ธปท.เผยแบงก์ลงทุนตราสารทางการเงินเพิ่มสูงขึ้น เพื่อลดความเสี่ยง และสร้างรายได้จากดอกเบี้ย แต่เชื่อยังไม่ทิ้งการปล่อยสินเชื่อ เพราะเป็นรายได้หลักของแบงก์
นางฤชุกร สิริโยธิน ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์และติดตามฐานะ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงภาพรวมการดำเนินธุรกิจของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 1/2552 โดยระบุว่า ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์มีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ดังนั้น ธนาคารพาณิชย์ได้มีการปรับตัวด้วยการหันมาลงทุนในตราสารหนี้มากขึ้น เช่น พันธบัตรรัฐบาล เอกชน และ หุ้นกู้ เป็นต้น
"คาดว่าในอนาคตธนาคารพาณิชย์มีแนวโน้มสนใจลงทุนในตราสารหนี้มากขึ้น เนื่องจากความเสียงน้อยกว่าการปล่อยสินเชื่อ ประกอบกับสภาพคล่องในปัจจุบันมีปริมาณที่อยู่สูง อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าธนาคารพาณิชย์ยังคงปล่อยสินเชื่อให้กับประชาชนและภาคธุรกิจ เพราะรายได้หลักของธนาคารพาณิชย์ทั้งไทย และธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ ส่วนใหญ่ยังมาจากอัตราดอกเบี้ยเป็นหลัก"
“ปัจจุบันสภาพคล่องในระบบแบงก์มีอยู่สูงถึงประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท ขณะที่สภาพคล่องส่วนเกินมีอยู่ประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท แต่ไม่ได้หมายความว่าแบงก์จะไม่อยากปล่อยสินเชื่อแล้วหันมาหากำไรในพันธบัตรมากกว่า เพราะรายได้หลักของแบงก์ยังมาจากผลกำไรจากดอกเบี้ย แต่ในช่วงที่สินเชื่อชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจแบงก์จึงต้องมีการปรับตัวเพื่อหารายได้อื่นทดแทน”
ทั้งนี้ จากข้อมูลรายได้ของธนาคารพาณิชย์ไทยและต่างประเทศ ไตรมาส 1/2552 พบว่ารายได้ 100% ของระบบธนาคารพาณิชย์ สัดส่วนจะเป็นรายได้ที่มาจากดอกเบี้ยร้อยละ 70 และอีก ร้อยละ 30 จะเป็นรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย เช่น จากการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ ค่าธรรมเนียม ลงทุนอื่นๆ สำหรับยอดคงค้างของรายได้ที่มากจากดอกเบี้ยของระบบธนาคารพาณิชย์ล่าสุดเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับธันวาคมปีก่อนลดลงร้อยละ 8 จากปีก่อน และรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยลดลงร้อยละ 4.8 จากปีก่อน