xs
xsm
sm
md
lg

ค้านอนุกรรมการฯให้ไลเซ่นส์เคเบิล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – ส.เคเบิลทีวีฯ เดินหน้าป้องสิทธิ์ วอนอนุกรรมการร่างหลักเกณฑ์และวิธีการประกอบกิจการที่ไม่ใช่คลื่นความถี่ชั่วคราวฯ ออกใบอนุญาตชั่วคราวเฉพาะเคเบิลทีวีรายเดิมก่อน แคลงใจไม่มีสิทธิ์ออกให้รายใหม่ หวั่นทำเคเบิลทีวีพัง ด้านตัวแทนอนุกรรมการฯ ยัน มุ่งช่วยเหลือรายเดิมก่อนแน่นอน

สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย ได้จัดงานสัมมนาและประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่ 1/2552 เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อต้องการให้ความรู้และรวมกลุ่มผู้ประกอบการเคเบิลทีวีกัน เพื่อทำความเข้าใจในสถานการณ์ของธุรกิจเคเบิลทีวีในปัจจุบัน ซึ่งกำลังรอ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ยังไม่เกิดขึ้น
คณะกรรมการฯดังกล่าวจะเป็นหน่วยงานที่จะเข้ามากำกับดูแลเคเบิลทีวีโดยตรง แต่ขณะนี้ยังไม่เกิด ดังนั้นเพื่อให้ผู้ประกอบการเคเบิลทีวี สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างไม่ผิดกฏหมาย ส่งผลให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) ต้องเข้ามากำกับดูแลไปก่อน จนกว่าจะเกิด กสทช.ขึ้นมา ตามที่ พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ปี 2551 กำหนดไว้
นายวิชิต เอี่ยมอารีวรกุล อุปนายก สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เดิมเมื่อประมาณ 20 ปีก่อน เคเบิลทีวีขึ้นตรงกับกรมประชาสัมพันธ์ และทางกรมประชาสัมพันธ์ได้แก้ไขปัญหาเคเบิลทีวีเถื่อนในขณะนั้น โดยออกใบอนุญาตประกอบกิจการเคเบิลทีวีเป็นจำนวน 78 ราย ระยะเวลาของใบอนุญาตมีอายุ 15 ปี
ปัจจุบันสมาชิกในสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประประเทศไทย จำนวน 200 ราย
ถือว่าทำธุรกิจเถื่อนกันหมด เพราะ 78 ราย ที่มีใบอนุญาตก็หมดอายุลงไปแล้ว
แต่หลังจากที่พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมฉบับใหม่เกิดขึ้น และมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนมี.ค. ปีที่ผ่านมา ได้กำหนดให้มีการจัดตั้ง กสทช.ให้เกิดขึ้น ซึ่งหน่วยงานนี้จะเข้ามาดูแลเคเบิลทีวีโดยตรง พร้อมทั้งส่งเสริมให้เคเบิลทีวีดำเนินธุรกิจออย่างมีกฏหมายรองรับชัดเจน
แต่เมื่อ กสทช.ไม่เกิด พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯจึงมอบให้ กสช.เข้ามาดูแลชั่วคราวไปก่อน โดยตามหลักการแล้ว กสช. จะมาแก้ไขปัญหาของเคเบิลทีวี โดยการออกใบอนุญาตชั่วคราวให้กับผู้ประกอบการเคเบิลทีวี มีอายุ 1 ปี ครบกำหนดก็มาต่อใบอนุญาตกันใหม่ จนกว่า กสทช. จะเกิดขึ้นและเข้ามากำกับดูแลต่อไป
ทั้งนี้ทาง กสช. ได้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการร่างหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตประกอบกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ชั่วคราว (กิจการโทรทัศน์ที่มีการบอกรับสมาชิก) หรือที่เราเข้าใจ คือ เคเบิลทีวี จำนวน 22 ท่าน ซึ่งในคณะอนุกรรมการฯชุดนี้ ยังแบ่งออกเป็น 2 ชุดย่อย โดยชุดหนึ่งดูแลเรื่องของวิทยุชุมชนทั้งหมด และอีกชุดหนึ่งดูเรื่องของเคเบิลทีวี
โดยในชุดหลังนี้ มี รศ.ดร.พนา ทองมีอาคม เป็นประธานคณะอนุกรรมการฯชุดดังกล่าว ซึ่งล่าสุดได้ร่างหลักเกณฑ์ฯสำหรับเคเบิลทีวีเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และทางสมาคมเคเบิลทีวี ก็ได้เห็นและศึกษาร่างดังกล่าวแล้วเช่นกัน พบว่าไม่เห็นด้วยที่ทางอนุกรรมการร่างหลักเกณฑ์ฯ จะมีอำนาจในการออกใบอนุญาตให้กับผู้ประกอบการเคเบิลทีวีรายใหม่ๆ เพราะตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายมาคือ ให้มาช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้ประกอบการเคเบิลทีวีรายเดิมก่อน
“ทางสมาคมฯกำลังจะมีการจัดทำประชาพิจารณ์เกี่ยวกับร่างหลักเกณฑ์ฯดังกล่าว ว่าเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร เพราะเรามีเวลา 15 วันในการโต้แย้ง และแสดงความคิดเห็น ก่อนที่ร่างหลักเกณฑ์ฯนี้จะมีผลบังคับใช้ในอีก 2 เดือนข้างหน้า และจะเริ่มออกใบอนุญาตให้ได้ในช่วงเดือนส.ค. “
ทั้งนี้สิ่งที่ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง คือ อำนาจของคณะอนุกรรมการฯที่สามารถออกใบอนุญาตให้รายใหม่ได้ มองว่าไม่น่าจะทำได้ เพราะ กสช. จัดตั้งคณะอนุกรรมการฯนี้ขึ้นมา เพื่อให้มาแก้ปัญหาของผู้ประกอบการเคเบิลทีวีรายเก่า แต่อำนาจที่ทำอยู่นี้ เสมือนหนึ่งอำนาจของ กสทช.เพราะมีอำนาจโดยตรง ในการออกใบอนุญาตให้ผู้ปรกอบการเคเบิลทีวีรายใหม่ได้ด้วย
นายวิชิต กล่าวต่อว่า หากมองในความเป็นจริงแล้ว ใบอนุญาตนี้คือใบเบิกทางว่าธุรกิจเคเบิลทีวีเป็นธุรกิจที่มีกฏหมายรองรับ การลงทุนหรือการทำเรื่องขอกู้เม็ดเงินจากสถาบันการเงินก็ทำได้ง่ายขึ้น ซึ่งคาดว่าจะมีรายใหม่เตรียมเข้ามาขอไม่ต่ำกว่า 1,000 ราย เพราะเริ่มมองเห็นโอกาสการเติบโตของเคเบิลทีวีในปัจจุบัน
ส่งผลให้การที่มีผู้ประกอบเคเบิลทวีสูงขึ้นเกินความจำเป็น ในบางพื้นที่ก็จะมีการแข่งขันสูงขึ้น รายใหญ่อยู่ได้ รายเล็กก็ตายไป ภาพรวมอุตสาหกรรมเคเบิลทีวีก็จะรวน อีกทั้งผิดหลักกับแนวทางของสมาคมเคเบิลทีวีฯด้วย เพราะทางสมาคมฯต้องการให้มีผู้ประกอบการเหมาะสมกับพื้นที่ต่างๆ เพื่อการจัดการและการรวมตัวกันเพื่อสร้างอำนาจต่อรองได้ในอนาคตและต้องการให้ผู้ประกอบการเคเบิลทีวีรายเดิมแข็งแกร่งให้ได้ก่อน โดยอาจจะรอที่จะอนุญาตให้รายใหม่ขอใบอนุญาตฯได้ในอีกสัก 3-4 ปีหลังจากนี้
นายทวี เส้งแก้ว หนึ่งในคณะอนุกรรมการ ร่างหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตประกอบกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ชั่วคราว (กิจการโทรทัศน์ที่มีการบอกรับสมาชิก) กล่าวว่า โดยหลักการแล้ว ทางคณะอนุกรรมการร่างหลักเกณฑ์ฯจะมุ่งแก้ปัญหาและเห็นแก่ประโยชน์ของผู้ประกอบการรายเก่าเป็นอันดับแรก แต่ก็ต้องให้โอกาสกับรายใหม่ด้วย ซึ่งหากสงสัยหรือไม่เห็นด้วย สามารถทำประชาพิจารณ์แย้งขึ้นมาได้ ก่อนที่ร่างหลักเกณฑ์ฯนี้จะมีผลบังคับใช้ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น