xs
xsm
sm
md
lg

ผลสำรวจพบอุตฯปิโตรเคมีจ่ายค่าจ้างพนักงานสูงสุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- ส.อ.ท.จับมือม.ศรีปทุมเปิดเผลสำรวจค่าจ้างและสวัสดิการประจำปี 52/53 พบอุตสาหกรรมปิโตรเคมีให้ค่าจ้างแรงงานสูงสุดทั้งระดับผู้บริหารและระดับปฏิบัติการ ต่ำสุดเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมรองเท้า ขณะที่แนวโน้ม 8 เดือนหลังของปี 52 บริษัทส่วนใหญ่มีนโยบายลดโบนัส

นายประพันธ์ ชัยกิจอุราใจ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ในฐานะประธานคณะทำงานจัดทำโครงการสำรวจค่าจ้างและสวัสดิการประจำปี 52/53 ซึ่งเป็นโครงการที่ร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงผลสำรวจจากสถานประกอบการ 360 แห่งว่าค่าจ้างส่วนของผู้บริหารระดับสูงที่ได้รับอัตราค่าจ้างสูงสุดอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีโดยมีค่าจ้างเฉลี่ยเดือนละ 179,000 บาท ขณะที่ต่ำสุดอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมรองเท้ามีค่าจ้าง 38,000 บาท  ส่วนค่าจ้างในระดับพนักงานปฏิบัติการณ์สูงสุดยังคงเป็นอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเช่นกันโดยมีค่าจ้างที่ระดับ 15,000  บาท ต่ำสุดเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมรองเท้าอยู่ที่ 6,697 บาท

สำหรับค่าจ้างขั้นต้นจำแนกตามวุฒิการศึกษาพบว่าค่าจ้างระดับปวช. 6,410 บาท ปวส. 7,422 บาท ปริญญาตรี 10,964 บาท ปริญญาโท 16,844 บาท และปริญญาเอก 27,021 บาท ส่วนค่าจ้างของผู้มีประสบการณ์โดยเฉลี่ยพบว่า ค่าจ้างพนักงานปฏิบัติการ 9,457 บาท เจ้าหน้าที่ 15,280 บาท ผู้บริหารกลุ่มงานระดับต้น 28,346 บาท ผู้บริหารกลุ่มงานระดับกลาง 47,545 บาทและผู้บริหารกลุ่มงานระดับสูง 80,034 บาท

นายประเสริฐ สิทธิจิรพัฒน์ ผู้ประสานงานหลักสูตรการจัดการดุษฎีบัณฑิต คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวว่า การสำรวจด้านสวัสดิการและนโยบายการจ้างงานพบว่า เนื่องจากคณะทำงานได้เก็บสำรวจข้อมูลช่วงเม.ย.จึงใช้ฐานข้อมูลช่วงม.ค.-เม.ย. 52 เปรียบเทียบกับ 8 เดือนสุดท้ายคือ พ.ค.-ธ.ค. 52 พบว่า อันดับหนึ่ง บริษัทส่วนใหญ่ยังคงการจ้างงานปกติโดย 4 เดือนแรกอยู่ที่ 70% และ 8 เดือนหลังอยู่ที่ 65.3% อันดับสองเป็นการรับคนเพิ่มเปลี่นแปลงลดลงจาก 23.6% เป็น 13.6% และนโยบายลดจำนวนวันทำงานลงเปลี่ยนแปลงลดลงจาก 11.1 % เป็น 11.2%

“ผลสำรวจพบว่าบริษัทให้ความสำคัญกับนโยบายที่จะปรับลดโบนัสในช่วง 8 เดือนสุดท้ายมากขึ้นกว่า 4 เดือนแรกแต่อัตราที่จะลดโบนัสนั้นลดลงจาก 9.2% เหลือ 4.2% บ่งชี้ว่าบริษัทส่วนใหญ่ได้มีการเลือกลดโบนัสไปแล้วช่วง 4 เดือนแรกแต่ก็ยังคงให้ความสำคัญกับการลดโบนัสอยู่แต่การปรับเพิ่มวันทำงานนั้นอยู่อันดับสุดท้ายซึ่งบ่งชี้ถึงภาคการผลิตยังคงไม่ดีนัก”นายประเสริฐกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น