ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 นำร่องจัดโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการยางพาราสู่การเป็นผู้ส่งออกระดับนานาชาติ เป็นปีแรกในงานมหกรรมแสดงสินค้าและนวัตกรรมยางพารา ครั้งที่ 1 หรือ Rubber Products and Innovation Expo ระหว่างวันที่ 6-8 สิงหาคม ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา หวังสร้างกิจกรรมผลักดันสู่การเป็นศูนย์กลางการค้ายางพาราของประเทศ ซึ่งในปัจจุบันมีพื้นที่การเพาะปลูกกว่า 2 ล้านไร่แล้ว และมีนักลงทุนเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมแปรรูปต่อเนื่อง
นายทวี แก้วมณี ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 เปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตยางพาราที่สำคัญของโลก โดยมีแหล่งเพาะปลูกส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้ โดยที่ จ.สงขลามีพื้นที่เพาะปลูกยางประมาณ 2.065 ล้านไร่ มีสถานประกอบการในอุตสาหกรรมแปรรูปเป็นจำนวนมากตั้งแต่ขนาดเล็ก-ใหญ่ อุตสาหกรรมยางพาราจึงเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของ จ.สงขลา
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันอุตสาหกรรมยางใน จ.สงขลาส่วนใหญ่เป็นการผลิตและแปรรูปยางพาราขั้นต้น เพื่อใช้สำหรับแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ส่งไปจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดย ณ เดือนตุลาคม 2551 มีมูลค่าการส่งออก 22,725 ล้านบาท ด้วยอัตราการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2550 ถึง 28%
ดังนั้น จ.สงขลาจึงร่วมกับศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 จัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการยางพาราสู่การเป็นผู้ส่งออกระดับนานาชาติ ในงานมหกรรมแสดงสินค้าและนวัตกรรมยางพารา ครั้งที่ 1 หรือ Rubber Products and Innovation Expo ระหว่างวันที่ 6-8 สิงหาคม ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ด้วยงบประมาณร่วม 5 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นกิจกรรมที่เป็นโครงการนำร่องที่สามารถจัดให้ต่อเนื่องอย่างยั่งยืน เนื่องจาก จ.สงขลามีความพร้อมอย่างยิ่งที่จะเป็นศูนย์กลางการค้ายางพาราของประเทศ
ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยางพาราในการพัฒนาตนเองสู่การเป็นผู้ส่งออก ด้วยการยกระดับศักยภาพด้านการตลาดและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยางพาราในระดับจังหวัดและภูมิภาคในการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ และส่งเสริมให้เกิดพันธมิตรทางการค้าระหว่างผู้ผลิตและผู้แปรรูปสินค้ายางพารา
ภายในงานจะมีการออกร้านจำหน่ายสินค้าจำนวน 50 คูหา การวางแผนงานด้านอบรมทางวิชาการ ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ การจัดงานแสดงสินค้าและนวัตกรรมด้านยางพารา รวมทั้งจัดการเจรจาทางธุรกิจระหว่างผู้ผลิตยางพาราและผู้ผลิตสินค้ายางพาราแปรรูป ตลอดจนการนำเสนอผลงานวิจัยเพื่อนำไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ จำนวน 40 ราย
สำหรับแนวโน้มการลงทุนอุตสาหกรรมเกี่ยวกับยางพาราใน จ.สงขลา ถือว่ามีการเติบโตและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในครึ่งปีแรกของปี 2552 นี้ ศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 5 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนแล้ว 6 โครงการ ทั้งการผลิตถุงนิ้วมือยาง, ถุงมือยาง, และน้ำยางข้น 4 โครงการ