“สาทิตย์” ไม่ยอมรับผลสำรวจรายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ เปรียบตัวเลข 11 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าทำได้ดี ระบุไม่หวังทำหวือหวา ไม่อาศัยตอบโต้ทางการเมือง เน้นสารประโยชน์ด้านนโยบาย เชื่อเข้าถึงประชาชน 80 เปอร์เซ็นต์ ยอมรับพร้อมปรับปรุง พร้อมเผยเร่งปรับโฉมเอ็นบีทีให้เป็นรายการของคนไทย เชิญประชาชนประกวดโลโก้ใหม่
วันนี้ (11 ก.พ.) ที่อาคารรัฐสภา นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลสำรวจรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์” ว่าประชาชนไม่ค่อยพอใจเท่าที่ควรว่า จริงๆ รายการนี้เพิ่งจัดมา 3 ครั้ง ตนดูผลสำรวจอยู่ตลอดว่าวิธีการไปสำรวจทำกันอย่างไร ปรากฏว่าใช้การสำรวจผ่านทางอินเทอร์เน็ต แต่ผลที่ออกมา 11 เปอร์เซ็นต์ ยังมีคำถามว่าเป็น 11 เปอร์เซ็นต์ของอะไร เพราะถ้าดูเรตติ้ง ซึ่งจัดโดยบริษัทวัดอันดับเรตติ้งทางโทรทัศน์ พบว่าสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 เมื่อเปรียบเทียบกับช่องอื่นๆ ตัวเลขคนดูแต่ละครั้งในช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์กว่าๆ ขณะที่สถานีโทรทัศน์ช่อง 7 และ 3 อยู่ที่ 30 กว่าเปอร์เซ็นต์ ส่วนช่อง 9 ลดหลั่นลงมา เพราะฉะนั้น 11 เปอร์เซ็นต์กว่าถ้าเปรียบเทียบกับคนดูทั่วประเทศก็สูงกว่าเรตติ้งช่อง 11 และตรงนี้ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกว่าดีใจหรือไม่ แต่รายการก็จะปรับปรุงอยู่เรื่อย และพยายามให้รายการนี้เป็นรายการที่ให้นายกฯสื่อสารกับประชาชนโดยตรง ดังนั้น รูปแบบรายการจะมีการปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา และรับฟังความคิดเห็นของคนที่แสดงความคิดเห็นมา
“ที่ผ่านมาออกอากาศไปแล้ว 3 ครั้ง ก็มีทั้งคนชอบ และคนเสนอข้อปรับปรุงต่างๆ มากมาย และคณะทำงานก็ประชุมกันทุกวัน เพื่อที่จะปรับปรุงในเรื่องนี้” นายสาทิตย์กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า เชื่อมั่นหรือไม่ว่า รายการนี้จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนที่จะมีต่อรัฐบาลได้ นายสาทิตย์ กล่าวว่า ใน 10 กว่าเปอร์เซ็นต์นี้มี 80 กว่าเปอร์เซ็นต์ ที่เชื่อมั่นประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งก็ถือว่าตรงวัตถุประสงค์ และในการสำรวจช่วงหลังสุดคนที่ไม่ชอบรายการนี้ลดลงไปกว่าครึ่ง แปลว่าดูแล้วก็ชอบ แต่เป้าหมายของเราตนคิดว่าหลังจากที่นายกฯออกไปแล้วก็จะมีข่าวโทรทัศน์กับวิทยุทุกช่องออกข่าวไปอีก ซึ่งก็ถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สามารถสื่อถึงประชาชนได้ ทั้งนี้รายการครั้งต่อไปจะกลับไปจัดที่ห้องส่งสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ซึ่งเนื้อหาที่นายกฯใช้พูดจะมีการสำรวจอยู่ตลอดว่าเนื้อหาที่พูดไปแล้ว หรือประเด็นปัญหาในสังคมที่เกิดขึ้นเรื่องใดเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของประชาชนมากที่สุด และเป็นประโยชน์มากที่สุดก็จะใช้เนื้อหานั้นมาพูดคุย แต่เนื้อหาของรายการอาจจะไม่ฮือฮามีสีสัน เพราะนายกฯ ยืนยันว่าจะไม่ใช้รายการนี้เป็นเวทีเพื่อตอบโต้ทางการเมือง ดังนั้นจึงต่างจากอดีตนายกฯ จัดที่ใช้เวทีดังกล่าวพูดถึงเรื่องการเมือง แต่นายอภิสิทธิ์จะใช้เวทีนี้พูดถึงเรื่องงานที่ทำมา และความคิดในการที่จะพัฒนาประเทศ ฉะนั้นถ้าคนคิดถึงเนื้อหาสาระจริงๆ ก็จะได้ไปเต็มๆ ที่จะนำไปพัฒนาประเทศ หรือแก้ไขปัญหาของประเทศมากกว่าที่จะเป็นสีสันทางการเมือง
เมื่อถามถึงการปรับปรุงสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที นายสาทิตย์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังอยู่ที่การปรับเปลี่ยนเนื้อหาและผังรายการเป็นหลัก ซึ่งต้องพูดถึงเรื่องการบริหารจัดการด้วย และในส่วนของรายการขณะนี้มีการคุยกันไปแล้วมากกว่า 2 สัปดาห์ ซึ่งผังรายการจริงๆมีการประชุมกันตลอด ส่วนเรื่องโลโก้สถานีเนื่องจากว่าเป็นสัญลักษณ์ที่จะทำให้คนรู้สึกว่าสถานีโทรทัศน์แห่งนี้เป็นของคนไทยทุกคน โดยในวันนี้ (11 ก.พ.) จะมีการประชุมประกวดโลโก้นัดแรก ซึ่งการประกวดโลโก้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ประชาชนจะมีความรู้สึกว่าช่อง 11 เป็นของประเทศชาติ
นายสาทิตย์ ยังกล่าวด้วยว่า สำหรับกรรมการปฏิรูปสื่อในวันที่ 12 หรือ 13 ก.พ.นี้ นายกฯจะลงนามแต่งตั้ง ขณะนี้ตัวกรรมการได้ครบแล้ว ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้จะเข้ามาดูใน 3 เรื่อง คือ 1.โครงสร้างการบริหารกรมประชาสัมพันธ์ในระยะยาว 2.อสมท ในระยะยาวว่าหลังจากมีกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่แล้วควรต้องปรับตัวอย่างไร 3.คลื่นวิทยุภาครัฐ ซึ่งหน่วยงานความมั่นคงหลายหน่วยงานก็จะอยู่ในนี้ เพราะหลังจากมีกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่แล้วจะต้องมีการปรับเปลี่ยนอะไรหรือไม่ ส่วนเรื่องสถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีคงเข้ามาดูในระยะต้นๆว่าตัวผังรายการจะคิดอย่างไร โดยจะปรับให้เป็นโทรทัศน์ที่ตอบสนองต่อประโยชน์ต่อสาธารณะได้มีมากน้อยแค่ไหน
เมื่อถามว่า มีมาตรฐานอย่างไรกับบริษัทที่เข้ามาทำรายการในสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า บริษัทที่เข้ามาร่วมผลิตรายการกับเอ็นบีที ตนได้พูดคุยกันมาตลอดเพื่อให้บริษัทปรับบทบาทว่าขณะนี้สถานการณ์การเมืองเปลี่ยนไปแล้ว รัฐบาลไม่ต้องการให้เอ็นบีทีเป็นเครื่องมือของรัฐบาล แต่ต้องการให้เป็นเครื่องมือสร้างความสมานฉันท์ ซึ่งได้ให้เวลาบริษัทเหล่านั้นเปลี่ยนรูปแบบของการนำเสนอให้เป็นทางการมากขึ้น ลดความเห็นส่วนตัวลง ซึ่งกำลังทบทวนอยู่ว่าสิ่งที่ทำไปนั้นตรงกับวัตถุประสงค์ของรัฐบาลหรือไม่
นอกจากนี้ เรื่องการนำเสนอข่าวขณะนี้เห็นว่ายังไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนไปในทิศทางที่น่าพอใจตนคิดว่าความเป็นสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 มีความเป็นทางการและต้องลดอคติส่วนตัวหลายๆ อย่างและสะท้อนความเป็นมืออาชีพ และความสมดุลในการเสนอข่าวสาร แต่เราก็ยังให้โอกาสที่จะต้องพูดคุยกันต่อ เพราะต้องยอมรับว่าหลายคนเป็นมืออาชีพ แต่ถ้าไม่สามารถที่จะเป็นไปตามนโยบายได้ โดยสัญญาก็สามารถที่จะทบทวนได้โดยกรมประชาสัมพันธ์ที่เป็นคู่สัญญาจะเป็นผู้ทบทวน ทั้งนี้การปรับผังรายการจะต้องจบภายในเดือน มี.ค.นี้