xs
xsm
sm
md
lg

บจ.ใหม่ปีนี้ส่อพลาดเป้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการรายวัน – วงการตลาดหุ้นเชื่อหุ้นไอพีโอปี 52 อาจพลาดเป้าที่ 37 ราย หลังเจอปัจจัยลบรุมเร้าตลาดหุ้นไตรมาส 3/52 และครึ่งปีแรกยังไม่ถึงครึ่ง มูลค่าระดมทุนแค่ 687 ล้านบาท ไม่ติดฝุ่นปีก่อนที่สูงถึง 1.8 หมื่นล้านบาท ด้าน"ชนิตร" เชื่อไม่มีบริษัทเลื่อนเทรด ชี้ชัดปีนี้ภาพรวมดีกว่าปี 2551 ส่วนโบรกเกอร์แบ่งรับแบ่งสู้ภาวะตลาดกับราคาหุ้น แต่ยืนยันทุกบริษัทที่เข้าระดมทุนปัจจัยพื้นฐานดี
วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้น และยังไม่มีท่าทีจะยุติลง สร้างผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยในหลายด้าน ทั้งด้านภาวะดัชนีหุ้นที่มีความผันผวน มูลค่าการซื้อขายลดลง เม็ดเงินต่างชาติไหลเข้ามาในระยะสั้นสูงมาก ขณะเดียวกัน ยังส่งผลกะทบถึงการนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯด้วยเช่นกัน จึงทำให้มีการคาดการณ์ว่า สุดท้ายแล้วภายในสิ้นปีนี้จะมีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯไม่ถึง 37 รายตามที่คณะกรรมการตลาดหุ้นได้ปรับลดเป้าเอาไว้จากเดิม 46 รายในช่วงแรก
ASTV ผู้จัดการรายวัน ได้สำรวจพบว่า ในช่วงครึ่งปีแรก 2552 มีหลักทรัพย์ใหม่ที่เข้ามาซื้อขายเพียง 7 ราย โดยแบ่งเป็นในตลาดหลักทรัพย์ฯ 2 ราย ได้แก่ TTCL และ JMART ส่วนอีก 5 ราย ในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ หรือ mai ได้แก่ AIM AGE TPOLY HTECH และ QLT โดยมี 6 บริษัทที่ประเดิมซื้อขายวันแรกและสามารถยืนเหนือราคาจองเมื่อปิดตลาดได้ มีเพียง TPOLY เพียงรายเดียวเท่านั้น ที่ราคาปิดต่ำกว่าราคาจอง (ตารางประกอบข่าว)

**ย้อนมูลค่าระดมทุนลดลงวูบ!
ส่วนสถิติในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า ในปีนี้มีโอกาสที่จะมีบริษัทจดทะเบียนใหม่(ตลาดหลักทรัพย์ฯ และ ตลาดmai) มากกว่า ปี 2550 และปี 2551 ซึ่งมีจำนวน 13 และ 12 รายตามลำดับ โดยในปี2549 มีบริษัทเข้าจดทะเบียน 18 ราย และในปี 2547 กับปี 2548 มีจำนวนสูงถึง 50 รายเท่ากัน ภายใต้เงื่อนไขเป้าบริษัทจดทะเบียนของตลาดหลักทรัพย์ฯไม่คาดเคลื่อนมากนัก
อย่างไรก็ตาม มูลค่าระดมทุนของบริษัทจดทะเบียนใหม่ในปีนี้ทั้ง 7 รายเมื่อรวมกันยังมีน้อยกว่าช่วง 5 ปีที่ผ่านมามากนัก โดยครึ่งปีแรก 2552 ทั้ง 7 ราย มีมูลค่าระดมทุนเพียง 687.50 ล้านบาท ขณะที่ปี 2551 มีมูลค่า 18,389.30 ล้านบาท ปี2550 มีมูลค่า 10,782.50 ล้านบาท ปี 2549 มีมูลค่า 36,786.88 ล้านบาท และปี 2548 มีมูลค่า 30,149.30 ล้านบาท

**เปิดโผรายชื่อว่าที่IPOน้องใหม่
ขณะเดียวกันเมื่อตรวจสอบข้อมูลไปยังสำนักงานก.ล.ต.พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 10 ก.ค. 2552 มีจำนวน 6 บริษัทที่นับ 1 Filing (ไฟลิ่ง) แล้ว ได้แก่ บมจ.เนชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็นดูเทนเมนท์ เริ่มนับ 1 ไฟลิ่งเมื่อวันที่ 30 เม.ย. ,บมจ.ธนาสิริ กรุ๊ป เริ่มนับ 1ไฟลิ่ง 18 พ.ค. ,บมจ.เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น เริ่มนับ 9 มิ.ย. , บมจ. มุ่งพัฒนา อินเตอร์แนชชั่นแนล เริ่มนับ 12 มิ.ย. ,บมจ.เกียรติธนา ขนส่ง เริ่มนับ 19 มิ.ย. และบมจ. วินเทจ วิศวกรรม เริ่มนับ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา
ส่วนบริษัทที่อยู่ระหว่างยื่นต่อสำนักงานก.ล.ต. นอกเหนือจาก 6 รายข้างต้น ได้แก่ บมจ.ยูบิลี่ เอ็นเตอร์ไพรส์ , บมจ.โอเพ่น เทคโนโลยี ,บมจ.เซาท์เทิร์นสตีล ,บมจ.สาลี่คัลเลอร์ , บล.ไอร่า, บมจ.สหวิริยา เพลทมิล, บมจ.ไทยสตีลโปรไฟล์, บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต , บมจ.ผลธัญญะ ,บมจ.สตาร์ส ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ , บมจ.สยามโกลบอลเฮ้าส์ , บมจ.เมืองใหม่ กัตทรี, บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ ,บมจ.สหไทยสตีลไพพ์ , บมจ.ธนาสิริ กรุ๊ป, บล. เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ จำกัด , บมจ.ไทยง้วนเอทานอล,บมจ. ธีระมงคลอุตสาหกรรม,บมจ. ซีทีวี ดอลล์ และบมจ.เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ ที่กำลังจะเปิดซื้อขายวันแรกในวันที่ 28 ก.ค.นี้

**ตลท.ลั่น10รายจ่อประเดิมเทรดก.ย.
นายชนิตร ชาญชัยณรงค์ ผู้ช่วยผู้จัดการ กลุ่มงานผู้ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน ตลาดหลักทรัพย์ฯ กล่าวว่า จากที่ผู้คาดการณ์ภาวะตลาดหุ้นในไตรมาส 3 นี้จะไม่ดีนัก ส่วนตัวเชื่อว่าเรื่องดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อบริษัทที่เตรียมตัวจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และตลาดเอ็มเอไอ เนื่องจากทุกบริษัททราบดีว่าภาวะตลาดหุ้นมีความผันผวน ซึ่งถือว่าปกติ และทิศทางตลาดหุ้นปีนี้ถือว่าดีกว่าปีที่ผ่านมา อีกทั้งจากที่ได้หารือกับบรรดาบริษัทต่างๆซึ่งมีแผนเข้าจด ในไตรมาส 3 พบว่า ยังไม่มีรายใดขอเลื่อนแผนการเข้าจดทะเบียนออกไป
ปัจจุบัน มีบจ.อยู่ระหว่างกำหนดวันเปิดจองซื้อหุ้นและเข้าจดทะเบียน 10 แห่ง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลประกอบการไตรมาส 2 ที่จะใช้ประกอบการตัดสินใจในการกำหนดราคาและวันเปิดจอง เพราะผู้บริหารมั่นใจผลประกอบการจะอยู่ในเกณฑ์ดีและเป็นปัจจัยที่จะสร้างความสนใจให้นักลงทุนเข้ามาซื้อหุ้นไอพีโอ ซึ่งคาดว่าจะหลายบริษัทที่จะเปิดจองในช่วงปลายเดือนสิงหาคม และเข้าซื้อขายได้ในเดือนกรกฎาคมนี้
อย่างไรก็ตามแม้ผลประกอบการไตรมาส2 ของบางบริษัทจะออกมาไม่ดี เชื่อว่าบริษัทดังกล่าวยังคงเดินหน้าเข้าจดทะเบียนตามกำหนดเดิม เพราะจะครบกำหนดระยะเวลาที่ก.ล.ต.อนุญาตให้เสนอขายหุ้น และปีนี้จะเป็นปีสุดท้ายที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ทำให้บริษัทที่ได้รับการอนุญาตแล้วต้องเดินหน้าเข้าจดทะเบียนต่อไป

**ฝ่ายไอบีเชื่อภาวะหุ้นQ3ไม่กระทบIPO
นายเอกจักร บัวหภักดี ผู้จัดการฝ่ายวาณิชธนกิจ บล.พัฒนสิน กล่าวว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยที่อาจจะปรับตัวลดลงในช่วงไตรมาส 3/52 อาจมีผลต่อการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนเช่นกัน แต่คงไม่มากนัก เนื่องจากทุกฝ่ายเข้าใจสถานการณ์ดี และมีความพร้อมในเข้าจดทะเบียนอยู่แล้ว
ส่วนความกังวลว่าหากนำหุ้นเข้ามาซื้อขายในช่วงภาวะตลาดไม่ดี และอาจทำให้ราคาในวันแรกปิดต่ำกว่าราคาที่เสนอขายนั้น เชื่อว่าทุกอย่างอยู่ที่จังหวะเวลาในการเข้าจดทะเบียน และไม่มีผลต่อบริษัทมากนัก เนื่องจากทุกบริษัทที่บล.พัฒนสินเป็นที่ปรึกษา ล้วนมีพื้นฐานทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง โดยในไตรมาส 3 นี้ มีจำนวน 2 บริษัทได้แก่ บมจ.ยูบิลี่ เอ็นเตอร์ไพรส์ และ บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต
นายชูพงศ์ ธนเศรษฐกร กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บล.คันทรี่ กรุ๊ป กล่าวว่า ภาวะตลาดหุ้นที่ไม่ค่อยดีนักในไตรมาส 3 นี้จะไม่มีผลกระทบต่อแผนการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนแต่อย่างใด เนื่องจากดีลของบริษัทล้วนมีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง โดยในเดือนสิงหาคมนี้ บมจ.เซาท์เทิร์นสตีล ซึ่งบริษัทรับเป็นที่ปรึกษา จะเดินหน้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ตามกำหนดการเดิม ส่วนเป้าการนำบริษัทเข้ามาจดทะเบียนในปี 2552 นั้น ทางบล.คันทรี กรุ๊ป ไม่ได้กำหนดตัวเลขที่ตายตัว แต่ขอเลือกนำเข้าจากความพร้อม และสภาพธุรกิจที่ความแข็งแกร่งมากกว่า
นายสมภพ ศักดิ์พันธ์พนม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด หรือ APM กล่าวว่า แนวโน้มหุ้นไอพีโอในไตรมาส3/52 ยังอยู่ในช่วงขาขึ้น แม้จะไม่หวือหวาเหมือนในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา แต่เชื่อว่าจะได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดี ซึ่งโดยส่วนใหญ่หุ้นไอพีโอที่เข้ามาระดมทุนในช่วงนี้จะเป็นหุ้นของบริษัทที่มีพื้นฐานดี ที่เป็นเครื่องดึงดูความสนใจของนักลงทุนได้ อีกทั้งปัจจัยในเรื่องของการลดหย่อนภาษีอาจมีส่วนเข้ามาเป็นจุดกระตุ้นการเข้าระดมทุนของบรรดาบริษัทจดทะเบียนได้ รวมถึงในเรื่องของดอกเบี้ยเงินฝากที่ต่ำก็อาจเป็นจุดที่ส่งผลให้นักลงทุนต่างหันมาลงทุนในตลาดหุ้นแทนการนำเงินไปออมในธนาคาร
สำหรับในปีนี้บริษัทคาดการณ์รายได้ของธุรกิจวาณิชธนกิจ (FA) ที่เติบโตขึ้น 20-30% จากปีก่อนที่มีรายได้ประมาณ 40-50 ล้านบาท โดยในปีนี้ตั้งเป้านำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ประมาณ 3-5 บริษัท ซึ่งที่ผ่านมาได้นำบมจ. เอเชีย กรีน เอนเนอจี (AGE) เข้าจดทะเบียนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และในช่วงเดือนกรกฎาคมจะนำบมจ. เสนาดีเวลลอปเม้นท์ หรือ SENA เข้าจดทะเบียนอีก 1 บริษัท โดยจะเข้าเทรดในวันที่ 28 กรกฎาคมนี้ และบมจ. สยามโกลบอลเฮ้าส์ ในช่วงเดือนสิงหาคมนี้
นอกจากนี้ ภายในปีนี้ยังมีอีกประมาณ 2 ราย คือ บมจ. ธีระมงคลอุตสาหกรรม หรือ TMI บมจ. ซีทีวี ดอลล์ รวมทั้งได้ตั้งเป้าในปี 53 อีก 3-5 บริษัท อาทิ บริษัท คาตัลอุตสาหกรรม จำกัด (CARL TON),บริษัท UNITRIO , บริษัทนิลโกศล จำกัด ,บริษัท ZEMAT จำกัด และบริษัท กระปุกดอทคอม จำกัด ทั้งนี้ แต่ละบริษัทจะมีกองทุนเข้าร่วมถือหุ้นด้วยในสัดส่วนประมาณ 10-15%
ด้านนายวิชา โตมานะ หัวหน้าฝ่ายวาณิชธนกิจ บล. ฟิลลิป (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไอพีโอในช่วงไตรมาส 3 นี้คงไม่คึกคักเท่าที่ควร เนื่องจากกระแสของการเลื่อนเข้าจดทะเบียนที่ส่งสัญญาณมาตั้งแต่ในช่วงปลายปีที่แล้ว ทำให้ตลาดซบเซาลงไป โดยในปีนี้บริษัทมีดีลที่จะนำเข้าจดทะเบียนอยู่จำนวน 2 ราย คือ บมจ. ควอลลีเทค (QLT) ที่นำเข้าจดทะเบียนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และบมจ.เกียรติธนาขนส่ง ที่คาดว่าจะเข้าซื้อขายในตลาดเอ็มเอไอได้ปลายไตรมาส 3 ส่วนปีหน้าบริษัทมีแผนที่จะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนจำนวน 3 บริษัท โดยทั้งหมดนี้จะเข้าจดทะเบียนในตลาดเอ็ม เอ ไอ ซึ่งเป็นธุรกิจประเภทวัสดุอุตสาหกรรม ธุรกิจเกษตร และธุรกิจสื่อสาร
“ผมประเมินว่าในไตรมาส 3 นี้ มีความเป็นไปได้ที่หุ้นใหม่จะเข้าจดทะเบียนไม่ถึง 10 บริษัท ตามที่หลายฝานคาดการณ์ไว้ ซึ่งจะส่งผลต่อเป้าหมายทั้งปีของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ตั้งไว้ 37 บริษัทด้วย แต่ยังมีโอกาสดีขึ้นกว่าช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2549 -2551) ซึ่งจำนวนบริษัทเข้าจดทะเบียนเพียง 18 , 13 และ 12 รายตามลำดับ”
กำลังโหลดความคิดเห็น