้ยงในไข่ปราศจากเชื้อ
ส่วนอาสาสมัครทดลองวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ขณะนี้ทราบว่ามีผู้ที่มีความสนใจเป็นอาสาสมัครบ้างแล้ว ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถสมัครได้โดยตรงที่คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล
** “หมอวิชัย” แจงสิทธิอาสาสมัคร
นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานคณะกรรมการบริหารองค์การเภสัชกรรม(บอร์ดอภ.) กล่าวว่า อาสาสมัครที่เข้าร่วมทดลองวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดพ่นขององค์การเภสัชกรรมจำนวน 424 คน จะได้รับการคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ โดยสิทธิค่าตอบแทนที่อาสาสมัครจะได้รับคือ จะได้รับค่าเดินทางแบบไปกลับเพื่อมาพบนักวิจัยตามที่นัดหมายครั้งละ 500 บาท ส่วนช่วงเวลาที่ต้องมาพักค้างคืนที่ศูนย์ทดสอบวัคซีน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล ซึ่งมี 2 ครั้ง ครั้งละประมาณ 1 สัปดาห์ จะให้ค่าตอบแทนครั้งละ 5,000 บาท นอกจากนี้ สิทธิในกรณีที่เกิดปัญหาจากการทดลองจะมีการดูแลรักษาโดยอาสาสมัครไม่ต้องเสียค่ารักษาพยาบาล และหากเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการทดลองวัคซีนแบบร้ายแรง เช่น พิการ เสียชีวิต จะมีการทำประกันชีวิตให้ แต่ยังไม่ทราบวงเงินที่แน่นอน
ทั้งนี้ ในการดำเนินการทดลองวัคซีนจะมีคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ค่อยกำกับตรวจสอบการวิจัยวัคซีน โดยจะพิจารณา 2 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.เชิงวิชาการว่าเป็นไปตามหลักสากลและการทดลองสามารถวัดผลความสำเร็จของการวิจัยได้ไม่เปล่าประโยชน์กับการนำอาสาสมัครมาเสี่ยงในการทดลอง และ2.การคุ้มครองอาสาสมัครกระทำตามหลักหลักสากลหรือไม่
**อย.พร้อมขึ้นทะเบียนวัคซีน
นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมในการขึ้นทะเบียนวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่อยู่ระหว่างการผลิตขององค์การเภสัชกรรม ( อภ.) ถือว่ามีความพร้อมอย่างเต็มที่ ซึ่งหน่วยงานที่รับขึ้นทะเบียนของอย.ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) โดยจะใช้เวลาในการตรวจสอบเพื่อขึ้นทะเบียนให้เร็วที่สุด
ทั้งนี้ เมื่อวัคซีนผ่านการรับรองได้รับการขึ้นทะเบียนจากอย.แล้ว ถือว่า มีความปลอดภัยที่จะสามารถนำไปในในการให้บริการได้ และผู้ผลิตจะต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม ผลผลิตจากทุกล็อตการผลิตจะต้องมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค เนื่องจากตามหลักการแล้วไม่สามารถยืนยันว่า มีความปลอดภัย 100% แต่มีโอกาสเกิดความเสี่ยงในการแพ้ได้ในผู้ที่ได้รับวัคซีนแต่ละราย
**จับตาจังหวัดเสียชีวิตสูง
นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สธ. กล่าวว่า ขณะนี้มีจังหวัดที่มีอัตราผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่สูง เช่น จ.ราชบุรี ตนได้แจ้งให้นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดสธ.ติดตามจากผู้ตรวจราชการและนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ว่ามีการปล่อยปละละเลยในการรักษาผู้ป่วยหรือไม่ โดยให้พิจารณาผู้ที่เสียชีวิตว่าเกิดจากเหตุผลอันควรหรือไม่
“หากเป็นเพราะเข้าถึงยาช้า ต้องตรวจสอบต่อไปว่าเจ้าหน้าที่ระดับภูมิภาคทำอะไรอยู่ มีการกวดขันร้านขายยาและคลินิกที่ประชาชนไปซื้อยากินเองจนทำให้ประชาชนหลุดจากระบบการรักษาของโรงพยาบาลหรือไม่ เพราะที่ผ่านมากระทรวงฯ มีการเน้นย้ำตลอดเวลาว่าหากผู้ป่วยมีอาการไข้ 2 วันไม่ลดแพทย์ต้องให้ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ทันที เช่นเดียวกับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวหากมีอาการไข้ต้องให้ยาทันที”
นายวิทยากล่าวต่อว่าตลอด 3 เดือนที่มีการแพร่ระบาดยังมีจุดบกพร่องของระบบการเฝ้าระวังและรักษาต้องมีการปรับปรุงในส่วนของการเข้าถึงยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดสูง จะต้องมีการสำรองยาต้านไวรัสในโรงพยาบาลต่างๆในระดับเดิมเสมอ หากมีการใช้ไปจำนวนเท่าไหร่ก็จะต้องเติมให้เต็มในจำนวนเท่าเดิม เพื่อไม่ให้ยาพร่องจากคลังสำรองยาของโรงพยาบาล
**“มานิต” ชี้ปริมาณส่งเชื้อตจว.เริ่มเพิ่ม
นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้ปริมาณการส่งตัวอย่างเชื้อเพื่อตรวจหาไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในเขตกรุงเทพฯ มีปริมาณส่งเชื้อตรวจเริ่มลดลง จากช่วงการระบาดตอนต้น ซึ่งมีตัวอย่างที่ส่งตรวจวันละประมาณ 400-500 ตัวอย่าง เหลือประมาณวันละ 100 ตัวอย่าง ขณะที่ในต่างจังหวัดโดยเฉพาะเมืองใหญ่เช่น เชียงใหม่ โคราช ภูเก็ต พบว่าเริ่มมีปริมาณการส่งเชื้อตรวจมากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าการระบาดเริ่มกระจายไปยังพื้นที่อื่นๆแล้ว
**เฝ้าระวังนร.สพฐ.6พันคน
นายสมเกียรติ ชอบผล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคในโรงเรียนไม่น่าเป็นห่วง โดยพบเด็กที่ยืนยันติดเชื้อ 223 คนซึ่งหายเป็นปกติแล้ว เสียชีวิต 1 คน โดยยังมีเด็กที่มีอาการอยู่ในข่ายเฝ้าระวังอีก 5,900 คน ทั้งนี้สำหรับโรงเรียนที่เคยปิดเรียนได้เปิดเรียนแล้ว 128 แห่ง เมื่อเทียบกับจำนวนนักเรียนในสังกัด สพฐ.ทั้งหมดที่มีกว่า 8 ล้านคน ถือว่าน้อยมาก
*ศก.ทรุดคนไทยงดเที่ยว-ชอป
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจทัศนะประชาชนต่อการระบาดของโรคไข้หวัด 2009 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,200 คนว่า หากการระบาดเกิดต่อเนื่องในไตรมาสสาม จะทำให้รายได้ท่องเที่ยวและการบริโภคลดลง 30,000-60,000 ล้านบาท และทำให้จีดีพีไตรมาสสามติดลบ 3.5% ถึง 4.5% ขณะที่จีดีพีทั้งปีติดลบ 3.8% ถึง 4.8% แต่หากการระบาดยังยืดเยื้อถึงไตรมาสสี่ จะกระทบต่อรายได้การท่องเที่ยวและการบริโภคลดลง 60,000-120,000 ล้านบาท ทำให้จีดีพีไตรมาสสี่ติดลบ 0.5% ถึง 1% และจีดีพีทั้งปีติดลบ 4% ถึง 5.5%
ทั้งนี้ การระบาดส่งผลลบต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยยะ เพราะตอนนี้คนกลัวติดไข้หวัดจนไม่กล้าเดินทางออกไปใช้จ่าย ท่องเที่ยว ช้อปปิ้ง กินอาหารนอกบ้านทั้งกลางวันกลางคืน ทำให้ภาคธุรกิจขายสินค้าและบริการได้น้อยลง จำเป็นต้องจัดโปรโมชั่นมากขึ้นเพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย ซึ่งจุดนี้จะกลายปัจจัยลบสำคัญต่อการสำรวจดัชนีผู้บริโภคของเดือน ก.ค.รวมถึงเงินเฟ้อให้ติดลบได้นานกว่าที่คาดหมายด้วย
ด้านนายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล กรรมการรองเลขาธิการหอการค้าไทย กล่าวว่า การระบาดส่งผลกระทบรุนแรงให้การท่องเที่ยวปีนี้ลดลง 30% ทำให้นักท่องเที่ยวลดลง 2-3 ล้านคน รายได้หายไป 2 แสนล้านบาท และยังกระทบต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องรวมถึงการบริโภคภายในประเทศ ที่สำคัญยังทำให้การส่งออกลดลง เพราะคนกังวลไม่กล้าใช้จ่าย โดยคาดว่าการส่งออกสินค้ากลุ่มอาหารทั้งปีนี้จะลบ 7% ขณะที่ภาพรวมการส่งออกทั้งปีจะติดลบ 15% ถึง 20% โดยไตรมาสสามจะติดลบ 18% ถึง 20% ขณะที่ไตรมาสสี่ติดลบ 10% ถึง 15%
**อังกฤษป่วยเพิ่ม1แสนคนใน1สัปดาห์**
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ในอังกฤษเมื่อสัปดาห์ที่แล้วสัปดาห์เดียว มีผู้ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่เพิ่มขึ้นประมาณ 100,000 คน ทั้งนี้ตามการแถลงของกระทรวงสาธารณสุขอังกฤษเมื่อวานนี้ (23) ซึ่งแจกแจงว่า ในจำนวนนี้มี 840 คนต้องนอนโรงพยาบาล โดย 63 คนอยู่ในหอรักษาผู้ป่วยอาการหนัก (ไอซียู)
อังกฤษซึ่งเป็นชาติที่มีผู้ติดเชื้อไวรัสนี้หนักหนาสาหัสที่สุดในยุโรป โดยมีผู้เสียชีวิตไปอย่างน้อย 31 คน ยังได้ประกาศแผนการใหม่ในการต่อสู้กับไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ทั้งนี้ นับจากนี้ไปคนที่เชื่อว่าตนเองติดเชื้อไวรัสนี้ สามารถที่จะขอรับยา "ทามิฟลู" ผ่านทางออนไลน์หรือทางโทรศัพท์ โดยไม่ต้องพบแพทย์ เพื่อเป็นการผ่อนเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์
ศูนย์บริการออนไลน์และโทรศัพท์สายด่วนในเรื่องนี้ จะใช้พนักงานที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่การแพทย์ราว 1,500 คน คอยถามคำถามตามรายการที่กำหนดไว้ และสามารถสั่งยาจ่ายทามิฟลูได้ อย่างไรก็ตาม ในรายที่อาการหนักที่สุด ตลอดจนพวกที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ยังจะต้องส่งต่อไปให้แพทย์ดูแล.