xs
xsm
sm
md
lg

เปิดข้อมูลสมาชิกบัตรอีลิทผลาญใช้กอล์ฟ-สปา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทีพีซี เปิดตัวเลขสมาชิกอีลิท ผลาญใช้บริการพิเศษกอล์ฟ-สปา สูงสุดเฉลี่ยปีละ เกือบ 500 ครั้งคิดเป็นมูลค่าเกือบ 1 ล้านบาท ระบุอย่างนี้เป็นสมาชิกปีเดียวก็คุ้ม  จึงต้องปรับลดด้านแหล่งข่าวระบุ บางกอกแอร์เวย์สนใจซื้อกิจการอีลิท

นายอุดม  เมธาธำรงค์ศิริ  กรรมการและรักษาการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด หรือ ทีพีซี ผู้บริหารโครงการบัตรไทยแลนด์อีลิท เปิดเผยว่า  บริษัทได้ตรวจสอบข้อมูลการใช้บริการ กอล์ฟ สปา ซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์ที่ทีพีซีมีให้แก่สมาชิกผู้ถือบัตรอีลิทการ์ด พบว่า สมาชิกที่มีที่อยู่แบบพำนักระยะยาวในประเทศไทย(ลองสเตย์) ใช้บริการมากที่สุดส่วนใหญ่เป็นชาวญี่ปุ่น ไต้หวัน  และเกาหลี  ซึ่งข้อมูลเฉพาะปี 2551 พบว่าบางรายใช้บริการตีกอล์ฟสูงสุดถึง 180 ครั้ง คิดเป็นเงิน 360,000 บาท มีมากถึง 15 คน และที่ใช้มากกว่า 50 ครั้ง ต่อปี มีมากกว่า 68 คน  ซึ่งราคาเหมาจ่ายที่ทีพีซีต้องจ่ายให้แก่สนามกอล์ฟอยู่ที่ราคาครั้งละ 2,000 บาท

ส่วนการใช้บริการสปา พบว่า มีสมาชิกมาใช้บริการสูงสุดถึงคนละ 353 ครั้ง คิดเป็นเงิน 429,500 บาท โดยมีจำนวนกว่า 54 คน โดยราคาเหมาจ่ายที่ทีพีซีต้องจ่ายให้แก่คู่ค้าคือครั้งละ 1,500 บาท   ส่วนการใช้บริการรถลีมูซีน จากรายงานพบว่าสมาชิกที่ใช้บริการสูงสุดคือ 87 ครั้ง ต่อปี รวมเป็นเงินกว่า 174,000 บาท จากราคาที่ทีพีซีต้องจ่ายค่ารถคือ  2,000 บาทต่อครั้ง

จากตัวเลขดังกล่าว ทีพีซี ได้คำนวนหาตัวเลขเฉลี่ย จากสมาชิกทั้งหมด 2,570 ราย  พบว่าใช้บริการสปา 11 ครั้ง ต่อคนต่อปี ส่วนกอล์ฟ 8 ครั้งต่อคนต่อปี  หากทีพีซีสามารถแก้สัญญาเพื่อปรับลดสิทธิประโยชน์โดยจำกัดการใช้บริการให้เหลือประมาณ 24 ครั้งต่อปี เชื่อว่าจะทำให้ทีพีซีสามารถลดต้นทุนการดำเนินงานต่อปีได้มากกว่า 20 ล้านบาท

“การใช้บริการของสมาชิกอีลิทการ์ดในกลุ่มที่ใช้บริการจำนวนมาก หากคิดเฉลี่ยจะอยู่ที่คนละ 480 รายการ คิดเป็นเงินกว่า 960,000  บาท ซึ่งเท่ากับว่า เป็นสมาชิกอีลิทการ์ดปีเดียวก็คุ้มค่าแล้ว แต่บริษัทต้องแบกรับภาระสมาชิกเหล่นนี้ไม่ตลอดชีวิต   จึงเป็นไปได้ที่จะตัดสมาชิกกลุ่มนี้ออกหากพิสูจน์ว่าคุณสมบัติไม่ถูกต้อง
หรือจำกัดจำนวนการใช้บริการต่อปีก็จะคุมต้นทุนได้ “

นอกจากนั้น ทีพีซี ต้องมีแนวทางการหารายได้ที่ชัดเจนและทำได้จริง เข้ามาเสริมรายได้ เพื่อให้องค์กรเดินหน้าต่อไปได้ด้วยตัวเอง  เช่นการเก็บค่าบริการรายปีแก่สมาชิกผู้ถือบัตร เพื่อความอยู่รอดขององค์กร เพราะแท้จริงแล้ว สิทธิประโยชน์ที่สำคัญที่สุดน่าจะเป็น  เรื่องวีซ่านาน 5  ปี และบริการทางด่วนพิเศษ หรือฟาสต์แทรกที่สนามบิน

ทั้งนี้ ที่กล่าวมา ทีพีซีจะรวบรวมเป็นข้อมูลนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) โดยจะบรรจุอยู่ในรายละเอียดของทางเลือกหากรัฐบาลคิดว่าจะดำเนินโครงการต่อไป

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวในวงการท่องเที่ยว เปิดเผยว่า มีเอกชนหลายรายสนใจที่จะเข้าซื้อกิจการของทีพีซี เช่น เจ้าของสายการบินบางกอกแอร์เวย์  เพราะมองเห็นโอกาสการพลิกฟื้นกิจการของทีพีซีได้จริง เพราะแม้ทีพีซีแม้จะมีตัวเลขขาดทุนสะสมกว่า 1,412 ล้านบาท แต่ก็ไม่มีภาระหนี้สิน  
กำลังโหลดความคิดเห็น