xs
xsm
sm
md
lg

"ฮิลลารี"ชม"โอบามาร์ค" นำอาเซียนสู่ความรุ่งเรือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- "โอบามาร์ค-ฮิลลารี" หารือชื่นมื่น นายกฯ ย้ำสถานการณ์การเมืองไทยปกติสามารถดึงดูดนักลงทุนต่างชาติได้ แม้เศรษฐกิจโลกตกต่ำ ด้าน"ฮิลลารี" เชื่อมั่นไทยมีศักยภาพนำภูมิภาคอาเซียน สู่ความรุ่งเรืองได้ ทั้งด้านเศรษฐกิจ-ความมั่นคง "เทพเทือก" เผย"สหรัฐฯ"ห่วง "ซูจี-ปัญหาชายแดนไทย-เขมร-ไฟใต้” ฝากไทยดูแลม้งอพยพด้วย

เมื่อเวลา17.00 น.วานนี้ (21ก.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นางฮิลลารี รอดแฮม คลินตัน รมว.ต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เดินทางเข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ในโอกาสเดินทางมาเยือนประเทศไทย โดยมีนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรีนายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ผู้ช่วย รมว.ต่างประเทศ นายเกียรติ สิทธิอมร ผู้แทนการค้าไทย เข้าร่วมหารือท่ามกลางการอารักขาความปลอดภัยอย่างแน่นหนา โดยมีขบวนรถติดตามคุ้มครองความปลอดภัยยาวเหยียด ขณะที่บริเวณภายในทำเนียบรัฐบาล ก็มีเจ้าหน้าที่ตรึงกำลังรักษาความปลอดภัยประจำจุดต่างๆ รอบตึกไทยคู่ฟ้า บริเวณประตูทางเข้าทำเนียบรัฐบาล รวมถึงด้านนอกทำเนียบรัฐบาล บริเวณถนนพิษณุโลก ก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายนาย กระจายกำลังรักษาความปลอดภัยอยู่ริมถนน ตลอดเวลาที่นางฮิลลารี เข้าพบนายกรัฐมนตรี
หลังจากใช้เวลาหารือกับนายกฯ ประมาณ 30 นาที นายกอร์ปศักดิ์ แถลงว่า การหารือระหว่างนายกฯ และนางฮิลลารี ที่เสร็จสิ้นไป เป็นประโยชน์อย่างมากต่อประเด็นความสัมพันธ์ทวิภาคี และเรื่องต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีชี้แจงให้นางฮิลลารี คลินตัน ทราบถึงการพัฒนาด้านการเมืองในประเทศไทย และนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ โดยนายกฯ ย้ำว่า ประเทศไทยยังสามารถดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศได้ แม้เศรษฐกิจโลกกำลังประสบภาวะตกต่ำ แต่รัฐบาลยังมุ่งมั่น ส่งเสริม อำนวยความสะดวกให้กับการค้า การลงทุนจากต่างประเทศ พร้อมให้คำปรึกษา และหารือร่วมกับภาคเอกชน และขอเน้นว่า รัฐบาลให้ความสำคัญและยึดมั่นในสิทธิ ทรัพย์สินทางปัญญา และความต่อเนื่องของการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไปของสินค้าส่งออกไทยไปยังสหรัฐฯ โดยในช่วงท้าย นายกฯได้ฝากความระลึกถึงไปยังประธานาธิบดีบารัค โอบามา ด้วย

ทั้งนี้ นางฮิลลารี กล่าวตอบว่า ตนเชื่อว่ามั่นในรัฐบาลไทย และแนวทางประชาธิปไตยของไทย แม้ว่าไทยจะมีปัญหาการเมืองภายในประเทศ อีกทั้งไทยยังมีศักยภาพที่จะนำภูมิภาคอาเซียนไปสู่ความรุ่งเรือง ทั้งในด้านเศรษฐกิจ และความมั่นคง นอกจากนี้ไทยยังเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญในภูมิภาค
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่ทหารพม่าจับเด็กผู้หญิงไปทำร้าย มีความคิดเห็นอย่างไรกับการการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่า นางฮิลลารี่ กล่าวว่า ตนมีความวิตกกังวลถึงพฤติกรรมและการกระทำของพม่าที่ยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ยืนยันว่ารัฐบาลสหรัฐฯ มีความชัดเจนในการร่วมมือกับพันธมิตรในภูมิภาคอาเซียน ในการที่จะแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน ส่วนกรณีคำพิพากษา นางออง ซาน ซูจี อดีตผู้นำพรรคสันนิบาตพม่า ที่ยังค้างอยู่ที่ชั้นศาลนั้น รัฐบาลสหรัฐฯ จะติดตามการดำเนินการอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะร่วมมือกับพันธมิตรในภูมิภาค เพื่อดูแลและแก้ไขปัญหา

ปัดตอบเรื่องคุกลับ

ผู้สื่อข่าวรายงาน ในช่วงท้ายนางคลินตันได้ตอบคำถามสื่อมวลชน กรณีสื่อสหรัฐฯ เผยแพร่ข่าวหน่วยข่าวกรองกลาง (ซีไอเอ) แอบสร้างคุกลับในประเทศไทย เพื่อใช้คุมขังผู้ก่อการร้ายสากล ซึ่งนางฮิลลารี ปฏิเสธตอบคำถามดังกล่าว โดยกล่าวว่า ไม่ขอพูดเรื่องนี้ เพราะการเดินทางมาประเทศไทยครั้งนี้เพื่อแสวงหาความร่วมมือ และกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งไทยเป็นพันธมิตรสำคัญ โดยส่วนตัวก็ชอบเดินทางมาประเทศไทย เพราะการเดินทางมาไทยครั้งล่าสุดก็ยังเป็นทริปที่ประทับใจ

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า บรรยกาศการหารือระหว่างนายอภิสิทธิ์ กับนางฮิลลารี เป็นไปด้วยความราบรื่น โดยทั้งสองได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ โดยนางฮิลลารี ได้ขอบคุณที่ไทยดำเนินการกับกลุ่มม้งอพยพ ให้เป็นไปด้วยดี ซึ่งนายอภิสิทธิ์ แจงว่า นโยบายรัฐบาลไทยเปิดกว้าง คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนมาตลอด

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ยังบอกว่าขณะนี้สถานการณ์การเมืองของไทย เข้าสู่ภาวะปกติ ไม่กระทบต่อภาวะการลงทุน ซึ่งนางฮิลลารี ได้เสริมว่า สหรัฐฯ ยังคงให้การสนับสนุน และนักลงทุนของสหรัฐฯ ก็เห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นไม่มีปัญหาพร้อมให้ความร่วมมือในไทย และภูมิภาคเอเซีย พร้อมทั้งขอบคุณที่ให้ความสำคัญกับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา เพราะเห็นว่ามีความสำคัญ

นางฮิลลารี ยังได้สอบถามความคืบหน้าคดีนายวิกเตอร์เบาท์ ผู้ต้องหาค้าอาวุธสงครามชาวรัสเซีย ว่ามีความคืบหน้าอย่างไร โดยนายอภิสิทธิ์ กล่าวว่าขณะนี้อยู่ในขบวนการยุติธรรมแล้ว และใกล้จะตัดสินคดี

นางฮิลลารี ยังได้ขอบคุณไทยที่แสดงภาวะความเป็นผู้นำ ในการผลักดันพม่าให้ดำเนินการตามนโยบายปองดองแห่งชาติ ขณะที่ในส่วนปัญหาเกาหลีเหนือ นางฮิลลารี ขอให้ไทยปฏิบัติตามยูเอ็นเอสซี ในการสกัดกั้นการแพร่กระจายวัสดุอุปกรณ์นิวเคลียร์

แหล่างข่าวกล่าวว่า ตอนหนึ่งของการหารือ นางฮิลลารี ยังได้ขอบคุณไทยที่ดูแลปัญหาการค้ามนุษยด้วยดี แต่ "สิ่งที่ดิฉันเคยพบคือ กรณีแม่ทอดทิ้งเด็กจากปัญหาโรคเอดส์ ทำให้รู้สึกสะเทือนใจ"

ถามถึงเงินจากตปท.ป่วน3จว.ใต้

อย่างไรก็ตามนางฮิลลารี ได้ถามคำถามนายอภิสิทธิ์ โดยบอกว่า สหรัฐฯ ทราบข่าวว่า มีเงินสนับสนุนจากภายนอกเข้ามาสร้างปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตรงนี้นายอภิสิทธิ์ ได้เบี่ยงเบนแจงไปว่า ไทยเน้นการพัฒนาพื้นที่ โดยอาศัยการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน และเพื่อนบ้าน เน้นด้านการศึกษาและการพัฒนาเศรษฐกิจ ในพื้นที่เป็นหลัก

นางฮิลลารี บอกว่าในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ด้านการเมืองและความมั่นคง ทางสหรัฐฯ ให้ความสำคัญมาก พร้อมที่จะสนับสนุนให้มากยิ่งขึ้น
" ทางบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ บอกว่า ภายใน 4 ปีนี้ สหรัฐฯ จะให้ความสำคัญกับภูมิภาคอาเซียนอย่างกว้างขวางขึ้น และการประชุมเอเปก ในเดือนกันยายน ที่สิงคโปร์สหรัฐฯ ก็ให้ความสำคัญ โอกาสนี้นายอภิสิทธิ์ ถือโอกาสเชิญนายบารัค โอบามา มาเยือนไทย ซึ่งนางฮิลลารี ก็ยินดี

"มาร์ค"ตั้งใจหารือ 2 ส่วนสำคัญ

ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว ก่อนการหารือกับนางฮิลลารี ว่าเรื่องที่จะหารือกันมี 2 ส่วนคือ 1. เรื่องความสัมพันธ์ไทย- สหรัฐฯ ที่มีมาอย่างยาวนานโดยจะพูดถึงความร่วมมือต่อไป ภายใต้เศรษฐกิจการเมืองที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง โดยไทย-สหรัฐฯ ยังคงต้องมีความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่อกัน ส่วนความร่วมมือทางด้านอื่นๆ ทั้งด้านความมั่นคง และสังคม ก็จะมีการสานต่อ ต่อไปโดยสัญญาณที่ดีคือ การที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับภูมิภาคนี้มากขึ้น

2 . การหารือในสถานการณ์ต่างๆ ทั้งในโลกและในภูมิภาคในฐานะที่ไทยเป็นประธานอาเซียน คือ การที่สหรัฐฯ ได้ให้ความสำคัญ และทำสนธิสัญญาไมตรีต่ออาเซียน และบทบาทของไทยและสหรัฐฯ ที่จะช่วยกันดูแลปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงในภูมิภาค ตั้งแต่คาบสมุทรเกาหลี จนถึง สถานการณ์ในประเทศพม่า ซึ่งคาดว่าจะต้องมีการหารือกัน โดยเฉพาะการประเมินเรื่องการเดินทางไปพม่า ของเลขาธิการสหประชาชาติ

"โดยไทยจะยืนยันจุดยืนเดิมของไทยและเห็นว่าสหรัฐจะมีการทบทวนท่าทีเช่นกัน คาดว่าน่าจะเป็นแนวทางที่สอดคล้องกัน เพราะยังมีมาตรการบางอย่างที่ไทยได้รับผลกระทบ เช่น เรื่องอัญมณี ก็จะมีการพูดคุยกัน” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

เผยสหรัฐฯห่วงปัญหา"ซูจี"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเช้า ก่อนที่นางฮิลลารีจะเดินทางมาถึงประเทศไทยนั้น นายเคิร์ท แคมป์เบลล์ รมช.ต่างประเทศ ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ของสหรัฐอเมริกา ก็ได้เข้าพบนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง โดยนายสุเทพ เปิดเผยหลังการหารือว่า เป็นการเข้าพบเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่นางฮิลลารี จะเดินทางมาร่วมการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในทางการเมืองในบางประเด็น ประการแรก คือ สหรัฐฯ สนับสนุน และชื่นชมการทำงานของรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ยึดแนวทางประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งทางสหรัฐฯพร้อมให้ความร่วมมือกับรัฐบาลไทยทุกด้าน

ประการที่สอง สหรัฐฯได้แสดงความห่วงใยต่อกรณีนางอองซาน ซูจี ที่ได้รับการปฏิบัติจากรัฐบาลทหารพม่า ซึ่งสหรัฐฯไม่สบายใจเรื่องนี้ ตนได้เรียนให้ทราบว่า นายอภิสิทธิ์ ได้แสดงจุดยืนชัดเจนในฐานะประธานอาเซียนว่า ต้องการให้นางอองซาน ซูจี ได้รับการปฏิบัติที่ถูกต้องตามหลักกฎหมายทางประชาธิปไตย อย่างไรก็ตามได้เรียนว่า พม่า กับไทย เป็นเพื่อนบ้านกัน ดังนั้นจะต้องระมัดระวังเรื่องภายในของพม่า ซึ่งไทยจะเป็นมิตรที่ดีต่อกัน แม้ว่าจะมีความเห็นทางการเมืองต่างกัน

นอกจากนี้นายเคิร์ท ยังได้สอบถามเรื่องปัญหาชายแดนไทย-เขมร ซึ่งตนได้เรียนให้ทราบว่า ตนได้พบกับนายกฯ ฮุนเซน 2-3 ครั้งแล้ว และมีความเห็นตรงกันว่า อยากให้เกิดความสงบสุข ไม่ต้องการให้มีปัญหากระทบกระทั่งรุนแรงตามแนวชายแดน ทั้งนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจาก การขึ้นทะเบียนมรดกโลก จึงทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้น ซึ่งเชื่อว่าปัญหานี้จะคลี่คลายได้

ฝากดูแล"ม้ง"อพยพ

นายสุเทพ กล่าวด้วยว่า นายเคิร์ท ยังได้ฝากถึงเรื่องปัญหาชาวม้งอพยพในไทย ซึ่งตนเรียนให้ทราบว่า ไทยจะร่วมมือกับรัฐบาลลาว เพื่อคัดเลือกผู้ที่จะสมัครใจจะเดินทางกลับไปประเทศลาว ส่วนผู้ไม่สมัครใจเดินทางกลับไป ไทยก็จะดูแลกันต่อไป
ส่วนปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตนได้ชี้แจงว่า เราจะแก้ไขปัญหาตามแนวทางพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” โดยระบุว่า รัฐบาลได้ทุ่มงบประมาณถึง 63,000 ล้านบาท เพื่อเข้าช่วยแก้ปัญหาความยากจน ยกระดับรายได้ และยืนยันว่าเราจะไม่ใช้วิธีการอุ้ม ฆ่า ตามล่า สังหารอย่างในอดีตโดยเด็ดขาด ซึ่งนายเคิร์ท ได้แสดงความเชื่อมั่นต่อความเป็นผู้นำของนายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะและหวังว่าไทยจะแก้ปัญหาได้สำเร็จ ถ้ามีปัญหาอะไรก็ยินดีช่วยเหลือ

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการสอบถามถึงคุกลับในไทยตามที่สำนักข่าววอชิงตันโพสต์ เสนอข่าวไปหรือไม่ นายสุเทพ กล่าวว่า ไม่มี เพราะไม่มีคุกลับ ตนก็ไม่รู้จะไปหารือกับใคร เมื่อถามว่าได้สอบถามไปยังสำนักข่าวดังกล่าวหรือไม่ นายสุเทพ กล่าวว่า แล้วทำไมเราต้องไปสอบถามเขา ในเมื่อเรารู้ว่า ไม่มีจะไปถามเขาทำไม

ด้านนายเคิร์ท กล่าวว่า การพบปะครั้งนี้เป็นครั้งแรก กับรองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง ถือว่าเป็นการพบปะที่ดี และเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ โดยสหรัฐฯ ยังยืนยันความสัมพันธ์กับไทย และประเทศสมาชิกอาเซียน ครั้งนี้ถือว่าเป็นการมาเยือนต่างประเทศเป็นครั้งแรกของนางฮิลลารี คลินตัน ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะเดินทางมาถึงไทยในช่วงบ่ายนี้ (21ก.ค.) โดยจะเดินทางไปเข้าร่วมประชุมอาเซียน ว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เออาร์เอฟ
กำลังโหลดความคิดเห็น