xs
xsm
sm
md
lg

“คสศ.-บีโอไอ-Exim Bank”นัดดถกช่องลงทุนลาวเหนือ-เปิดทางเอกชนไทยเข้าR3a

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พัฒนา สิทธิสมบัติ
เชียงราย – เตรียมระดมกูรูร่วมเปิดช่องภาคธุรกิจไทยเข้าลงทุน ในแขวงลาวตอนเหนือ รับเส้นทางคมนาคม จีน – ลาว – ไทย หลังพบมีแต่ทุนจีนเข้าปักธงตามจุดยุทธศาสตร์ต่อเนื่อง “คสศ.-บีโอไอ-เอ็กซิมแบงก์” จับมือเปิดโต๊ะสัมมนากลางเดือนหน้าที่เชียงราย ดึงตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งไทย – ลาวร่วมเวที ลุ้น “โอฬาร”รอดบ่วงการเมืองร่วมวงด้วย

รายงานข่าวแจ้งว่า ในวันที่ 22 ธันวาคม 2551 คณะกรรมการเพื่อโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ (คสศ.) หอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ (เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ และตาก จะร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) จัดสัมมนาเรื่อง “โอกาสและศักยภาพการลงทุนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนบน” ตอน “ แขวงทางตอนเหนือของ สปป. ลาว” ณ โรงแรมเดอะริเวอร์เฮ้าส์ จ.เชียงราย ซึ่งเป็นโรงแรมของ ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี-รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งปักหลักเอาดีด้านธุรกิจโรงแรมที่เชียงราย หลังพ้นจากตำแหน่งทางการเมืองแล้ว

ทั้งนี้จะมีการเชิญให้นายโอฬาร ไชยประวัติ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ไปเป็นประธานและแสดงปาฐกถาพิเศษด้วย

นายพัฒนา สิทธิสมบัติ ประธาน คสศ.และหอการค้า จ.เชียงราย กล่าวว่า การสัมมนาจะมุ่งเน้นเรื่องโอกาสและศักยภาพการลงทุนบนเส้นทาง R3A และแขวงทางตอนเหนือของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว )-นโยบายและมาตรการการส่งเสริมการลงทุนของ สปป. ลาว- สิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่นักธุรกิจไทยจะได้รับเพื่อลดต้นทุนวัตถุดิบและแรงงาน การขยายฐานการผลิตเพื่อสิทธิประโยชน์ด้านภาษี นโยบายภาครัฐของไทยสำหรับการประกอบธุรกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

การวางแผนการลงทุนในต่างประเทศ กฎระเบียบ - ข้อตกลงด้านการค้าการลงทุนกับกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง มุมมองประสบการณ์และรายละเอียดในการดำเนินธุรกิจในประเทศลุ่มน้ำโขง และสปป. ลาว จากผู้มีประสบการณ์จริง ทั้งทางด้านเกษตร ด้านอุตสาหกรรม ด้านขนส่งลอจิสติกส์ บริการท่องเที่ยว และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องได้ตระหนักถึงแนวทางการพัฒนา ปัญหาและอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นเพื่อหาแนวทางการแก้ไขต่อไป

นายพัฒนา กล่าวว่า การเข้าไปลงทุนในแขวงลาวเหนือของ สปป.ลาว ถือเป็นความจำเป็นของนักธุรกิจไทย เพราะปัจจุบันเส้นทางคมนาคมระหว่างไทย-จีน มีแขวงลาวเหนือเป็นเขตกั้น มีอิทธิพลต่อภาคเศรษฐกิจระหว่างประเทศสูง รวมทั้งเป็นแหล่งที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ แรงงานราคาถูก ฯลฯ แต่ที่ผ่านมามีกลุ่มทุนไทยเข้าไปลงทุนน้อยมาก ตรงกันข้ามกับทุนจีน ที่รุกเข้าไปใช้ประโยชน์ด้านธุรกิจในแขวงลาวเหนือมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น โครงการสร้างโรงแรม-บ่อนกาสิโน ที่แขวงบ่อแก้วติด อ.เชียงแสน จ.เชียงราย โดยเช่านาน 75 ปี และที่เมืองบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา ติดชายแดนจีน เช่านาน 99 ปี เป็นเหตุให้โอกาสที่นักลงทุนรายใหม่จะเข้าไปขอใบอนุญาตเหลือน้อยลง

นอกจากนี้ ยังมีโครงการก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมที่เมืองบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา ,กลุ่มบริษัทคุนหมิงสตีลกรุ๊ป จำกัด ได้เข้าไปลงทุนโรงงานผลิตเหล็กรีดห่างจากเมืองหลวงน้ำทาประมาณ 12 กิโลเมตร โดยผลิตเหล็กเส้นและวัสดุก่อสร้างป้อนตลาดในลาวและเวียดนาม ,มีการลงทุนด้านปศุสัตว์หลายแห่งในหลวงน้ำทา

ขณะที่ในแขวงบ่อแก้วมี กลุ่มบริษัทดอกงิ้วคำ จำกัด ที่ได้สัมปทานที่ดินติดแม่น้ำโขงกว่า 5,168.75 ไร่ ที่เมืองต้นผึ้ง เป็นเวลา 75 ปี โดยทุ่มทุนกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สร้างโรงแรม สนามกอล์ฟ 36 หลุม อาคารพาณิชย์ เขตหัตถกรรมและอุตสาหกรรม เขตท่องเที่ยวบนเกาะดอนซาวซึ่งเป็นเกาะกลางแม่น้ำโขง เขตปลอดภาษี อุตสาหกรรมการเกษตรและปศุสัตว์ครบวงจร ศูนย์บริการด้านการขนส่ง ฯลฯ

ส่วนกลุ่มทุนไทยที่เข้าไปลงทุนใน สปป.ลาว รายใหญ่ๆ ก็มีเช่นกัน เช่น บริษัทบ้านปู จำกัด (มหาชน) เข้าไปลงทุนด้านโรงงานถ่านหินในแขวงบ่อแก้ว กลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพีเข้าไปลงทุนด้านการผลิตน้ำมันละหุ่ง เป็นต้น ส่วนกลุ่มทุนท้องถิ่นมีนักธุรกิจร้านอาหารจาก จ.เชียงราย ไปบริหารเฮือนลาวร้านอาหารไทยที่เมืองหลวงน้ำทา ร้านกาแฟ เป็นต้น

“นักลงทุนจีนได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลด้วยการลดเงื่อนไขต่างๆ เช่น ลดดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อการลงทุนในต่างประเทศ ฯลฯ ทำให้เขาสามารถขยายเครือข่ายการลงทุนออกต่างประเทศได้อย่างเต็มที่”

เขาเชื่อว่า การสัมมนาครั้งนี้จะเป็นการระดมสมอง เพื่อหาวิธีการในการทำให้กลุ่มทุนไทยสามารถเข้าไปประกอบการในพื้นที่ทางเศรษฐกิจใหม่นี้ได้โดยสะดวกและมีความมั่นใจ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะเข้าไปรุกเอาทรัพยากรจากลาวมาเท่านั้น แต่จะมุ่งให้มีการเพิ่มมูลค่าสินค้าเพื่อได้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น ลาวมีไม้มากแต่ที่ผ่านมามีการส่งท่อนซุงมาไทยก็จะมีกลุ่มทุนไทยเข้าไปแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์และอื่นๆ เพื่อส่งไปยังตลาดที่ต้องการต่อไป เป็นต้น ส่วนสินค้าทางการเกษตร เช่น ข้าวโพด งา ถั่วเขียว ฯลฯ ที่นำเข้ามามากก็ส่งเสริมให้ตั้งโรงงานแปรรูปในฝั่ง สปป.ลาว เลย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อนักธุรกิจมีความเข้าใจในระเบียบต่างๆ และกำหนดยุทธศาสตร์ร่วมกัน

สำหรับกำหนดการณ์เบื้องต้น คือเวลา 10.15น. – 11.15 น.มีการอภิปรายเรื่อง “นโยบายและมาตรการการส่งเสริมการลงทุนของ สปป. ลาว” โดยผู้บริหารจาก Department for the Promotion and Management of Domestic & Foreign Investment (BOI) สปป. ลาว -ท่านคำพอ ไขคำพิทูน รองอธิบดีกรมการต่างประเทศ สปป.ลาว -ท่านขันทะวง ดาลาวง เลขาธิการสภาการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติลาว

เวลา 11.15 น.– 12.15 น. บรรยายเรื่อง “นโยบายภาครัฐกับการประกอบธุรกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และการวางแผนการลงทุนในต่างประเทศ” โดย ดร. ณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการธนาคาร EXIM Bank –ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี -ดร.อรรชกา บริมเบิล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)

เวลา 13.15 น. - 14.30 น.บรรยายเรื่อง “ กฎระเบียบและข้อตกลง ด้านการค้าการลงทุนกับกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง” โดยอธิบดีกรมเศรษฐกิจ กระทรวงการต่างประเทศ ,เวลา 14.45 น. – 16.30 น.มีการอภิปรายเรื่อง “มุมมองและประสบการณ์การทำธุรกิจในประเทศลุ่มน้ำโขง และสปป. ลาว” โดยภาคเอกชนที่ประกอบธุรกิจด้านการเกษตร ลอจิสติกส์ อุตสาหกรรมและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น