ศูนย์ข่าวศรีราชา -อุปนายกสมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี เตรียมเสนอให้มีการจัดตั้ง ตลาดนัดผู้ค้าพลอยที่จะเปิดโอกาสให้ผู้ซื้อพบผู้ขายโดยตรงโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง หวังสร้างสภาพคล่องทางการเงินให้เกิดกับผู้สต๊อกพลอยรายย่อยก่อนสิ้นสภาพการเป็นตาน้ำสำคัญในการส่งออกพลอยไปทั่วโลก ขณะเดียวกันยังมีแนวคิดที่จะผลักดันโครงการ “จันทบุรี นครแห่งอัญมณี”ให้เกิดเป็นรูปธรรมอีกครั้งในรัฐบาลอภิสิทธิ์ หลังที่ผ่านมาขาดเจ้าภาพดำเนินการจนทำให้การจัดตั้งศูนย์วิเคราะห์อัญมณี ที่ก่อสร้างอาคารแล้วเสร็จต้องจอดสนิท
นายเกษมศักดิ์ ขันติมงคล อุปนายกสมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี เผยถึงแนวคิดในการจัดทำแผนพัฒนาตลาดค้าพลอยจันท์ เพื่อรักษาการเป็นตาน้ำสำคัญในการส่งพลอยออกจำ หน่ายทั่วโลกและสร้างสภาพคล่องทางการเงินให้เกิดขึ้นแก่ผู้ค้าพลอยรายย่อยของจังหวัด หลังประสบปัญหาการถูกกดราคาอย่างหนักจากพ่อค้าคนกลางชาวอินเดียว่า นอกจากจะรอมติจากสมาคมฯ ที่จะอนุมัติให้มีการจัดทำตลาดนัดผู้ค้าพลอยที่จะเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตและผู้ซื้อได้พบปะกันโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง เพื่อสร้างมูลค่าตลาดให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริงแล้ว
นอกจากนี้ ยังจะฟื้นบัตรคนเดินพลอยให้กลับมามีบทบาทสำคัญอีกครั้ง ซึ่งผู้ที่จะเปิดขายพลอยในตลาดนัดผู้ค้าพลอย จะต้องมีบัตรคนเดินพลอยเพื่อการันตีสินค้าให้แก่ผู้ซื้อ ซึ่งจะมีทั้งกลุ่มผู้ผลิตและจำหน่ายอัญมณี รวมถึงนักท่องเที่ยวที่จะเข้าชมเพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะไม่ถูกหลอกให้ซื้อพลอยอัดหรือพลอยย้อม หากเกิดปัญหาดังกล่าวสมาคมฯ จะเข้ามารับผิดชอบเนื่องจากเป็นผู้ดูแลการขายทั้งหมด
นอกจากนั้นในวันที่ 29 มิถุนายนนี้ คณะกรรมการสมาคมฯ ยังจะเดินทางเข้ารับฟังแนวคิดในการพัฒนาตลาดพลอยไทย ที่จัดโดยสมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย ณ โรงแรมแกรนด์ไฮแอทเอราวัณ กรุงเทพฯ และมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี บรรยายพิเศษในหัวข้อดังกล่าว ซึ่งหากมีโอกาสก็จะนำข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ “จันทบุรี นครแห่งอัญมณี” เพื่อผลักดันให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมอีกครั้ง หลังจากที่กลุ่มนักธุรกิจและสมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี เคยนำเสนอโครงการต่อคณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อครั้งเดินทางไปประชุมครม.สัญจรที่จังหวัดจันทบุรีในปี 2548 และได้รับความเห็นชอบพร้อมแต่งตั้งคณะทำงานโดยมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในสมัยนั้นเป็นผู้ดูแล
ที่ผ่านมาได้อนุมัติงบผู้ว่าฯ ซีอีโอ งบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 50 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนให้เกิดการจัดตั้งศูนย์วิเคราะห์อัญมณีที่จะมีทั้งห้องแล็บวิเคราะห์และวิจัยสำหรับศักยภาพและคุณภาพของพลอยไทย แต่ปัจจุบันการก่อสร้างโครงสร้างอาคาร ซึ่งใช้พื้นที่สนามมวยเก่าของเทศบาลจันทบุรี บนถนนอีสเทิร์นสำเร็จเพียงบางส่วนเท่านั้น เพราะงบประมาณที่เหลืออีกกว่า 100 ล้านบาทไม่มีเจ้าภาพผลักดันต่อ เช่นเดียวกับ GEM BANK ที่กำหนดให้เป็นสถาบันการเงินในโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน สำหรับเพิ่มทุนจัดซื้อวัตถุดิบให้แก่ผู้ผลิต
“ในวันนี้ตลาดพลอยจันท์ ซึ่งถือเป็นตาน้ำสำคัญในการส่งออกพลอยไปจำหน่ายทั่วโลกถือว่าอยู่ในขั้นวิกฤตแล้ว ผู้ประกอบการจะต้องช่วยตัวเองให้มากที่สุดเพื่อรักษาสภาพตลาดไว้ให้ได้ และการเปิดเวทีให้ผู้ที่มีสต๊อกพลอยอยู่ในมือโดยเฉพาะกลุ่มรากหญ้าได้นำพลอยที่มีออกจำหน่ายโดยตรงก็จะทำให้เขาอยู่ได้ ถือเป็นการแก้ปัญหาให้ถูกจุด ส่วนการผลักดันโครงการจันทบุรี นครแห่งอัญมณีนั้น เราต้องหาจังหวะผลักดันต่อ เพราะโครงการนี้เป็นโครงสร้างใหญ่ที่จะผลักดันให้มีการประกันราคาพลอย และการเกิดขึ้นของธนาคารพลอย ”
สำหรับรูปแบบตลาดนัดพลอยในเบื้องต้นนั้น อุปนายกสมาคมฯ ได้เสนอให้มีการปิดถนนบางส่วนของถนนสายอัญมณีเพื่อเปิดบูธให้ผู้ค้าพลอยนำสินค้าออกจำหน่าย ซึ่งอาจเป็นทั้งการจำหน่ายรายเม็ดหรือจำหน่ายจำนวนมาก โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือผู้ซื้อชาวไทยส่วนผู้จำหน่ายก็จะต้องเป็นสมาชิกที่ได้รับการตรวจสอบคุณภาพพลอยจากสมาคมฯ นอกจากนั้นก็จะจัดให้มีการให้ความรู้กับผู้ค้า และสร้างบรรยากาศการซื้อ-ขายให้กลับมา