xs
xsm
sm
md
lg

บสย.มั่นใจกว่า80%SMEsอีสานเข้าถึงแหล่งเงินกู้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ระหว่างวันที่ 10-29 มิถุนายน ธปท.สภอ. ร่วมกับ บสย. จัดกิจกรรม ตลาดนัดเงินกู้ กู้อย่างไรให้ได้เงิน  ตามโครงการค้ำประกันสินเชื่อธุรกิจ SMEs โดยมั่นใจว่า ผู้ประกอบการจะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้จำนวนมาก
อุดรธานี- บสย. จับมือ ธปท.อีสาน เดินหน้าเปิดตลาดนัดเงินกู้ "กู้อย่างไรให้ได้เงิน” หวังสร้างโอกาส SMEs อีสานอย่างน้อยร้อยละ 80 ให้เข้าถึงแหล่งเงินกู้ ช่วยฟื้นสภาพคล่องธุรกิจอุตสาหกรรมให้เดินหน้าฝ่าวิกฤตไปได้

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท.สภอ.) ร่วมกับ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม( บสย. )จัดกิจกรรม ตลาดนัดเงินกู้ กู้อย่างไรให้ได้เงิน ตามโครงการค้ำประกันสินเชื่อธุรกิจ SMEs โดยมี นายสมชาย เสตกรณุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท.สภอ.พร้อมด้วยผู้บริหาร บสย.ร่วมเปิดกิจกรรมดังกล่าว ณ โรงแรมบ้านเชียง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานีเมื่อเร็วๆนี้

ดร.พิชิต อัคราทิตย์ ประธานกรรมการ บสย. เปิดเผยว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกับ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม บสย. และคณะผู้บริหารกระทรวงการคลังประจำจังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ร่วมกันจัดโครงการ “ตลาดนัดเงินกู้ กู้อย่างไรให้ได้เงิน” ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยครอบคลุมพื้นที่ 19 จังหวัด ในระหว่างวันที่ 10-29 มิถุนายน 2552

โครงการตลาดนัดเงินกู้ กู้อย่างไรให้ได้เงิน จัดขึ้นเพื่อพบปะทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการ SMEs ในการขอสินเชื่อโดยมี บสย.ค้ำประกันตามโครงการ Portfolio Guarantee Scheme ในวงเงินค้ำประกันรวม 30,000 ล้านบาท ที่ภาครัฐให้การสนับสนุน การให้บริการค้ำประกันสินเชื่อของ บสย.จะช่วยลดความเสี่ยงให้แก่สถาบันการเงิน

ขณะที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม SMEs ซึ่งมีสัดส่วนผู้ประกอบการมากกว่า 80% ของผู้ประกอบการทั้งหมดในภาคอีสาน มีโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้มากขึ้น อันเป็นกลไกสำคัญต่อการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ

สำหรับรูปแบบการจัดงาน เป็นการจัดตลาดนัดเงินกู้ เชิญสถาบันการเงินต่างๆ มาร่วมออกบูท รวมทั้งมีการเสวนาให้ความรู้ เพื่อชี้แจงแนะแนวทางให้ได้รับอนุมัติเงินกู้ โดยผู้ประกอบการสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ธนาคารภายในงานได้ทันที ทั้งมีการออกบูทให้คำปรึกษาแนะนำการขอกู้เงินจากธนาคารต่างๆ เป็นรายบุคคล โดยธนาคารพาณิชย์พร้อมที่จะรับคำขอกู้เงินจากผู้ประกอบการ SMEs ภายในงาน และให้คำตอบเบื้องต้นภายในงาน

ดร.พิชิต กล่าวเพิ่มเติมว่า จากนโยบายของทางรัฐบาลอยากจะเห็นเศรษฐกิจดีขึ้น โดยตั้งเป้าว่าอยากจะให้มีการค้ำประกันสินเชื่อไว้ที่ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเมื่อแปลความหมายของรัฐบาลก็หมายถึงสินเชื่อประมาณ 1 แสนล้านบาทในกรณีอย่างนี้ทางเราคิดว่าสิ่งที่ทางรัฐบาลต้องการเป็นไปควรจะเป็นเชิงรุกให้มากขึ้น การจัดงานตลาดนัดเงินกู้ กู้อย่างไรให้ได้เงินก็เป็นการดำเนินการตามวัตถุประสงค์อย่างที่กล่าวมา ตอนนี้โครงการตลาดนัดเงินกู้ กู้อย่างไรให้ได้เงินจัดขึ้นที่ภาคอีสานเพื่อนำร่อง

จากกรณีที่ผ่านมามีนักธุรกิจได้มาขอกู้ต่อธนาคาร แต่ธนาคารก็ยังไม่ปล่อยกู้ถึงแม้ว่า บสย.จะทำการค้ำประกันก็ตามนั้น ตนคิดว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยเองได้กำชับไปที่ธนาคารต่างๆทุกแห่งแล้ว ว่าเรื่องนี้ไม่ใช่การปล่อยสินเชื่อตามปกติเป็นภาวะที่บ้านเมือง โดยเฉพาะในต่างประเทศแล้วในเมืองไทยได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน

เพราะฉะนั้นการปล่อยสินเชื่อในขณะนี้ ต้องมีการยืดหยุ่นได้มากกว่าปกติ ในการนี้บสย.ได้มีโอกาสพูดคุยกับธนาคารทั้ง 16 แห่งและได้มีการร่วมลงนาม MOU กันว่าจะร่วมกันทำโครงการนี้ให้สำเร็จ ตนเชื่อว่าจากนี้ไปผู้ประกอบ SMEs ขอกู้เงินก็จะสะดวกขึ้น

สำหรับการปล่อยการค้ำประกันของ บสย.เอง ก็จะเป็นการค้ำประกันในภาวะไม่ปกติเหมือนกัน คือ การค้ำประกันเดิมของ บสย. จะค้ำประกันแบบไม่ให้เกิดการขาดทุน แต่ในกรณีนี้รัฐบาลยอมที่จะให้เงินมาถึง 2 พันล้านบาทเพื่อให้มาสนับสนุนโครงการนี้ นั่นหมายความว่าหากเกิดความเสียหายในการค้ำประกันนี้รัฐบาลก็จะดูแลเราอยู่

โครงการ Portfolio Guarantee Scheme สำหรับธนาคารที่มาค้ำประกันกับเรา ลูกค้าของธนาคารที่ส่งมานั้น ในช่วงที่ไม่เกินกรอบที่กำหนดทางเราจะค้ำประกันถึง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่หากเกินกว่ากรอบที่กำหนดเราจะทำการแบ่งความรับผิดชอบกัน สาเหตุก็เนื่องมาจาก อยากให้ธนาคารผู้ปล่อยกู้ ร่วมกันรับผิดชอบ

ดร.พิชิต กล่าวต่อว่า ปัจจุบันเราค้ำประกันอยู่ที่ประมาณ 2 หมื่นกว่าล้านบาท ครอบคลุมผู้ประกอบการ 8,500 ราย หากนับจากอดีดที่ผ่านมา บสย. ค้ำประกันมาแล้ว 4 หมื่นล้านบาทคิดเป็นผู้ประกอบการประมาณ 17,000 ราย แต่ในอนาคตหลังจากโครงการนี้สำเร็จตัวเลขจะดีขึ้น

ส่วนงบ 4 แสนล้านที่ทางรัฐบาลจะกู้มากระตุ้นเศรษฐกิจนั้น สัปดาห์ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจได้ทำการเพิ่มทุนให้แก่สถาบันการเงินภาครัฐหลายแห่งรวมถึง บสย.ด้วย บสย. ได้รับเงินมา 2 พันล้านบาท แต่เงิน 2 พันล้านบาทที่ได้เพิ่มทุนมา หมายความว่า บสย . สามารถค้ำประกันได้ถึง 2 หมื่นล้านบาท และการค้ำประกันถึง 2 หมื่นล้านบาทนี้หมายถึงสินเชื่อที่เพิ่มถึง 3 เท่า จาก 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งคำนวณแล้วจะมีการปล่อยสินเชื่อถึง 6 หมื่นล้านบาท และในอนาคตถ้ามีความต้องการมากขึ้นทางรับบาลก็คงจะเพิ่มทุนให้มากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น