xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจการเงินยุคใหม่:กลไกรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประเทศไทยพึ่งพาการนำเข้าพลังงานโดยเฉพาะน้ำมันในระดับสูง ในปี 2551 มีการนำเข้าน้ำมันดิบ 290 ล้านบาร์เรล คิดเป็นมูลค่าราว 29,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ น้ำมันดิบที่ผลิตได้เองจากแหล่งในประเทศเช่นที่จังหวัดกำแพงเพชรหรือเชียงใหม่ก็เป็นเพียงเล็กน้อย ประมาณร้อยละ 14 ของความต้องการใช้ทั้งหมด การที่ประเทศต้องพึ่งพาพลังงานจากภายนอกทำให้เกิดความเสี่ยงต่อความผันผวนของระดับราคาพลังงานโดยเฉพาะน้ำมันนำเข้า ซึ่งจะส่งผลต่อเสถียรภาพของภาคการผลิตและส่งออกของประเทศได้

ในอดีตก่อนปี 2534 ซึ่งรัฐบาลยังไม่ได้ปล่อยให้ราคาน้ำมันเคลื่อนไหวตามราคาตลาดโลก ราคาน้ำมันจะคงที่อยู่ในช่วง เวลาหนึ่งโดยมีกลไกรักษาระดับราคาคือการปรับอัตราภาษีสรรพสามิตและอัตราการนำส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมัน(หรือชดเชยจากกองทุนฯ) ในช่วงที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับสูงขึ้นอย่างมากหากรัฐบาลต้องการรักษาระดับราคาขายปลีกในประเทศให้คงที่เช่นเดิมก็จะใช้วิธีการจ่ายเงินอุดหนุนจากกองทุนฯ ให้ผู้ค้าน้ำมัน เงินที่อยู่ในกองทุนฯ มาจากการเก็บเงินจากผู้ค้าน้ำมันในช่วงที่ราคาน้ำมันถูกแล้วสะสมไว้) เงินก็จะไหลออกจากกองทุนจนถึงระดับหนึ่งที่จะกระทบสถานะการเงินของกองทุนฯ ก็จะปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันลงแทนการใช้เงินกองทุนน้ำมัน หากราคายังคงสูงต่อเนื่องจนเกินระดับกลไกจะรองรับได้ในที่สุดก็จะปรับขึ้นราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ กลไกข้างต้นทำให้รัฐบาลในอดีตสามารถรักษาราคาน้ำมันไม่ให้ผันผวนได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น ในสถานการณ์ที่ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นต่อเนื่องก็จำเป็นต้องปรับเพิ่มราคาอยู่ดี ขอโต้แย้งของความพยายามรักษาราคาให้คงที่ก็คือเป็นการบิดเบือนราคาที่แท้จริงทำให้ผู้ใช้ไม่ตระหนักถึงต้นทุนที่แท้จริงทำให้ความต้องการใช้น้ำมันไม่เป็นไปตามกลไกตลาดที่เมื่อราคาสูงขึ้นความต้องการควรลดต่ำลงแต่หากรัฐบาลเข้าตรึงราคาไว้ในระดับเดิมผู้ใช้ก็จะยังคงใช้ในปริมาณเท่าเดิม ทำให้ประเทศต้องน้ำเข้าน้ำมันคิดเป็นมูลค่าสูงขึ้นอย่างมาก นอกจากนี้กลไกดังกล่าวก็ไม่มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการเนื่องจากในการปรับราคาแต่ละครั้งก็ต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติ (จะเห็นได้ว่าสมัยก่อนการปรับราคาน้ำมันเป็นเรื่องการเมืองด้วย ซึ่งเคยทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลต้องสั่นคลอนเนื่องจากการรับขึ้นราคาน้ำมัน)

ต่อมาเมื่อราคาน้ำมันลดลงและมีเสถียรภาพขึ้นก็มีการปล่อยลอยตัวราคาน้ำมันในปี 2534 และยกเลิกบทบาทกองทุนน้ำมัน ในการตรึงราคาผลิตภัณฑ์น้ำมัน เหลือแต่หน้าที่ในการชดเชยราคาก๊าซแอลพีจีเพื่อให้มีราคาขายที่ต่ำลงและเท่ากันทั้งประเทศ อย่างไรไรก็ดีเมื่อราคาน้ำมันตลาดโลกได้ทะยานขึ้นอีกครั้งในช่วงหลายปีก่อนรัฐบาลก็ได้หันกลับไปใช้กองทุนน้ำมันเพื่อชดเชยราคาขายให้ต่ำกว่าความจริงจนทำให้มีภาระหนี้สินมากหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งเพิ่งจะทยอยล้างหนี้ได้หมดเมื่อไม่นานมานี้

หลายประเทศมีการใช้กองทุนรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน เช่น รัสเซีย นอร์เว กรณีของรัสเซีย รายรับ กองทุนมาจากภาษีน้ำมันทั้งที่ส่งออกและขายในประเทศ ของนอร์เวมาจากภาษีธุรกิจและใบอนุญาตกิจการน้ำมันตลอดจนรายได้ของรัฐวิสาหกิจ ขณะที่บางประเทศใช้เงินจากภาษีหรือจากเงินงบประมาณมาอุดหนุนราคาโดยตรงเลย เช่น มาเลเซียและอินโดนีเซีย เป็นต้น

การที่ภาครัฐต้องการสร้างเสถียรภาพราคาน้ำมันเพื่อให้เศรษฐกิจโดยรวมดำเนินไปได้อย่างราบรื่นก็เป็นเรื่องที่สมควรแต่การใช้ กลไกกองทุนน้ำมันก็มีข้อจำกัดในเรื่องเงินที่จะนำมาจ่ายอุดหนุนเพื่อตรึงราคาน้ำมัน หากมีวิธีที่จะหาแหล่งเงินอื่นมาช่วยเสริมรายรับกองทุนฯ ที่เก็บเข้าจากการจ่ายของผู้ขายน้ำมันก็จะทำให้รัฐสามารถขยายเวลาการอุดหนุนราคาน้ำมันออกไปได้อีก แนวทางที่มีผู้เสนอเขามาคือการซื้อเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากราคาผันผวนที่เรียกว่า Call Option โดยหน่วยงานที่ดูแลเรื่องราคาน้ำมันซื้อ Call Option ที่ตกลงว่าสามารถจะเลือกที่จะซื้อน้ำมัน ณ ระดับราคาที่ตกลงในอนาคตหรือไม่ซื้อก็ได้หากราคาน้ำมันในอนาคตต่ำกว่าระดับที่อยู่ในข้อตกลง โดยต้นทุนของธุรกรรมนี้จะ เรียกว่า Premium ซึ่งต้องจ่ายทันทีก่อนการซื้อน้ำมันจริง ประโยชน์ของ Call Option คือให้ทางเลือกว่าเมื่อราคาตลาดในอนาคตขึ้นสูงกว่าราคาในข้อตกลง เราก็จะได้รับผลตอบแทนจากส่วนต่างราคา และสามารถนำผลตอบแทนนี้ไปใช้ในการอุดหนุนราคาน้ำมันได้อีกต่อหนึ่ง แต่ถ้าราคาในตลาดโลกต่ำลงกว่าราคาในข้อตกลงเมื่อถึงกำหนดต้องซื้อเราก็ไม่จำเป็นต้องซื้อ ณ ราคาในข้อตกลงแต่ซื้อจากที่ราคาตลาดแทนได้ เนื่องจากเราได้จ่ายค่าใช้จ่ายในการทำ Call Option ไปแล้ว อันที่จริงเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงประเภทนี้ในภาคเอกชนมีการใช้อย่างแพร่หลายในโดยเฉพาะในด้านอัตราแลกเปลี่ยน สำหรับในเรื่องน้ำมันในระดับประเทศก็เริ่มใช้กันแล้วทั้งที่เป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันเช่นเม็กซิโก (ใช้ในกรณีราคาตกต่ำเพื่อรักษารายรับจากการขายน้ำมัน) หรือประเทศผู้นำเข้า เช่น อินเดีย การใช้ Call Option เป็นเครื่องมือป้องกันความผันผวนของราคาน้ำมันพร้อมกันกับใช้เป็นเครื่องหารายได้ก็เป็นอีกแนวทางที่ควรจะได้พิจารณาอย่างรอบคอบในการนำมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลเสถียรภาพราคาน้ำมันในระยะสั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น