“สาทิตย์” ตะลึง “กรมกร๊วก” ให้บริษัทเอกชนเช่า “สัญญาณแฝง” เหมาคลื่นวิทยุ-โทรทัศน์ทุกช่อง สมัยรัฐบาล “บิ๊กจิ๋ว” ผูกพันอนาคต 26 ปี โคตรถูก 70 ล้าน สั่งสอบข้อกฎหมายสัญญาด่วน พร้อมเร่งยกเลิกสัญญาร่วมผลิตเอ็นบีทีที่มีกว่า 50 สัญญา แจงลูกจ้าง 107 คน ผลพวงจากดิจิตอล มีเดีย เตรียมคัดออกตามศักยภาพ แย้มเม็ดเงินงบประมาณปี 53 ต้องมากกว่าปีนี้
แหล่งข่าวระดับสูงจากกรมประชาสัมพันธ์ เปิดเผยว่า จากการที่ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เข้ามอบนโยบายการดำเนินงานให้กับผู้บริหารกรมประชาสัมพันธ์ เมื่อวานนี้ โดยจากการรายงานของคณะกรรมการตรวจสอบการปฏิบัติราชการสำนักนายกฯ เมื่อปี 2551 ซึ่งปกติจะตรวจสอบเรื่องงบประมาณจากโครงการต่างๆ ที่เป็นปัญหา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสาทิตย์ ถึงกับตะลึงที่พบปัญหากรณีการเช่าสัญญาณแฝง คือ วิทยุคลื่นความถี่ FM หรือโทรทัศน์ที่ออกไป แต่ละช่วงของช่องสัญญาณจะมีช่องว่าง ซึ่งตรงนี้เรียกว่า ช่องว่างของสัญญาณ สามารถส่งสัญญาณแฝงไปได้ อย่างเช่น เครื่องรับวิทยุติดรถยนต์ในปัจจุบัน ที่สามารถรับคลื่น FM ได้ จะสามารถส่งข้อความได้ด้วย
“สัญญานี้มีการทำกันตั้งแต่ปี 2540 ระหว่างกรมประชาสัมพันธ์ กับบริษัทเอกชนรายหนึ่ง มีอายุนานถึง 26 ปี เป็นสัญญาเช่าสัญญาณแฝงของกรมประชาสัมพันธ์ทั้งหมด โดยสัญญาฉบับนี้จัดทำขึ้นในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี อนุมัติโดยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น” แหล่งข่าวในที่ประชุมมอบนโยบายกรมประชาสัมพันธ์กล่าว
แหล่งข่าว ยังกล่าวต่อว่า ประเด็นตรงนี้ นายสาทิตย์ ได้ตั้งข้อสงสัย คือ ข้อแรก ผลตอบแทนของสัญญานี้ตลอดสัญญา 70 ล้านบาท จ่ายเป็นรายปี ส่วนหนึ่งจัดเป็นเงินสวัสดิการของกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบการปฏิบัติราชการสำนักนายกฯ ตั้งประเด็นว่า ทำไมไม่มีการส่งเป็นรายได้แผ่นดินก่อนแล้วจัดตรงเป็นเงินสวัสดิการ ตรงนี้ขัดกฎหมายหรือไม่ ข้อสอง สัญญานี้มีข้อความที่ผิดปกติมาก คื อ เป็นการเช่าสัญญาณแฝงที่มีในขณะนี้และที่จะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งหมด หมายความว่า ภายใน 26 ปี ตั้งแต่เริ่มเช่าสัญญา หากมีวิทยุ FM หรือโทรทัศน์เกิดขึ้นใหม่ในอนาคตจะใช้ได้หมด
แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า จากกรณีดังกล่าว นายสาทิตย์ ได้เรียกสัญญาทั้งหมดมาดู และขอให้ดำเนินการใน 2 เรื่อง โดยให้ตรวจสอบว่าการทำสัญญานี้ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ สามารถที่จะทำสัญญาผูกมัดถึงอนาคตได้หรือไม่ ส่วนประเด็นที่เป็นเงินสวัสดิการนั้นดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ตามที่คณะกรรมการตรวจสอบการปฏิบัติราชการสำนักนายกฯ ตั้งข้อสังเกตไว้ ซึ่งปีแรกพบว่า มีการจ่ายค่าเช่าสัญญา 1 แสนบาท
ทั้งนี้ ตั้งแต่เช่าสัญญาณมา บริษัทเอกชนดังกล่าวยังไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ แต่ตอนนี้เข้าใจว่าเริ่มนำมาใช้ประโยชน์แล้ว เพราะในอนาคต สัญญาณแฝงนี้จะมีประโยชน์มาก เช่น ถ้าทำสถานีวิทยุการรายงานสภาพจราจร ก็สามารถที่จะส่งแผนที่การจราจรควบคู่ไปได้ ถ้ามีเครื่องรับ ฉะนั้น สัญญาณนี้ถ้าใครจะมาทำก็ต้องมาเช่าจากบริษัทเอกชนดังกล่าว เพราะเป็นรายเดียวที่ได้ทำสัญญาสัมปทาน และเวลานี้พบว่า เริ่มส่งข้อความบางส่วนออกไป ซึ่งในอนาคตอาจเป็นข้อความโฆษณาก็ได้ หรือจะเป็นตัววิ่งก็ได้และสามารถรับสัญญาณภาพได้ด้วย ทั้งหมดเมื่อนายสาทิตย์อ่านสัญญา นายสาทิตย์ถึงกับบอกว่าตกใจมาก สั่งให้ตรวจสอบด่วน
นายสาทิตย์ กล่าวว่า ได้ให้นโยบายหลักๆ 3 ด้าน คือ 1.ทิศทางการดำเนินงานของกรมประชาสัมพันธ์ จากนี้จะคงความเป็นหน่วยงานของรัฐบาลเช่นเดิม แต่ต้องวางระบบระเบียบใหม่ ให้ทำงานได้ราบรื่น ไม่ถูกแทรกแซงจากการเมือง แม้ว่าจะต้องมีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ก็ตาม
2.เครื่องมือที่กรมประชาสัมพันธ์มีอยู่ คือ สถานีโทรทัศน์เอ็นบีที หรือช่อง 11 ยังคงความเป็นสถานีโทรทัศน์ของรัฐ วางแนวทางให้เป็นสถานีโทรทัศน์แห่งชาติต่อไป ทั้งนี้ได้ให้นโยบายกับทาง นายสุริยงค์ ผู้อำนวยการสถานี ไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของผังรายการใหม่ ที่จะเห็นในวันที่ 1 เม.ย.นี้ จะต้องมีรูปแบบรายการที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน คงไว้ซึ่งรายการที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่งเสริมรายการที่ดีมีประโยชน์แก่สังคมและประชาชนทั่วไป ส่วนของโทรทัศน์ท้องถิ่น ให้สามารถผลิตรายการเพื่อประชาชนในท้องถิ่นนั้นได้ แต่จะต้องหารือกันอีกครั้ง
อีกส่วนหนึ่งคือ วิทยุ โดยวิทยุชุมชนที่ขึ้นกับทางกรมประชาสัมพันธ์ จะต้องทำงานใกล้ชิดกันมากขึ้น นำเสนอข่าวสารจากรัฐบาลไปสู่ประชาชนมากกว่าเดิม ส่วนคลื่นวิทยุเอฟเอ็มที่มีอยู่ในกรุงเทพฯ จะต้องดูว่า คลื่นใดที่ยังสร้างรายได้ก็ให้คงอยู่ แต่ถ้าคลื่นใดดูแล้วไม่เป็นเช่นกัน จะมีการขอยกเลิกสัญญา เพื่อนำไปทำเป็นคลื่นวิทยุสีขาว 24 ชม.สำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว จะเปิดตัวในวันที่ 1 เม.ย.นี้
3.นโยบายเกี่ยวกับบุคลากร โดยเฉพาะในส่วนของลูกจ้างที่ช่อง 11 มีอยู่มาก พิจารณาให้ทั้งหมดเข้าประกันตน โดยให้รัฐบาลเป็นผู้จ้าง จะทำให้ลูกจ้างมีสวัสดิการดีขึ้น จึงให้หน่วยงานทางกระทรวงการคลังเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องดังกล่าว คงต้องใช้เวลาสักระยะ
นายสาทิตย์ กล่าวต่อว่า สำหรับปัญหาของทางช่อง 11 หลังจากที่บริษัท ดิจิตอล มีเดีย โฮลดิ้ง จำกัด ได้ขอยกเลิกสัญญา มีผลตั้งแต่ 1 มี.ค.นี้นั้น พบว่า ลูกค้าของทางช่อง 11 กว่า 107 คน ที่ทำงานร่วมผลิตกับบริษัทฯดังกล่าว ทางกรมจะรับผิดชอบเงินเดือนของเดือน มี.ค.นี้ให้ ซึ่งหลังจากนั้น จะมีการพิจารณาอีกครั้งว่า จะมีการรับคนในกลุ่มดังกล่าวไว้ได้แค่ไหน
ทั้งนี้ ตลอดเดือน มี.ค.ทางช่อง 11 จะเป็นผู้ผลิตรายการข่าวเองทั้งหมด พร้อมทั้งจะมีการพิจารณาต่อว่า บุคลากรที่มีจะมีศักยภาพผลิตรายการข่าวได้แค่ไหน จากเดิมที่ดิจิตอลทำไว้ 9.30 ชม.ต่อวัน อาจจะมีการปรับลดลงบ้าง ซึ่งหากเกินกำลังที่จะทำได้ หลังจากนั้น จะมีการพิจารณาจ้างบริษัทร่วมผลิตรายการต่อไป
โดยในส่วนของสัญญาร่วมผลิตรายการนั้น ระหว่างนี้จะต้องมีการยกเลิกสัญญาร่วมผลิต ซึ่งมีประมาณ 50 สัญญาลงเกือบหมด ยกเว้นสัญญาร่วมผลิตรายการที่คงไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ และรายการที่อยู่ในทิศทางของช่อง 11 นอกนั้นต้องยกเลิกให้หมด เพื่อให้ง่ายต่อการปรับทิศทางของสถานีใหม่ โดยในสัญญารับจ้างผลิตได้เปิดช่องให้ทางสถานียกเลิกสัญญาได้อยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม นโยบายในปีนี้ จะมุ่งปรับการดำเนินงานทั้งหมด เพื่อให้สามารถแข่งขันกับสื่ออื่นๆ ที่เข้ามาได้ โดยมุ่งเน้นการนำเสนอข่าวสารของรัฐบาลไปสู่ประชาชนให้มากที่สุด ดังนั้นแผนปีนี้จึงยังไม่มีการลงทุนแต่อย่างไร งบประมาณปีนี้ของทางกรมจึงยังใช้เท่าเดิม แต่ในปี 2553 นั้น คาดว่าจะต้องของบประมาณเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับนโยบายการทำงานต่างๆ ที่ทำไว้ในปีนี้
นอกจากนี้ จะพยายามหารายได้เข้ามามากขึ้น โดยมองว่างบประมาณเกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์ของภาครัฐต่อปีรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท ได้มีการขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานต่างๆให้หันมาใช้ช่อง 11 เป็นสื่อเพื่อการประชาสัมพันธ์เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมีการพิจารณาปรับราคาการเช่าซื้อเวลาของทางสถานีด้วย ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายทอดสด รายการเฉพาะกิจต่างๆ รวมถึงโฆษณาอีกส่วนหนึ่งด้วย