xs
xsm
sm
md
lg

แนะผ่าทางตันทุนสำรองฯ สูงปรี๊ด ธปท.แก้บาทแข็งไม่สำเร็จ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ณรงค์ชัย” แนะรัฐแคะทุนสำรองบางส่วนมาใช้ เนื่องจากรายได้ติดลบกว่า 5 แสนล้าน อาจทำให้เกิดภาวะขาดดุลงบประมาณมากกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ พร้อมแนะช่อง พ.ร.บ.แบงก์ชาติ มาตรา 35 เปิดโอกาสไว้ เพราะการทำให้ค่าเงินบาทอ่อนคงยาก เพราะทุนสำรองสูงเกินไป แนวโน้มปลายปีอาจแตะระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์ ชี้ปม ธปท.พิมพ์ธนบัตรใช้ 8.9 แสนล้าน แต่ยังมีเงินในบัญชีสำรองพิเศษ 8.8 แสนล้าน จึงสามารถนำออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ โดยควรนำออกมาใช้ประมาณ 20,000-30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเป็นทุนสำหรับการลงทุนโครงการต่างๆ ที่ต้องการใช้เงินตราต่างประเทศ และจะมีผลตอบแทนเพื่อนำมาใช้หนี้ในภายหลังได้

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี กล่าวระหว่างการจัดงานสัมมนา “แนวทางแก้วิกฤติเศรษฐกิจ” โดยระบุว่า จากปัญหาเศรษฐกิจของไทย จำเป็นต้องใช้เงินจากภาคประชาชนมาช่วยแก้ไข เพราะเงินของรัฐบาลหดหายไปมาก โดยเงินที่หมุนเวียนมีสภาพคล่องถึง 1.7 ล้านล้านบาท และเป็นส่วนที่นำมาใช้ได้ทันทีกว่า 820,000 ล้านบาท

นายณรงค์ชัย กล่าวว่า เนื่องจากรายได้ของรัฐบาลหดหายไปมาก เห็นได้จากในปีงบประมาณ 2552 ฐานะการคลัง ในเดือนเมษายน 2552 รัฐบาลมีรายได้ 655,000 ล้านบาท มีรายจ่าย 1.1 ล้านล้านบาท ทำให้ขาดดุลงบประมาณ 458,500 ล้านบาท ทำให้ในปีงบประมาณ 2552 คาดว่า รัฐบาลจะขาดดุลจริงมากกว่าที่ประมาณการไว้ โดยมีรายได้ต่ำกว่าคาดการณ์ 150,000 ล้านบาท ขณะที่ทุนสำรองระหว่างประเทศ มีสูงถึง 127,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ประธานกรรมการ บลจ.เอ็มเอฟซี กล่าวอีกว่า การที่ ธปท.ผลิตธนบัตรออกใช้จำนวน 894,5000 ล้านบาท แต่ยังมีเงินในบัญชีสำรองพิเศษ 878,2000 ล้านบาท จึงสามารถนำออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ โดยควรนำออกมาใช้ประมาณ 20,000-30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเป็นทุนสำหรับการลงทุนโครงการต่างๆ ที่ต้องการใช้เงินตราต่างประเทศ และจะมีผลตอบแทนเพื่อนำมาใช้หนี้ในภายหลังได้

ทั้งนี้ นายณรงค์ชัย ระบุเหตุผลว่า เนื่องจาก พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาตรา 35 ให้กรรมการ ธปท.สามารถกำหนดประเภทสินทรัพย์เพื่อนำเงินสำรองไปบริหารจัดการได้ ซึ่งก็สอดคล้องกับความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ ที่เสนอให้นำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เพราะการที่จะทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงคงทำได้ยาก เนื่องจากมีทุนสำรองระหว่างประเทศสูงมาก ทำให้แนวโน้มค่าเงินบาทอาจแข็งค่าถึง 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะกระทบต่อการส่งออก
กำลังโหลดความคิดเห็น