xs
xsm
sm
md
lg

คลื่นแฝง-ผลประโยชน์แฝงใน “กรมกร๊วก”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือเรื่องของคลื่นความถี่นอกจากมีเรื่องผลประโยชน์ทางธุรกิจมหาศาลแล้วยังเชื่อมโยงเกี่ยวพันกับความมั่นคงของชาติเป็นประเด็นหลักอีกด้วย และยิ่งเป็นการ “งุบงิบ” ทำสัญญาแบบไม่เปิดโอกาสให้เอกชนรายอื่นเข้ามาแข่งขันอย่างเปิดเผยก็ยิ่งน่าเป็นห่วง

ความไม่ชอบมาพากลในกรมประชาสัมพันธ์หรือ ฉายา “กรมกร๊วก” ในอดีตกำลังถูกเปิดโปงขึ้นมาอีกครั้ง โดยล่าสุดเป็นการยกสัมปทานให้กับบริษัทเอกชนเข้ามาใช้ “คลื่นแฝง” หรือ “คลื่นว่าง” ในสัญญาณที่ส่งผ่านไปยังเครื่องรับโทรทัศน์และวิทยุ ขณะที่รัฐได้รับผลตอบแทนที่ไม่คุ้มค่า ถูกเหมือนได้เปล่า

ทำนองงุบงิบทำสัญญาแบบไม่โปร่งใสนั่นแหละ แต่ก็ถือว่าไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเท่าใดนัก เพราะปรากฏการณ์ในลักษณะนี้มักเกิดขึ้นอยู่เนืองๆอยู่แล้ว

อย่างไรก็ดีก่อนที่จะไปว่าในรายละเอียด ก็ต้องอธิบายเกี่ยวกับ “คลื่นแฝง” หรือ “คลื่นว่าง”ให้เข้าใจคร่าวๆแบบไม่ต้องใช้เทคนิคความรู้มากมาย โดยสรุปก็คือเวลาที่มีการส่งสัญญาณหรือคลื่นความถี่ออกไปยังเครื่องรับโทรทัศน์ วิทยุ ทุกครั้งจะเหลือช่องเล็กๆอยู่นิดหนึ่ง ซึ่งช่องเล็กๆดังกล่าวคือคลื่นแฝงหรือคลื่นว่างนั่นแหละ

ถ้าเปรียบให้เห็นภาพชัดเข้าไปอีกก็คือบนถนนจะมีช่องสำหรับรถยนต์เป็นช่องทางหลัก แต่ก็จะมีช่องรถจักรยานเหลือเป็นช่องเล็กๆอะไรประมาณนั้น

คลื่นว่างดังกล่าวสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในทางธุรกิจได้อย่างมหาศาลยิ่งในยุคที่เทคโนโลยีการสื่อสารล้ำสมัยมันก็ยิ่งเปิดช่องหากินได้อีกหลายทาง

แม้ว่าในความจริงปัจจุบันยังติดขัดในเรื่องของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.)และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ(กสช.) ยังไม่สามารถเดินหน้าได้ก็ตาม แต่อย่างน้อยก็ถือว่า “ได้จองเป็นเจ้าของคลื่น” เอาไว้ล่วงหน้าแล้ว

หากแกระรอยย้อนกลับไปก็พบว่าความไม่ชอบมาพากลในเรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2540 ในรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ยุคที่ ปิยะณัฐ วัชราภรณ์ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มี บังเอิญ มุสิกพงศ์ นั่งเก้าอี้อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ได้ทำสัญญายกสัมปทานให้กับบริษัทฟาติมา บรอดแคสติ้ง จำกัด เป็นเวลารวดเดียวนานถึง 26 ปี โดยให้ค่าตอบแทนกับรัฐเพียง 70 ล้านบาท

เฉลี่ยแค่ปีละ 2.6 ล้านบาท และเท่าที่ทราบบริษัทเอกชนดังกล่าวเพิ่งจ่ายเงินให้กับกรมประชาสัมพันธ์เพื่อ “เลี้ยง” สัญญาเอาไว้ในปีแรกจำนวนแค่ 1 แสนบาทเท่านั้น

นอกจากนี้ในรายละเอียดของสัญญาที่ทำล็อกเอาไว้แน่นหนาก็คือโอกาสที่จะมีการแก้ไขสัญญาหรือยกเลิกสัญญาทำได้ยากมาก

แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือเรื่องของคลื่นความถี่นอกจากมีเรื่องผลประโยชน์ทางธุรกิจมหาศาลแล้วยังเชื่อมโยงเกี่ยวพันกับความมั่นคงของชาติเป็นประเด็นหลักอีกด้วย

และยิ่งเป็นการ “งุบงิบ” กันทำสัญญาแบบไม่เปิดโอกาสให้เอกชนรายอื่นเข้ามาแข่งขันอย่างเปิดเผยก็ยิ่งน่าเป็นห่วง เพราะเป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าถ้าใครครอบครองช่องทางการสื่อสารก็ถือว่าได้เปรียบและอันตรายหากนำไปใช้ในทางมิชอบ


ดังนั้นการประกาศเข้ามาตรวจสอบอย่างขนานใหญ่ของ สาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้กำกับดูแลกรมประชาสัมพันธ์ หากไม่ใช่ราคาคุยก็นับว่าน่าจับตาไม่น้อย อย่างน้อยถ้ามีความตั้งใจจริง เชื่อว่ารักษาผลประโยชน์ของชาติได้อีกก้อนใหญ่

ที่สำคัญน่าจะพบความไม่ชอบมาพากลในเรื่องอื่นๆที่ถูกเก็บงำ ซุกซ่อนเอาไว้เป็นเวลานานได้อีกหลายเรื่อง

เพราะเท่าที่เห็นยังมีกรณีของโทรทัศน์เอ็นบีทีที่เคยทำสัญญาเอาไว้กับบริษัท ดิจิตอล มีเดีย โฮลดิ้ง จำกัด ก็มีการจ่ายค่าตอบแทนให้แบบไม่คุ้มค่า และเชื่อว่ายังมีหลายเรื่องที่รอการขุดคุ้ย ซึ่งทุกอย่างย่อมเกี่ยวพันกับผลประโยชน์โยงใยไปถึงนักการเมืองกับข้าราชการระดับสูงในหน่วยงานนั้นแทบทั้งสิ้น

แต่อีกมุมหนึ่งก็ต้องจับจ้องไม่วางตาเช่นเดียวกัน เกรงว่าจะเข้าอีหรอบเดิมคือไล่เหลือบเก่าไปแล้วมีเหลือบใหม่เข้ามาแทนที่ หรือไม่ !!
กำลังโหลดความคิดเห็น