ตาก- “เสมา 2” เปิดงานวันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กโลก ระบุการศึกษายุคใหม่ ให้โอกาสเด็กเท่าเทียมกัน ตามหลักสิทธิมนุษยชน ชี้เด็กไร้สัญชาติ-ไร้สถานะและด้อยโอกาส กว่า 100,000 คน ตามแนวชายแดนไทย-พม่า จะได้รับสิทธิ ในการศึกษาและด้านบริการเท่าเทียมเด็กทั่วโลก
วันนี้ (12 มิ.ย.) นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เดินทางมาเป็นประธานเปิดงาน “วันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กโลก” ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการท่องเที่ยวเทศบาลเมืองแม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก โดยมีนักเรียนไทยจากโรงเรียนต่างๆ รวมทั้งนักเรียนและเด็กที่ไร้สัญชาติ ไร้สถานะ ด้อยโอกาส และคณะครู อาจารย์จากสำนักงานพื้นที่การศึกษาตาก เขต 2 เข้าร่วมกิจกรรม กว่า 1,500 คน
ทั้งนี้ เพื่อให้การจัดกิจกรรมดังกล่าวมีผลให้ทุกภาคส่วนได้ตระหนักและเฝ้าระวังการใช้แรงงานเด็กและส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็ก เพื่อลดปัญหาเมื่อเด็กเติบโตขึ้น โดยมีองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เป็นองค์กรที่ประสาน เพื่อสร้างโอกาสและงานที่มีคุณค่าและชีวิตความเป็นอยู่ของเด็กๆ ซึ่งการจัดกิจกรรมนี้จัดขึ้นพร้อมกัน 4 แห่งตามแนวชายแดนไทย-พม่า คือที่ อ.แม่สอด จ.ตาก จ.สมุทรสาคร จ.ระนอง และ จ.เชียงราย เพื่อให้อนุสัญญา 182 ว่าด้วยการห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานก่อนวัยอันควร การต่อต้านการใช้แรงงานทาส การต่อต้านเด้กค้าประเวณี ทำผิดกฎหมาย ฯลฯ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า นโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาลชุดปัจจุบันภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้เปิดโลกและให้โอกาสทางการศึกษากับเด็กทุกคน ไม่ว่าจะไร้สัญชาติ ไร้สถานะ ด้อยโอกาส เพื่อให้เข้าสู่ระบบการศึกษา เพราะประเทศไทยทำตามหลักสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรม โดยเด็กๆจะได้รับการพัฒนาทางการศึกษาควบคู่กับมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีการคุ้มครองสิทธิทางการศึกษาให้เด็กทุกคนอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม
“ในพื้นที่จังหวัดตากมีเด็กไร้สัญชาติ ไร้สถานะ ด้อยโอกาสที่ต้องการรับการศึกษามากกว่า 20,000 คน มี 2 แนวทางคือ ระบบโรงเรียน จำนวน 14,000 คนจาก 120 โรงเรียน และศูนย์การเรียนรู้ 9,816 คน จาก 62 ศูนย์ และเด็กสามารถเข้าเรียนได้ ตามข้อตกลงการศึกษาระหว่างประเทศ (ยูเนสโก) และต่อไปจะเพิ่มในส่วนของระดับอุดมศึกษา เพื่อให้การศึกษาตามสิทธิของมนุษย์ที่ควรได้รับ” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า ตัวเลขเด็กที่ไร้สัญชาติ ไร้สถานะ และด้อยโอกาส ตามแนวชายแดนไทย-พม่า จังหวัดชายแดนต่างๆ มีนับ 100,000 คน โดยพื้นที่ชายแดนแม่สอดมีมากที่สุด โดยกระทรวงศึกษาธิการ จะมีการจัดเข้าสู่ระบบการศึกษา ให้เป็นรูปธรรม โดยยึดถึงแนวความมั่นคง สังคม ควบคู่ไปด้วย โดยองค์การ ILO ได้ถือกำเนิดมา 10 ปี และการใช้สัตยาอนุสัญญาฉบับที่ 182 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ เพื่อให้แก้ไขปัญหาเร่งด่วนในการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย โดยอนุสัญญา 182 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2542 และประเทศไทย ได้ร่วมลงนามด้วย โดยที่ผ่านมานั้นหน่วยงานภาครัฐ เอกชน องค์กรพัฒนาเอกชนนานาชาติ ที่เกี่ยวข้องได้ร่วมให้ความคุ้มครอง ช่วยเหลือและป้องกันปัญหากับแรงงานเด็กมาโดยตลอด