xs
xsm
sm
md
lg

แนะเบรกเพิ่มสถาบันศึกษาเน้นให้พัฒนาแรงงานแทน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- ส.อ.ท.ชี้รัฐสร้างคนไม่ตรงกับงานเสนอวันนี้ปรับโครงสร้างระบบการศึกษาของไทยใหม่แนะเบรกเพิ่มสถาบันการศึกษาทุกระดับเพื่อปรับคุณภาพเหตุที่มีอยู่มากเกินจำเป็นส่งผลให้ไร้คุณภาพ เผยสถานประกอบการต้องการแรงงานระดับปวช.และปวส.สูงถึง 70% ส่งผลให้ภาพรวมขาดแคลนแรงงาน

นายสมมาต ขุนเศรษฐ รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า วันนี้(25มิ.ย.) ส.อ.ท.จะเสนอแนวทางการปรับโครงสร้างระบบการศึกษาของไทยเพื่อให้ตรงกับความต้องการกำลังคนหรือแรงงานในภาคอุตสาหกรรมต่อที่ประชุมคณะกรรมการภาครัฐร่วมเอกชนเพื่อวางแผนผลิตและพัฒนากำลังคน(กรอ.ศธ.) เนื่องจากปัจจุบันสถานศึกษายังไม่สามารถผลิตคนให้ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ

สำหรับข้อเสนอประกอบด้วยระยะยาวที่ประกอบด้วย ด้านโครงสร้าง จำเป็นที่จะต้องหยุดการจัดตั้งสถาบันการศึกษาทุกระดับที่มีมากเกินไปซึ่งขณะนี้มีมากกว่า 400 แห่ง ทำให้บุคคลกรทั้งครู อาจารย์ และผู้เรียนขาดคุณภาพมากขึ้นโดยควรพัฒนาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยที่มีอยู่ให้มีคุณภาพสูงขึ้นแทนก่อนแล้วจึงค่อยพิจารณาขยายเพิ่ม พร้อมกันนี้ควรปรับบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการอาชีวศึกษาและคณะกรรมการอุดมศึกษาโดยให้ภาคเอกชนจากองค์กรที่เป็นกลางเป็นประธาน มีอำนาจในการกำหนดนโยบายทั้งด้านบุคลากรและงบประมาณ

นอกจากนี้ต้องปรับโครงสร้างบางหน่วยงานภายในกระทรวงศึกษาธิการ ให้เป็นกลุ่มงานที่ชัดเจนและเป็นเอกภาพ กล่าวคือ สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาควรรับผิดชอบดูแลสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน หรือสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาควรรับผิดชอบดูแลสถานศึกษาระดับอาชีวศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน

ขณะเดียวกันควรปรับระบบการจัดการการเรียนการสอนให้เป็น Area of Excellence โดยคำนึงถึงลักษณะธุรกิจแต่ละพื้นที่ ควบคู่กับการปรับระบบการคัดเลือกครูและพัฒนาคุณภาพครูที่มีอยู่ให้มีมาตรฐานและมีเงินเดือนให้สูงขึ้นจูงใจให้คนเก่ง คนดี มีจิตวิญญาณมาเป็นครูหรืออาจารย์ระยะยาว เป็นต้น

สำหรับระยะสั้นควรจะต้องเร่งรัดการจัดตั้งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ มีการจัดหลักสูตรเรื่องคุณธรรม จริยธรรม และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขด้วยในทุกระดับและเริ่มปลูกฝังตั้งแต่ระดับประถมศึกษา เพื่อให้เยาวชนนั้นเป็นทั้งคนดีและคนเก่ง เป็นต้น

นายสมมาตกล่าวว่า โครงสร้างการจ้างงานของสถานประกอบการที่ต้องการกำลังคนในระดับกลาง(ปวช. ปวส.) ถึง 70% เมื่อเทียบกับระดับสูง และต่ำในอัตราส่วน 10% และ 20% ตามลำดับ และหากพิจารณาข้อมูลของผู้เรียนในระดับอาชีวศึกษาปีการศึกษา 2551 ซึ่งมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 681,443 คน กับข้อมูลการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม 70% จาก 2.3 ล้านคน(สรุปจากข้อมูลสมาชิกส.อ.ท. ณ วันที่ 18 พ.ค.52) คิดเป็นจำนวนความต้องการกำลังคนเท่ากับ 1.6 ล้านคนซึ่งยังไม่รวมกับภาคธุรกิจอื่นๆ และยังไม่รวมระดับปวส.ที่เรียนต่อปริญญาตรี 60-70% ที่ไม่เข้าสู่ตลาดแรงงานทำให้ยืนยันผลการศึกษาของสภาการศึกษาได้เป็นอย่างดีว่าไทยขาดแคลนกำลังคนในระดับปวช.ปวส.อย่างมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น