xs
xsm
sm
md
lg

“ซินเทีย หม่อง” เปิดศูนย์เรียนรู้ไร้รัฐชายแดนแม่สอด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตาก - ผวจ.ตาก เปิด “ศูนย์พัฒนาการเรียนรู้ไร้พรมแดน” ของ “ซินเทีย หม่อง” หมอไร้พรมแดนรางวัลแมกไซไซ เปิดห้องเรียนรองรับเด็กไร้รัฐชายแดนแม่สอด

วันนี้ (26 พ.ค.) นายคมสัน เอกชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก เป็นประธานเปิดศูนย์พัฒนาการเรียนรู้เพื่อเด็กด้อยโอกาส ณ อาคารเลขที่ 927 ถนนอินทรคีรี อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งมีแพทย์หญิงซินเทีย หม่อง แพทย์ไร้พรมแดนชาวกะเหรี่ยงสัญชาติพม่า ที่ได้รับรางวัลแมกไซไซ เป็นผู้บุกเบิกและดำเนินการก่อสร้าง ด้วยงบประมาณสนับสนุนจากองค์กรเอกชนช่วยเหลือนานาชาติ มีนายกิตติศักดิ์ โตมรศักดิ์ นายอำเภอแม่สอด กล่าวต้อนรับ โดยมีประชาชนชาวพม่าและนานาชาติรวมทั้งนักเรียนเข้าร่วมงานกว่า 1,000 คน

ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก กล่าวว่า พญ.ซินเทีย หม่อง เป็นทั้งหมอและครูที่เสียสละ สมควรแก่การยกย่อง การดำเนินการของศูนย์พัฒนาการเรียนรู้เพื่อเด็กด้อยโอกาสเป็นการสร้างความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษาให้เกิดขึ้นกับนักเรียนและเยาวชน ซึ่งตามหลักสิทธิมนุษยชนแล้วการศึกษาของนักเรียนจะต้องเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นชนชาติใด และการศึกษาจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิต การทำงานของ พญ.ซินเทีย หม่อง ถือว่าเป็นการแบ่งเบาภาระให้ไทยอย่างมากในการดูแลทั้งด้านสาธารณสุข และการศึกษา

ด้านแพทย์หญิงซินเทีย หม่อง กล่าวว่า ศูนย์พัฒนาการเรียนรู้เพื่อเด็กด้อยโอกาส ยังคงขาดเงินในการดำเนินการอยู่ โดยทุกวันนี้ต้องใช้งบในการดำเนินการปีละกว่า 10 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่าย เช่น ครู อาหาร-อุปกรณ์การเรียน การศึกษา กีฬา ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ฯลฯ เพราะเด็กในศูนย์จะได้รับการดูแลในระหว่างการเรียนฟรีทุกอย่าง ซึ่งยังคงขาดปัจจัยด้านเงินและอื่นๆอยู่มาก ต้องขอรับบริจาคต่อไป

รายงานข่าวแจ้งว่า ศูนย์พัฒนาการเรียนรู้เพื่อเด็กด้อยโอกาส เปรียบเสมือนโรงเรียนไร้พรมแดนเช่นเดียวกับคลินิกแม่ตาว โดยมีการเปิดการเรียน การสอน 3 ภาษา ทั้งไทย พม่า และอังกฤษ โดยนักเรียนผลัดถิ่น เด็กด้อยโอกาส เด็กกำพร้า เด็กไร้รัฐ ทุกคนสามารถได้รับการศึกษาและการเรียนรู้อย่างเสมอภาคเท่าเทียม

ทั้งนี้ พญ.ซินเทีย หม่อง ได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์พัฒนาการเรียนรู้เพื่อเด็กด้อยโอกาสตั้งแต่ ปี พ.ศ.2538 เพื่อให้การศึกษาขั้นพื้นฐานแก่บุตรพนักงานของคลินิกแม่ตาว ของ พญ.ซินเทีย เริ่มจากชั้นอนุบาลและได้ขยายชั้นเรียนเพิ่มปีละชั้นตามอายุเด็ก ต่อมามีการรับเด็กกำพร้า เด็กไร้รัฐ เด็กพลัดถิ่น บุตรหลานของแรงงานต่างด้าวในพื้นที่ให้มีโอกาสได้รับการศึกษา จนปัจจุบันศูนย์ฯมีนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 รวมทั้งสิ้น 947 คน มีครู 47 คน ได้มีการประสานงานกับสำนักงานพื้นที่การศึกษาตาก เขต 2 อย่างต่อเนื่อง และใช้หลักสูตรจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ในปีการศึกษา 2551 ทางศูนย์ฯ ได้รับงบประมาณสนับสนุนด้านอาคารเรียนจากมูลนิธิเกื้อฝันเด็ก เพื่อใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียน มูลนิธิเอสเค ดรีม ฯลฯ



กำลังโหลดความคิดเห็น