xs
xsm
sm
md
lg

ผมไม่อยากเป็น แต่ผมต้องเป็น” เมื่อ “สนธิ” พร้อมรับตำแหน่งหัวหน้าพรรคการเมืองใหม่!

เผยแพร่:   โดย: ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

จากการถอดคำพูดการให้สัมภาษณ์ของ นายสนธิ ลิ้มทองกุล ในรายการ “แอนจินดารัตน์” ทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV เมื่อคืนวันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ได้ประกาศบทบาทของตัวเองในพรรคการเมืองใหม่เป็นครั้งแรกที่สรุปใจความได้ว่า “พร้อมรับตำแหน่งหัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ขึ้นอยู่กับความต้องการของพี่น้องประชาชนชาวพันธมิตรฯ แต่ไม่จำเป็นต้องรับตำแหน่งทางการเมือง” โดยรายละเอียดคำต่อคำของสัมภาษณ์บางส่วนที่น่าสนใจปรากฏดังนี้

“ตั้งแต่ปี 2548 มาจนถึงวันนี้ ชีวิตผมเปลี่ยนไปหมดแล้ว วันนี้ผมไม่ได้ทำอะไรเพื่อตัวผมเลยแม้แต่นิดเดียว ทุกอย่างเพื่อชาติบ้านเมือง ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ นี่ไม่ใช่เป็นคำท่องนะโมของผมนะ เป็นความจริงใจ แม้กระทั่งเจ็บก็เจ็บเพื่อชาติไปแล้ว เพราะฉะนั้นแล้ว จากวันนี้จนถึงวันตายก็คงจะเป็นการทำงานเพื่อส่วนรวม เรื่องส่วนตัวนี่ตัดทิ้งไป ส่วนกิจการนั้นอยู่ได้ก็อยู่ อยู่ไม่ได้ก็ช่างมัน อยู่ไม่ได้ก็ช่างมัน แต่ว่าถ้าอยู่ได้ก็พยายามประคองให้อยู่ เพราะว่ามันเป็นเครื่องมือที่สำคัญ เมื่อผมต้องการทำงานให้ชาติบ้านเมืองแล้ว

ผมตอบไม่ได้ว่าผมจะเป็นหัวหน้าพรรคหรือเปล่า พี่น้องประชาชนพันธมิตรฯ ต้องเป็นคนตอบแทนผม ถูกไหมครับ ถ้ามองจากมติของพี่น้องในวันที่เราไปชุมนุมกันที่สนามกีฬาธรรมศาสตร์ เขามีมติในการให้ตั้งพรรคการเมือง แล้วก็มีผลแบบฟอร์มที่ทุกคนต้องกรอก แล้วในนั้นก็มีการระบุว่าอยากให้ใครเป็นหัวหน้าพรรค ข้อมูลผมรู้พอสมควร แต่ผมไม่ได้อยู่ในจุดที่ผมจะสามารถเปิดเผยได้ เอาเป็นว่าถ้าพี่น้องประชาชนที่มาชุมนุมร่วมแสนคน ที่วันนั้นได้กรอกข้อความไปแล้ว ถ้าสมมุติส่วนใหญ่ต้องการให้ผมเป็นหัวหน้าพรรค ผมก็ต้องเป็นให้”


จากคำสัมภาษณ์ดังกล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นว่าการตัดสินใจที่จะพร้อมรับหรือไม่รับตำแหน่งหัวหน้าพรรคก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของประชาชนที่เป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย อันเป็นการเคารพเสียงของประชาชนผู้ที่เสี่ยงชีวิตเข้าร่วมการต่อสู้กับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในรอบหลายปีที่ผ่านมา

เพราะพรรคการเมืองใหม่ เป็นพรรคที่เกิดขึ้นจากความต้องการของมวลประชาชนของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ได้ลงมติและแสดงความเห็นอย่างกว้างขวางผ่านตัวแทนทุกจังหวัดในการประชุมสภาพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2552 ที่มหาวิทยาลัยรังสิต และยังมาจากการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแบบเปิดกว้างเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2552

เป็นการลงมติที่แสดงตัวตนมีเลขที่บัตรประจำตัวประชาชนเป็นรายบุคคลซึ่งกรอกอยู่ในแบบฟอร์มที่จะยังคงเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของพรรคการเมืองใหม่ตลอดไป

เพราะตำแหน่งหัวหน้าพรรคการเมืองใหม่เป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญ และเป็นภารกิจต่อเนื่องที่ต้องคิดและทำให้เสร็จสิ้นกระบวนความหลังการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ เพื่อเป็นเครื่องมือของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในการสร้างการเมืองใหม่ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

ฝ่ายที่ไม่ต้องการให้ นายสนธิ ลิ้มทองกุลเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ เพราะ “ความห่วงใย” นั้นมีหลายสาเหตุ บางคนก็กลัวว่าจะเสียสัตย์ บางคนก็กลัวว่าจะถูกโจมตีในเรื่องต่างๆ บางคนกลัวอันตรายถึงชีวิตมากขึ้น บางคนก็กลัวว่าจะเสียมวลชน บางคนก็กลัวว่า ASTVจะสูญเสียสถานภาพไป จึงต้องการเก็บรักษาเอาไว้ในภาคประชาชนและสื่อมวลชนต่อไป แต่บางส่วนก็เป็นคนในสังกัดพรรคต่างๆที่ไม่ต้องการให้นายสนธิ ลิ้มทองกุล มาเป็นคู่แข่งทางการเมือง

แต่ฝ่ายที่เห็นด้วยที่ให้ นายสนธิ ลิ้มทองกุล มาเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่เห็นข้อห่วงใยข้างต้น แต่เห็นเป้าหมายของพรรคการเมืองใหม่ในการสร้างการเมืองใหม่นั้นสำคัญและยิ่งใหญ่กว่า และเห็นว่าศักยภาพของ นายสนธิ ลิ้มทองกุลเป็นผู้ที่จะทำให้เกิดพลังในพรรคการเมืองใหม่ได้ ทั้งในการนำเรื่องเศรษฐกิจ และการเมือง

เสียงจากทั้งสองฝ่ายน่ารับฟังทั้งคู่ แต่จะเมื่อจะต้องมีข้อสรุป ก็จะต้องฟังและเคารพเสียงส่วนใหญ่ของมิตรร่วมทุกข์ร่วมสุขของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยซึ่งเป็นผู้ที่ลงมติสร้างพรรคการเมืองใหม่นี้ด้วยตัวเอง

ซึ่งเรื่องนี้นายสนธิ ลิ้มทองกุลได้ให้คำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ เอาไว้อย่างชัดเจนในรายการสัมภาษณ์ดังกล่าวความตอนหนึ่งว่า:

“ผมเคยสัญญาว่าผมจะไม่รับตำแหน่งทางการเมือง การเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองไม่จำเป็นจะต้องรับตำแหน่งทางการเมือง ไม่จำเป็นต้องลงเลือกตั้งก็ได้นี่ แต่เป็นผู้ชูธง ถูกไหมครับ อาจจะต้องถึงจุดๆ หนึ่งที่ผมจะต้องเรียนคุณแอนและพ่อแม่พี่น้องที่บ้านว่า “ผมไม่อยากเป็น แต่ผมต้องเป็น” ผมไม่อยากเป็น แต่ผมต้องเป็น เข้าใจหรือเปล่า ความเข้าใจผิดมันอาจจะมี แต่ผมคิดว่าในชีวิตผม 48-49-50-51-52 4-5 ปีที่ผ่านมานี้ ไม่มีครั้งไหนที่ผมเริ่มทำอะไรแล้วได้รับความเข้าใจจากพ่อแม่พี่น้อง”

ผมมีความรู้สึกว่าถ้าผมจะตัดสินใจทำอะไร ผมเชื่อสิ่งที่ผมตัดสินใจนั้นถูกต้อง เพราะผมมีศรัทธา และศรัทธาที่ผมมีนั้นผมมีเพื่อส่วนรวม เพราะฉะนั้นผมต้องอดทน อดทนต่อทุกเรื่อง อดทนต่อคำต่อว่า อดทนต่อการเข้าใจผิด เพราะผมเชื่อว่าเมื่อถึงเป้าแล้ว วันนั้นผมจะพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าผมไม่ได้เป็นคนที่ยึดติดอะไรทั้งสิ้น เมื่อถึงเป้าแล้วผมพร้อมที่จะกลับมานั่งอยู่ในรายการคุณแอนอีกเหมือนเดิม แล้วก็เป็นนายสนธิ ที่มีชีวิตอยู่เพื่อส่วนรวม ให้ปัญญาคนไม่หยุดยั้ง แต่ในช่วงของการเดินหน้าต่อไปที่จะเป็นหนึ่งในแกนนำมวลชนนั้น บางเรื่องไม่อยากทำแต่ต้องทำ เพราะถ้าไม่ทำ หนึ่ง เท่ากับทรยศมวลชน สอง ที่สำคัญที่สุด ถ้าไม่ทำแล้วสิ่งซึ่งตั้งกันเอาไว้ จะสร้างขึ้นมา มันอาจจะพังทลายลงไปก็ได้ ถูกไหมครับ ถ้ามันจะพังทลายลงไป เหตุผลเพราะผมไม่ทำ ทั้งๆ ที่เขาให้ผมทำ ผมก็จะถูกก่นด่าไปจนวันตาย ว่าถ้าอย่างนั้นแล้วตั้งมาทำไม ถูก/ไม่ถูก ถ้าอย่างนั้นแล้วเรียกชุมนุมทำไมเพื่อให้ตั้งพรรค ถูกไหม เพราะฉะนั้นแล้วเมื่อมีพรรคแล้ว ถ้ามันจะต้องไปเป็นหัวหน้าพรรค เพื่อให้พรรคอยู่ได้และเดินหน้าต่อไป ถึงผมจะต้องบาดเจ็บจากคำพูด โดนตำหนิติเตียนอะไรก็ตามด้วยความไม่เข้าใจ ผมต้องทน แต่ขอให้ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้ผมเป็น เท่านั้นเอง”


เพราะสังคมไทยยังไม่ได้รอดพ้นจากวิกฤติ ใครก็ตามที่จะมาทำงานในพรรคการเมือง โดยเฉพาะในเวลานี้หัวหน้าพรรคจะต้องมีความเสียสละอย่างยิ่งใหญ่ในการฝ่าฟันอุปสรรคขวากหนามที่ไม่ใช่วิกฤตเพียงแค่การเมืองเท่านั้น แต่ยังต้องฝ่าฟันวิกฤตทางเศรษฐกิจและสังคมอีกด้วย

การเลือกตั้งซ่อมที่ จังหวัดสกลนคร และจังหวัดศรีสะเกษะ ที่พรรคเพื่อไทยชนะคู่แข่งด้วยคะแนนทิ้งห่างแบบขาดลอย ก็สะท้อนให้เห็นได้อย่างเพียงพอแล้วว่าประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวยินยอมเลือกพรรคการเมืองที่ได้รับการสนับสนุนด้วยการโฟนอินจากนักโทษชายหนีอาญาแผ่นดิน ทักษิณ ชินวัตรให้ได้รับชัยชนะ เพียงเพราะสงสาร และ หลงเชื่อว่านักโทษชายทักษิณเท่านั้นที่จะแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจเพื่อปากท้องของประชาชนได้

ตามมาด้วยการล่ารายชื่อประชาชนเพื่อถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้กับนักโทษชายทักษิณ ชินวัตร ที่หนีอาญาแผ่นดิน ไม่ยอมรับผิดและไม่สำนึกในคำตัดสินของศาลฎีกาที่กระทำในพระปรมาภิไธย

เป็นความล้มเหลวของพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดที่ยังคงมุ่งสนใจใช้นักโทษชายทักษิณ ชินวัตร เป็นจุดขายต่อไป โดยไม่สนใจหลักนิติรัฐและหลักจริยธรรม ซึ่งจะยิ่งสร้างความแตกแยกให้กับหมู่ประชาชนอย่างไม่รู้จบสิ้น

ปรากฏการณ์ข้างต้นที่เกิดขึ้นก็ยังสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงของรัฐบาลในการบริหารสื่อของรัฐในการให้ข้อเท็จจริงและการฟื้นฟูจริยธรรมในสังคมไทย ตลอดจนสะท้อนให้เห็นถึงการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ไม่สามารถทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นได้


สัญญาณอันตรายข้างต้นนี้ แสดงให้เห็นถึงวิกฤติของชาติที่ได้มาถึงแล้ว!

ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญได้จัดทำแบบสอบถามความคิดเห็นของประชาชน 17 จังหวัด ในเรื่องทัศนคติที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชั่นหลายครั้งพบตัวเลขที่แสดงถึงวิกฤติของชาติว่า ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องปกติธรรมดา

ล่าสุดผลการสำรวจระหว่างวันที่ 25-27 มิถุนายน 2552 ได้รายงานผลว่าประชาชนถึง 84.5% ที่ค่อนข้างเห็นด้วยหรือเห็นด้วยอย่างยิ่งว่า “การทุจริตคอรัปชั่นเป็นเรื่องปกติธรรมดาในการทำธุรกิจ” และประชาชนถึง 51.2% คิดว่ารัฐบาลทุกรัฐบาลมีการทุจริตคอรัปชั่นด้วยกันทั้งนั้น ถ้าทุจริตคอรัปชั่นแล้วทำให้ประเทศชาติรุ่งเรืองประชาชนกินดีอยู่ดี ก็ยอมรับได้

คนที่จะต้องฝ่าฟันอุปสรรคเพื่อสร้างการเมืองใหม่ให้ดีกว่าเดิมในสังคมแบบนี้ได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย

พรรคการเมืองใหม่จึงจำเป็นต้องหาผู้นำที่ต้องมีศักยภาพสูง และมีคุณสมบัติ เสียสละ ซื่อสัตย์ กล้าหาญ และมีความสามารถ อีกทั้งยังต้องมีความอดทนและความเพียรพยายามอย่างถึงที่สุด


ปรากฏการณ์ของบ้านเมืองในเวลานี้จึงขออัญเชิญพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ เรื่อง พระมหาชนก ในตอนที่เกี่ยวกับ “ต้นมะม่วง” เพื่อเป็นอุทธาหรณ์เตือนใจ โดยเนื้อความในตอนดังกล่าวสรุปได้ว่า:

“พระมหาชนกได้เสด็จออกพระนครด้วยราชบริพาร ถึงประตูพระราชอุทยาน ที่ใกล้ประตูพระราชอุทยานนั้น มีต้นมะม่วงสองต้น มีใบเขียวชอุ่ม ต้นหนึ่งไม่มีผล ต้นหนึ่งมีผล ผลนั้นมีรสหวานเหลือเกิน ใครๆไม่อาจเก็บผลจากต้นนั้น เพราะผลซึ่งมีรสเสิศพระราชายังมิได้เสวย

พระมหาชนกประทับบนคอช้างทรงเก็บเอาผลหนึ่งเสวย ก็ปรากฏว่ารสชาติดีมากดุจโอชารสทิพย์ พระมหาชนกทรงคิดว่าจะกินเวลากลับมา หลังจากนั้นเสด็จเข้าสู่พระราชอุทยาน

คนอื่นๆ มีอุปราชเป็นต้น จนถึงคนรักษาช้าง รักษาม้า รู้ว่าพระราชาเสวยมีรสเลิศแล้ว ก็เก็บเอาผลมากินกัน ฝ่ายคนอื่นยังไม่ได้ผลนั้น ก็ทำลายกิ่งด้วยท่อนไม้ ทำให้เสียไม่มีใบ และถึงขั้นแย่งกันจนต้นมะม่วงที่ว่านั้นถูกทำลายหักโค่นลงในที่สุด” จนพระมหาชนกกลับมาทอดพระเนตรเห็นจึงเกิดความสังเวชใจ
ภาพจากหนังสือพระมหาชนกในตอนเรื่องต้นมะม่วง
ต้นมะม่วงที่มีผลเลิศได้ถูกโค่นทำลายลงไปเพราะการแย่งชิง แต่พระมหาชนก ได้ทรงดำริว่า “ทุกคนบุคคล จะเป็นพ่อค้าวาณิช เกษตรกร กษัตริย์ หรือ สมณะ ต้องทำหน้าที่ทั้งนั้น อย่างไรก็ตาม ก่อนอื่นเราต้องหาทางฟื้นฟูต้นมะม่วงที่มีผล”

ปัญหาวิกฤติทุกอย่างไม่มีทางอับจนหากมีปัญญา พระมหาชนกได้ทรงแนะนำในการฟื้นฟูต้นมะม่วงถึง 9 วิธี 1. เพาะเม็ดมะม่วง 2. ถนอมรากที่ยังมีอยู่ให้งอกใหม่ 3. ปักชำกิ่งที่เหมาะแก่การปักชำ 4. เอากิ่งดีมาเสียบยอดกิ่งของต้นที่ไม่มีผลให้มีผล 5. เอาตามาต่อกิ่งของอีกต้น 6. เอากิ่งมาทาบกิ่ง 7. ตอนกิ่งให้กออกราก 8. รวมควันต้นที่ไม่มีผลให้ออกผล 9. ทำชีวณูสงเคราะห์ (Culturing the cells)

พระมหาชนก ได้ตรัสต่อว่านึกถึงครั้งที่นางมณีเมขลาได้ช่วยชีวิตอุ้มพระมหาชนกขึ้นจากทะเลหลังจากใช้ความเพียรพยายามว่ายน้ำมาโดยไม่เห็นฝั่งถึง 7 วัน 7 คืน โดยนางมณีเมขลากล่าวกับพระมหาชนกในตอนนั้นว่า ต้องให้สาธุชนได้รับพรแห่งโพธิญาณจากโอษฐ์ของท่าน ถึงกลางอันสมควรท่านจงตั้ง “มหาวิชชาลัย” แม้กาลนั้นก็จะสำเร็จกิจและได้มรรคาแห่งบรมสุข

พระมหาชนกจึงตรัสกับพราหมณ์ว่า “เราแน่ใจว่าถึงการจะตั้งสถาบันแล้ว เป็นสัจจะว่าควรตั้งมานานแล้ว เหตุการณ์ในวันนี้แสดงความจำเป็น นับแต่อุปราช จนถึงคนรักษาช้าง คนรักษาม้า และนับตั้งแต่คนรักษาม้าจนถึงอุปราช และโดยเฉพาะเหล่าอมาตย์ ล้วนจาริกในโมหภูมิทั้งนั้น พวกนี้ขาดทั้งความรู้ทางวิชาการ ทั้งความรู้ทั่วไป คือความสำนึกธรรมดา: พวกนี้ไม่รู้แม้แต่ประโยชน์ส่วนตน พวกนี้ชอบผลมะม่วง แต่ก็ทำลายต้นมะม่วง”

พราหมณ์มหาศาลเห็นพ้องกับพระราชดำริ และกล่าวว่า: “พระราชาผู้เป็นบัณฑิต ข้าพระองค์ยังมีศิษย์ที่ดีไว้ใจได้ และจะประดิษฐาน “ปูทะเลย์มหาวิชชาลัย” ได้แน่นอน มิถิลายังไม่สิ้นคนดี”

พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ เรื่อง พระมหาชนก จึงมีเนื้อหาสาระที่สอนประชาชนให้มีความเพียร ตั้งอยู่ในธรรม เสียสละความสุขส่วนตนเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมด้วยความมุ่งมัน กล้าหาญที่จะทำงานอย่างหนักด้วยตัวเองเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมอวิชชา
กำลังโหลดความคิดเห็น