xs
xsm
sm
md
lg

ปรับโครงสร้าง ร.ฟ.ท.มีหมกเม็ดข้อมูลไม่มีรายละเอียด-สื่อสารพนง.ไม่เคลียร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ปรับโครงสร้าง ร.ฟ.ท.ตั้ง 2 บริษัทลูกชะงัก “สหภาพฯ ร.ฟ.ท.” เปลี่ยนขั้ว เปิดแรงต้าน แฉ ร.ฟ.ท.หมกเม็ดข้อมูล ตั้งบริษัทลูกเดินรถ ไม่มีรายละเอียดอนาคตพนักงาน หวั่นมีปัญหา แถมไม่เคยชี้แจงพนักงาน ใช้ระบบเคลียร์เฉพาะหัวหน้าทีม ป่วนจนได้ หลังเปลี่ยนประธานสหภาพฯร.ฟ.ท.คนใหม่ ระบุเพิ่งมีการชี้แจงพนักงานอย่างเป็นทางการเรื่องปรับโครงสร้าง หลัง ครม.เห็นชอบ

แผนปรับปรุงโครงสร้างการบริหารจัดการเพื่อฟื้นฟูฐานะการเงินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 มิ.ย. 2552 ที่ผ่านมา ซึ่งสาระสำคัญของแผนฟื้นฟู คือจะจัดตั้ง บริษัทลูก 2 บริษัท คือบริษัทเดินรถ และบริษัทบริหารทรัพย์สิน ที่ร.ฟ.ท.ถือหุ้น 100% โดยภาครัฐจะรับภาระการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในอนาคตของร.ฟ.ท.
ในขณะเดียวกันรัฐจะเข้ามารับภาระหนี้สินสะสมที่มีประมาณ 72,850 ล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้สินเงินกู้ที่เกิดจาก ด้านโครงสร้างพื้นฐาน 14,320 ล้านบาท ด้านรถจักร และล้อเลื่อน 12,331 ล้านบาท โครงการแอร์พอร์ตลิ้งค์ 22,345 ล้านบาท หนี้สินอื่นๆ (กู้เพื่อแก้ไขการขาดสภาพคล่อง) 23,854 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังแก้ปัญหาภาระบำเหน็จบำนาญ วงเงิน 156,000 ล้านบาท จากปัจจุบันที่มีพนักงานที่อยู่ในระบบบำนาญประมาณ 25,749 คน โดยเป็นพนักงานที่เกษียณอายุแล้ว 12,349 คน พนักงานที่ทำงานอยู่ 13,400 คน โดยปี 2551 มีค่าใช้จ่ายบำเหน็จบำนาญประมาณ 2,777 ล้านบาท
ปัญหาสำคัญของร.ฟ.ท.คือ การประสบภาวะขาดทุนมาตั้งแต่ปี 2517 อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากรายได้ไม่สะท้อนกับค่าใช้จ่าย เนื่องจากถูกควบคุมการจัดเก็บค่าโดยสาร จากรัฐบาลและไม่ได้รับการชดเชยผลการขาดทุนจากรัฐบาลในการดำเนินกิจการเชิงสังคม (PSO) ตามผลที่ขาดทุนจริง เป็นปัญหาสะสม ร.ฟ.ท.จึงต้องกู้เงินเพิ่มเติมเพื่อชดเชยรายได้ ทำให้เกิดหนี้สะสมและดอกเบี้ย
ในขณะที่โครงสร้างองค์กรซับซ้อน การบริหารจัดการ หารายได้จากทรัพย์สิน ที่ดินจำนวนมากไม่มีศักยภาพ ขาดแคลนเครื่องมือที่ทันสมัยในการทำงาน ทั้งหัวรถจักร ระบบอาณัติสัญญาณ ขาดงบประมาณในการปรับปรุงรางที่มีอายุการใช้งานนาน ขาดแคลนบุคลากรที่มีศักยภาพ เนื่องจากมีมติครม.วันที่ 28 ก.ค. 2541 กำหนดให้ร.ฟ.ท.งดรับพนักงานใหม่เว้นแต่ตำแหน่งที่จำเป็นเกี่ยวกับการเดินรถและตำแหน่งที่ใช้คุณวุฒิพิเศษ แต่ต้องไม่เกิน 5% ของพนักงานที่เกษียณอายุ
ทั้งนี้ในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน ในระหว่างปี 2552-2561 ภาครัฐจะลงทุนให้เป็นจำนวน 191,314 ล้านบาท ได้แก่ โครงการรถไฟทางคู่ โครงการปรับปรุงทาง โครงการระบบขนส่งมวลชนสายสีแดง ซึ่งโครงการดังกล่าวเมื่อแล้วเสร็จจะส่งผลให้ความจุของทางเพิ่มขึ้น และทำให้ภาคเอกชนสามารถจัดหารถจักรและรถพ่วงเข้ามาร่วมใช้ทางรถไฟได้ โดยจ่ายค่าใช้ทาง (Access Charge) ให้กับ ร.ฟ.ท.
โดยหากภายใน 10 ปี (2552-2561) ไม่ได้ดำเนินการตามแผนร.ฟ.ท.จะมีรายได้จากการเดินรถ เพียง 79,683 ล้านบาท ภาครัฐต้องให้เงินอุดหนุนถึง 69,320 ล้านบาท และอุดหนุนในส่วนของ PSO อีก 40,000 ล้านบาท แต่หากดำเนินการตามแผนได้ รายได้จากการเดินรถจะเพิ่มเป็น 109,521 ล้านบาท ภาครัฐต้องให้เงินอุดหนุนลดลงเหลือ 48,426 ล้านบาท และอุดหนุนในส่วนของ PSO เพียง 25,376 ล้านบาท
สำหรับการตั้ง บริษัทลูกเดินรถ จะมีภารกิจในการบริหารการเดินรถประกอบด้วย 4 หน่วยธุรกิจ ได้แก่ หน่วยธุรกิจแอร์พอร์ตลิ้งค์, หน่วยธุรกิจเดินรถโดยสาร, หน่วยธุรกิจเดินรถสินค้าและหน่วยธุรกิจการเดินรถไฟฟ้าอื่นๆ เช่น โครงการระบบขนส่งมวลชนสายสีแดง โดยมีโครงสร้างการบริหารงานของบริษัทเดินรถประกอบด้วย ผู้บริหารสูงสุด (CEO)และกรรมการผู้จัดการใหญ่ในแต่ละหน่วยธุรกิจ
แหล่งข่าวจากร.ฟ.ท.กล่าวว่า การตั้งบริษัทลูกเดินรถ เป็นที่มาของการคัดค้านการปรับโครงสร้างของกลุ่มสหภาพฯ ร.ฟ.ท. เนื่องจาก ที่ผ่านมาผู้บริหารร.ฟ.ท.ไม่ให้ความสำคัญในการทำความเข้าใจกับพนักงานโดยตรงเพราะเห็นว่า ให้ข้อมูลกับประธานสหภาพฯ ร.ฟ.ท.ในขณะนั้นคือนายเรียงศักดิ์ แขงขัน แล้วก็ให้ส่งข้อมูลต่อไปยังพนักงานและสมาชิกของสหภาพฯ ซึ่งในความเป็นจริง สหภาพฯ ร.ฟ.ท.ชุดก่อน มี 2 ขั้ว และที่ผ่านมา ไม่เคยมีการขอมติจากสหภาพฯ ในเรื่องการปรับโครงสร้างแต่อย่างไร เป็นการดำเนินการเฉพาะตัวบุคคล ซึ่งจะเอามาอ้างว่าได้หารือและได้ข้อยุติร่วมกับสหภาพฯแล้วไม่ได้ แต่เมื่อสหภาพฯชุดเดิมหมดวาระ การเลือกตั้งใหม่ กลายเป็นอีกขั้วที่ได้รับเข้ามาเป็นเสียงข้างมาก ทำให้การคัดค้านการปรับโครงสร้างเริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง
แหล่งข่าวจากร.ฟ.ท.กล่าวว่า ก่อนวันที่ 3 มิ.ย.2552 ที่ครม.เห็นชอบแผนฟื้นฟูฯ พนักงานร.ฟ.ท.ไม่ได้รับการชี้แจงรายละเอียดจากฝ่ายบริหาร แต่หลังจากครม.เห็นชอบแล้ว ถึงมีการเริ่มชี้แจงเรื่องปรับโครงสร้างกับพนักงาน โดยผู้ว่าฯร.ฟ.ท.ได้ลงพื้นที่ชี้แจงพนักงานที่ โคราช และแก่งคอย เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2552 และที่ทุ่งสง ชุมพร วันที่ 14 มิ.ย. 2552 แต่ถูกพนักงานขับไล่ และเมื่อวันที่18 มิ.ย.2552 ร.ฟ.ท.ได้ออกประกาศชี้แจงกรณีการตั้งบริษัทลูกการรถไฟฯ อย่างเป็นทางการแต่ถือว่าช้าเกินไปแล้ว
เนื่องจากพนักงานได้รับทราบมติครม.ว่าการปรับโครงสร้างจะมีการจัดตั้งบริษัทลูก ด้านการเดินรถและบริหารทรัพย์สิน ไม่ใช่ตั้งบริษัทลูกเดินรถแอร์พอร์ตลิ้งค์อย่างเดียว ในขณะที่ไม่มีรายละเอียดของการโอนย้ายพนักงาน สิทธิ์ของพนักงานที่จะต้องถูกโอนมายังบริษัทลูกเดินรถ ซึ่งในการเดินสายชี้แจงของผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.ก็ไม่ได้ให้ความชัดเจนถึงข้อสงสัยนี้แก่พนักงาน
“กรณีดังกล่าวถือเป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสถานภาพการเป็นพนักงานร.ฟ.ท.โดยตรง ซึ่งพนักงานไม่ได้รับการชี้แจงใดๆ บอกเพียงแค่ทุกอย่างเหมือนเดิมแต่ไม่มีรายละเอียด เชื่อถือไม่ได้ และการปรับโครงสร้างครั้งนี้เป็นการเร่งรีบไม่ได้มีการวางแผนและเตรียมความพร้อมไว้ก่อน แต่เป็นการเร่งตั้งบริษัทลูกเพื่อให้เปิดเดินรถแอร์พอร์ตลิ้งค์ให้ได้ ทั้งที่โครงการก็มีความล่าช้ามานานแล้วซึ่งพนักงานเห็นว่า การตั้งบริษัทลูกเดินรถ เป็นการนำร่องที่จะให้เอกชนเข้ามาในบริษัทลูกในอนาคตได้”แหล่งข่าวกล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น