สภาผ่านวาระ 1 ร่าง พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่ เพื่อตั้ง 11 อรหันต์ กสทช.จัดระเบียบความถี่ แก้ปัญหาวิทยุชุมชน โดยตั้ง กมธ.พิจารณา 45 คน ส.ส.ซีกฝ่ายค้าน และ รบ.อภิปรายหนุน ขณะเดียวกัน ติงในเรื่องร่าง กม.ที่ต้องเขียนให้เกิดความชัดเจน โดยเฉพาะความเป็นกลางของสื่อ พร้อมระมัดระวัง การเลือก กสทช.
ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้มีมติผ่าน วาระ 1 ด้วยคะแนน 263 ต่อ 1 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาจำนวน 45 คน พิจารณาร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. .... จำนวน 3 ฉบับ ที่เสนอโดย ครม.(ชุด นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี) นายเจริญ จรรย์โกมล ส.ส.ชัยภูมิ พรรคเพื่อไทย และคณะ และ นายอภิชาต ศักดิเศรษฐ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ และคณะ
ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าว กำหนดให้มีคณะกรรมการ กสทช.จำนวน 11 คน เพื่อกำหนดและจัดสรรคลื่นความถี่ตามความเหมาะสมให้กับภาคประชาชนร้อยละ 20 และควบคุมไม่ให้มีการครองสิทธิ์ข้ามสื่อ เพื่อป้องกันการผูกขาดการรับรู้ข่าวสารของประชาชน โดยผู้ที่จะเป็นคณะกรรมการ กสทช.จะต้องมีคุณสมบัติไม่เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท หรือกิจการเกี่ยวกับวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เป็นเวลา 5 ปี และกำหนดให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทำหน้าที่เป็นหน่วยงานตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครเป็นคณะกรรมการ กสทช.แทนสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
ร.ต.(หญิง) ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นผู้นำเสนอหลักการของกฎหมาย ว่า อยากให้สมาชิกรับหลักการในวาระแรก เพื่อให้เกิดการจัดตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่เปลี่ยนแปลงให้มีคณะกรรมการ กสทช.เพียงองค์กรเดียว จากเดิมที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ให้มีคณะกรรมการ 2 คณะ คือ คณะกรรมการ กสช.และ กทช.โดยหากกฎหมายมีผลบังคับใช้ก็จะนำไปสู่การจัดสรรคลื่นความถี่ และจัดระเบียบคลื่นวิทยุต่างๆ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาวิทยุชุมชน
อย่างไรก็ตาม ส.ส.หลายคนได้อภิปรายแสดงความเห็นกันอย่างขว้างขวาง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการพิจารณาดังกล่าวมีผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.เข้าสู่ที่ประชุมรวมจำนวน 3 ฉบับ โดย ร.ต.(หญิง) ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นผู้นำเสนอหลักการของกฎหมาย ว่า อยากให้สมาชิกรับหลักการในวาระแรก เพื่อให้เกิดการจัดตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่เปลี่ยนแปลงให้มีคณะกรรมการ กสทช.เพียงองค์กรเดียว จากเดิมที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ให้มีคณะกรรมการ 2 คณะ คือ คณะกรรมการ กสช.และ กทช.โดยหากกฎหมายมีผลบังคับใช้ก็จะนำไปสู่การจัดสรรคลื่นความถี่ และจัดระเบียบคลื่นวิทยุต่างๆ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาวิทยุชุมชน
ทั้งนี้ ในการอภิปรายเป็นไปอย่างกว้างขวาง โดย ส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลได้อภิปรายสนับสนุน แต่ขอให้เขียนให้เกิดความชัดเจนเรื่องความเป็นกลางของสื่อ ระมัดระวังในการเลือกคณะกรรมการ กสทช.โดยต้องกำหนดให้ผู้ที่เป็นกรรมการจะต้องไม่มีธุรกิจเกี่ยวกับสื่อเป็นเวลา 5 ปี เพื่อป้องกันนายทุนเข้ามาเป็นกรรมการและเอื้อประโยชน์ให้กับตนเอง