xs
xsm
sm
md
lg

สภาฯ นัดถกร่างจัดสรรคลื่นความถี่พุธนี้ คาดผ่านฉลุย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สภาฯ เตรียมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ทั้ง 3 ฉบับวันพุธนี้ ชี้สาระใกล้เคียงกัน โดยต้องการผลักดันให้กิจการกระจายเสียงโทรทัศน์-กิจการโทรคมนาคม เป็นองค์กรเดียวกัน เพื่อทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ แต่ยังติดปัญหาในเรื่องสัดส่วนคกก.เล็กน้อย

วันนี้ (2 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า สำหรับวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 4-5 มีนาคม มีวาระที่น่าสนใจ โดยวันที่ 4 มีนาคม เวลา 13.30 น.เป็นต้นไป วาระพิจารณาเรื่องด่วน ร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ..... จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ ฉบับที่ ครม.(ชุดนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี) เป็นผู้เสนอ และฉบับที่นายเจริญ จรรย์โกมล ส.ส.ชัยภูมิ พรรคเพื่อไทย และคณะเป็นผู้เสนอ รวมถึงฉบับที่นายอภิชาต ศักดิเศรษฐ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์และคณะ เป็นผู้เสนอ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับมีสาระสำคัญคล้ายกัน คือ กำหนดให้มีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นองค์กรเดียว ทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการดังกล่าวให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 47 ส่วนโครงสร้างภายในองค์กร ให้แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ กิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม มีอำนาจในการคุ้มครองผู้บริโภคและผู้ประกอบการ ตลอดจนการออกใบอนุญาตผู้ประสงค์จะใช้คลื่นความถี่เพื่อการดังกล่าวและการเพิกถอนใบอนุญาต การจัดทำแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ และการจัดให้ประชาชนได้ใช้คลื่นความถี่ไม่น้อยกว้าร้อยละ 20 โดยการจัดทำแผนต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนด้วย

สำหรับส่วนที่แตกต่างกัน ได้แก่ จำนวนคณะกรรมการ โดยร่างของ ครม.กำหนดให้มีคณะกรรมการ 10 คน แบ่งเป็น ผู้มีความรู้ เชี่ยวชาญด้านกิจการกระจายเสียง 2 คน กิจการโทรทัศน์ 2 คน ด้านกิจการโทรคมนาคมหรือเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง 3 คน และด้านกฎหมาย เศรษฐศาสตร์ การคุ้มครองผู้บริโภค 3 คน ส่วนการคัดเลือก ให้ผู้เข้ารับการเสนอชื่อ คัดเลือกกันเอง ให้เหลือ 2 เท่า ภายในสัดส่วนของกลุ่มที่เข้ารับการสรรหา จากนั้นให้วุฒิสภา คัดเลือกให้เหลือตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด หากได้ไม่ครบ ให้นายกฯนำบัญชีรายชื่อเสนอ ครม.พิจารณาให้ครบ

ส่วนร่างของนายเจริญ กำหนดให้มีคณะกรรมการ 12 คน แบ่งเป็น ผู้มีความรู้ เชี่ยวชาญด้านกิจการกระจายเสียง 2 คน กิจการโทรทัศน์ 2 คน ด้านกิจการโทรคมนาคมหรือเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง 3 คน ด้านกฎหมาย เศรษฐศาสตร์ 2 คน และการคุ้มครองผู้บริโภค 3 คน ส่วนการคัดเลือกคัดเลือก ให้ผู้เข้ารับการเสนอชื่อ คัดเลือกกันเอง ให้เหลือ 2 เท่า ภายในสัดส่วนของกลุ่มที่เข้ารับการสรรหา จากนั้นให้เลขาธิการกสทช.เสนอบัญชีรายชื่อพร้อมข้อเสนอแนะให้ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เพื่อนำเสนอ ครม. จากนั้นครม.คัดเลือกบุคคลตามบัญชีรายชื่อดังกล่าวเป็นประธาน รองประธาน และกรรมการ กสทช. ตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด และนำรายชื่อเพื่อขอความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ตามลำดับ

ขณะที่ร่างของนายอภิชาตกำหนดให้มีคณะกรรมการ 11 คน แบ่งเป็น ผู้มีความรู้ เชี่ยวชาญด้านกิจการกระจายเสียง 2 คน กิจการโทรทัศน์ 2 คน ด้านกิจการโทรคมนาคมหรือเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง 3 คน และด้านกฎหมาย เศรษฐศาสตร์ การคุ้มครองผู้บริโภค 2 คน ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค 1 คน ส่วนการคัดเลือก ให้ผู้เข้ารับการเสนอชื่อ คัดเลือกกันเอง ให้เหลือ 2 เท่า ภายในสัดส่วนของกลุ่มที่เข้ารับการสรรหา จากนั้นให้วุฒิสภา คัดเลือกให้เหลือตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด

ทั้งนี้ทั้ง 3 ร่างกำหนดว่า องค์กรที่มีสิทธิ์เสนอชื่อต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี อย่างไรก็ดี ในการสรรหาครั้งแรกตาม พ.ร.บ.นี้ มีบทเฉพาะกาลกำหนดให้องค์กรที่มีสิทธิ์เสนอชื่อ จดทะเบียนมาไม่น้อยกว่า 2 ปี

นอกจากนี้ การจัดแบ่งจำนวนกรรมการในโครงสร้างภายในของทั้ง 3 ร่าง ยังมีความต่างกัน โดยร่าง ครม.ในส่วนคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ กำหนดให้มีจำนวน 7 คน แบ่งเป็น ประธาน ซึ่ง กสทช.แต่งตั้งจากรองประธาน กสทช.1 คน ส่วนกรรมการ 3 คน มาจากกรรมการกสทช. และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งกสทช.แต่งตั้งจากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย เศรษฐศาสตร์ กิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ไม่เกิน 3 คน

ส่วนคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม กำหนดให้มีจำนวน 5 คน แบ่งเป็น ประธาน ซึ่ง กสทช. แต่งตั้งจากรองประธาน กสทช.1 คน ส่วนกรรมการ 2 คน มาจากกรรมการ กสทช. และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่ง กสทช.แต่งตั้งจากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย เศรษฐศาสตร์ กิจการโทรคมนาคม ไม่เกิน 2 คน ส่วนร่างของนายเจริญ ในส่วนคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และในส่วนคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม กำหนดให้มีจำนวนเช่นเดียวกับร่างของ ครม.

ขณะที่ร่างของนายอภิชาตในส่วนคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ กำหนดให้มีจำนวน 5 คน แบ่งเป็น ประธาน ซึ่ง กสทช.แต่งตั้งจากรองประธาน กสทช.1 คน ส่วนกรรมการ 4 คน มาจากกรรมการ กสทช. ส่วนคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม กำหนดให้มีจำนวน 5 คน แบ่งเป็น ประธาน ซึ่ง กสทช.แต่งตั้งจากรองประธาน กสทช.1 คน ส่วนกรรมการ 4 คน มาจากกรรมการ กสทช.
กำลังโหลดความคิดเห็น