เชียงราย – พิษ FTA ไทย-จีน ยังแรง 5 เดือนแรกของปีนี้ยอดการค้าผ่านชายแดนเชียงราย ไทยขาดดุลยับ ขณะที่ภาพรวมการค้าระหว่างไทย กับเพื่อนบ้าน (พม่า ลาว จีน) ไทยได้ดุลการค้ามากกว่า 3.8 พันล้าน
นายประคอง รักษ์วงศ์ นักวิชาการพาณิชย์ สำนักงานพาณิชย์ จ.เชียงราย เปิดเผยว่า ภาวะการค้าชายแดนด้าน จ.เชียงราย ตั้งแต่เดือน มกราคม-พฤษภาคม 2552 ผ่านทั้งด่าน 3 ด่านศุลกากรคือด่านฯแม่สาย เชียงแสน และเชียงของ กับประเทศพม่า สปป.ลาว และจีนตอนใต้ พบว่า มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 5,226.69 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกัน 1.46% แยกเป็นการนำเข้า 690.18 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 9.28% อันเป็นผลมาจากการลดลงของการนำเข้าสินค้าไม้ ผลิตภัณฑ์ไม้ ถ่านหินลิกไนต์เป็นสำคัญ
ส่วนการส่งออกมีมูลค่า 4,536.51 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.32% จากการเพิ่มขึ้นของการส่งออกสินค้าเกษตรประเภทยางพารา ผลไม้ น้ำมันเชื้อเพลิง เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สินค้าอุปโภคบริโภคเป็นสำคัญ
ซึ่งผลของการค้าชายแดนตลอด 5 เดือนแรก ทำให้ประเทศไทยเกินดุลการค้า 3,846.33 ล้านบาท
นักวิชาการพาณิชย์ สำนักงานพาณิชย์ จ.เชียงราย กล่าวว่า สาเหตุที่การส่งออกเป็นมูลค่าเพิ่มมากขึ้นส่วนหนึ่งเกิดจากโครงการก่อสร้างที่เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ตรงกันข้าม อ.เชียงแสน ซึ่งผลของการก่อสร้างดังกล่าวได้ทำให้มีการนำเข้าสินค้าที่จำเป็นจากไทย เพื่อนำไปป้อนกิจกรรมดังกล่าวมากขึ้น โดยในเดือนพฤษภาคม พบว่า สปป.ลาว มีการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงมีสัดส่วนส่งออกไป สปป.ลาว 47.50% เครื่องจักรและส่วนประกอบ 14.74% วัสดุก่อสร้าง 9.48% ฯลฯ
ตั้งแต่เดือน มกราคม-พฤษภาคม พบว่ายอดส่งออกสินค้าประเภทน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มในอัตราส่วน 45.08% วัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้นเป็น 12.02% เครื่องจักรและส่วนประกอบเพิ่มขึ้น 7.70% เป็นต้น
นายประคอง กล่าวอีกว่า สำหรับการค้าตามข้อตกลงระหว่างประเทศไทยกับประเทศจีนเรื่องการลดอัตราภาษีสินค้าเกษตรเหลือ 0% หรือ FTA พบว่า มีความแตกต่างออกไป โดยมีการนำเข้ามาเป็นมูลค่ามากกว่าส่วนการส่งออกมีน้อยกว่าหลายเท่า โดยจากสถิติ FTA เฉพาะเดือน พฤษภาคม พบว่ามีการนำเข้าเป็นมูลค่า 14.76 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นผักและผลไม้ เช่น แอปเปิล สาลี่ ฯลฯ ส่วนการส่งออกมีมูลค่าเพียง 3.16 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นกล้วยไม้ ฯลฯ
ส่วนยอดการค้าผ่าน FTA ตั้งแต่เดือน มกราคม –พฤษภาคม พบว่ามีการนำเข้าแล้วมูลค่า 60.26 ล้านบาท สินค้านำเข้ายังเป็นประเภทผักและผลไม้เหมือนเดิม ส่วนการส่งออกยังคงอยู่ที่ 22.79 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นลำไยอบแห้ง กล้วยไม้ ฯลฯ กระนั้นก็เชื่อว่าหลังจากเข้าสู่ฤดูกาลเก็บเกี่ยวลำไยในภาคเหนือของไทยไปแล้วจะทำให้การส่งออก FTA ของไทยผ่านด่านศุลกากรเชียงแสนมีมูลค่ามากขึ้นได้
สำหรับข้อตกลง FTA ไทย-จีน ดังกล่าวเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2546 ในยุคที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีการลดอัตราภาษีสินค้าประเภทพืชผักและผลไม้ต่อกันจำนวน 116 รายการ ซึ่งแม้ในภาพรวมตลอดทั้งปีประเทศไทยจะได้เปรียบเรื่องมูลค่าการส่งออกที่มากกว่าหรือได้เปรียบดุลการค้า เนื่องจากจะมีลำไยอบแห้งถูกส่งออกไปยังประเทศจีนมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้สินค้าไทยได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน โดยเฉพาะประเภทหอมแดง หอมหัวใหญ่ และกระเทียม เพราะสินค้าจีนมีราคาถูกกว่า และมีปริมาณมากจนทำให้เกษตรกรไทยได้รับผลกระทบอย่างหนัก
ขณะที่สินค้าส่งออกประเภทลำไยอบแห้งพบว่าแม้จะมีการส่งออกไปเป็นจำนวนมาก แต่ธุรกิจการรับซื้อและส่งออก ยังอยู่ในมือของพ่อค้าชาวจีนที่แทรกเข้ามาในรูปแบบเอกชนร่วมทุน แต่จดทะเบียนในประเทศไทยภายใต้ผู้ร่วมทุนชาวไทยที่ถือหุ้นเพียงเล็กน้อย หรือจับมือกับกลุ่มทุนไทย เพื่อทำกำไรสูงสุดจากการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในราคาถูกจนเกิดปัญหาการเรียกร้องจากเกษตรกรเป็นประจำทุกปี รวมทั้งมียังกระแสเรื่องการโกงสต๊อกลำไยในการรับจำนำตลอดหลายปีที่ผ่านมาอีกด้วย