xs
xsm
sm
md
lg

ปิดงบ51ธปท.ขาดทุนยับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ธปท.ปรับวิธีคำนวณการรับรู้กำไรขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ตามกฎหมายธปท.ใหม่ ไม่เอาผลขาดทุนหรือกำไรที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงมาคำนวณในงบ แต่ใช้วิธีตั้งสำรองเงินเผื่อขาดทุนจากการตีราคาสินทรัพย์แทน ส่งผลให้ปี 2551 ที่ผ่านมา ธปท.ได้กำไรจากการแทรกแซงค่าบาทกว่า 3.8 หมื่นล้านบาท และมีกำไรจากการดำเนินการกว่า 3 หมื่นล้านบาท แต่เมื่อรวมกับขาดทุนสะสมเก่าที่ใช้แทรกแซงค่าบาทเมื่อ 2 ปีก่อนกว่า 1.05 แสนล้านบาท ทำให้งบดุล ธปท.ยังขาดทุนสะสมกว่า 7.4 หมื่นล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้รายงานงบการเงินประจำปี 2551 ที่ผ่านมาของธปท.โดยในส่วนงบกำไรขาดทุน ในปี 2551 ที่ผ่านมา โดยธปท.มีรายได้ทั้งสิ้น 1.14 แสนล้านบาท โดยเป็นรายได้จากดอกเบี้ยรับจากการลงทุน 6.82 หมื่นล้านบาท รายได้จากค่าธรรมเนียม 466.3 ล้านบาท มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศสุทธิในการดูแลทุนสำรองทางการในฝ่ายการธนาคาร 3.86 หมื่นล้านบาท และมีรายได้อื่น 7.4 พันล้านบาท ขณะที่มีรายจ่ายทั้งสิ้น 8.42 หมื่นล้านบาท โดยเป็นรายจ่ายที่เกิดขึ้นจากดอกเบี้ยจ่ายทั้งสิ้น 7.62 หมื่นล้านบาท รายจ่ายด้านพนักงาน 3.26 พันล้านบาท และรายจ่ายอื่นๆ 4.71 พันล้านบาท ทำให้ปี 2551 ที่ผ่านมา ธปท.มีกำไรจากการดำเนินการสุทธิ 3 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในปี 2550 ที่ผ่านมา ธปท.มีขาดทุนสะสมจากการขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนจากการดูแลค่าเงินบาทในปี 2549-2550 คงค้างอยู่ 1.05 แสนล้านบาท ทำให้เมื่อรวมกับกำไรในปี 2551 แล้ว ธปท.ยังมีตัวเลขขาดทุนสะสมทั้งสิ้น 7.44 หมื่นล้านบาท และมีทุนจดทะเบียนติดลบ 6.92 พันล้านบาท โดยณ สิ้นเดือน ธ.ค.2551 ธปท.มีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 2.48 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 4.92 แสนล้านบาท จาก 1.996 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือน ธ.ค.2550 ขณะที่มีหนี้สิน 2.495 ล้านล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในงบการเงินของ ธปท.ในปี 2551 นี้ ได้มีการเปลี่ยนแปลงการทำบัญชีใหม่ ให้เป็นไปตามหลักการของพ.ร.บ.ธปท.ฉบับใหม่ที่แก้ไขในปี 2551 ที่ผ่านมา ซึ่งมีแนวคิดที่ว่า ในการตีราคาอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทนั้น ควรจะตีราคาจากวันที่เกิดขึ้นจริงมากกว่าใช้ราคาค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปี หรือใช้อัตราแลกเปลี่ยน ณ สิ้นเดือนก่อน และไม่ควรที่จะนำการรับรู้กำไร และขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงในการตีราคาอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาททั้งในส่วนที่เป็นเงินทุนสำรองทางการ และสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศมาคำนวณในงบกำไรขาดทุนรายปี แต่ควรจะนำไปไว้ในส่วนทุนแทน

ดังนั้น ในงบการเงินปี 2551 ที่ผ่านมา จึงไม่มีการคำนวณผลกำไร หรือขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงของทุนสำรองทางการที่ยังไม่มีการขายออกไป นอกจากนั้น ยังไม่มีการประมาณการผลกำไรหรือขาดทุนตามสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า ซึ่งจะครบสัญญาในปี 2552 โดย ธปท.ภาระผูกพันที่จะต้องซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐ 6,995 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซื้อเงินยูโร 106.7 ล้านยูโร ซื้อเงินปอนด์ 141.9 ล้านปอนด์ และมีภาระต้องขายเงินดอลลาร์สหรัฐ 213.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขายเงินเยน 20,150 ล้านเยน เงินดอลลาร์ออสเตรเลีย 20 ล้านเหรียญ และขายเงินวอนเกาหลีใต้ 6,150 ล้านวอน

ทั้งนี้ ได้มีการตั้งสำรองอันเกิดจากการตีราคาทรัพย์สิน และหนี้สิน ไว้ทั้งสิ้น 3.95 หมื่นล้านบาท โดยตั้งเป็นส่วนที่คาดว่าจะขาดทุนจากการแปลงค่าสินทรัพย์ และหนี้สินที่เป็นเงินตราต่างประเทศแต่ยังไม่เกิดขึ้นจริงไว้ 1.27 พันล้านบาท ผลขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงจากการปรับมูลค่าตราสารอนุพันธ์ 879.8 ล้านบาท ผลขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงจากมูลค่าสัญญารับขายฝาก 1.44 พันล้านบาท และคาดว่าจะมีกำไรที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงจากการปรับมูลค่าเงินลงทุน 4.31 หมื่นล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น