xs
xsm
sm
md
lg

เปิดด้านมืดเรียลลิตี้โชว์ ใครแน่ต้องรับผิดชอบ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้เข้าแข่งขันโชว์ความสามารถในรายการทีวีอาจหวังใช้โอกาสนี้เป็นบันไดไปสู่ชื่อเสียงและเงินทอง แต่สำหรับบางคน การปรากฏตัวบนเวทีและมีสปอตไลท์ฉายเน้น อาจกลับกลายเป็นการชักนำสู่ปัญหาความเครียด ความกังวล ซึมเศร้า หรือกระทั่งฆ่าตัวตาย
จะโทษใครดีกรณีที่คนธรรมดาๆ คนหนึ่งกลายเป็นคนดังเพียงชั่วข้ามคืนและไม่สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ เหมือนที่ซูซาน บอยล์ ป่วยกะทันหันหลังจากพ่ายแพ้ในรายการ ‘บริเทนส์ ก็อต ทาเลนท์’ หรือเมื่อพอลลา กู๊ดสปีด อดีตผู้เข้าแข่งขันในรายการ ‘อเมริกัน ไอดอล’ ฆ่าตัวตายหน้าบ้านพอลล่า อับดุล หนึ่งในคณะกรรมการตัดสินที่วิจารณ์ว่ากู๊ดสปีดแสดงห่วย
บอยล์กลับมาเป็นข่าวอีกครั้งเมื่อต้นสัปดาห์ เมื่อจำใจต้องยกเลิกการออกทัวร์กับทีมบริเทนส์ ก็อต ทาเลนท์คนอื่นๆ เพราะปัญหาสุขภาพ
ผู้ผลิตรายการทีวีและผู้สังเกตการณ์มีความเห็นแตกต่างกันไป แต่ทั้งหมดบอกว่าเครือข่ายที่เผยแพร่รายการ บริษัทผู้ผลิต และตัวผู้ประกวดเองควรรับผิดชอบ
จอห์น ลูคัส ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านจิตเวชจากเวลล์ คอร์เนลล์ เมดิคัล สกูล มองว่าความเครียดอาจขึ้นอยู่กับผู้เข้าแข่งขันเอง เพราะบางคนอาจมีแนวโน้มที่จะมีอาการซึมเศร้าอยู่แล้ว หรือไม่ก็คาดหวังว่ารายการจะเปลี่ยนความคิดที่คนอื่นมีต่อตัวเอง หรือความสามารถในการรับมือกับการมีตัวตนแบบปกติในทุกวัน
เดวิด บรูม เอ็กเซ็กคิวทีฟโปรดิวเซอร์ของรายการ ‘เดอะ บิ๊กเกสต์ ลูสเซอร์’ ที่ผู้ร่วมรายการต้องแข่งกันลดน้ำหนัก ซึ่งอยู่ยงคงกระพันมาจนย่างเข้าซีซันที่แปดทางเครือข่ายเอ็นบีซีของสหรัฐฯ เสริมว่าปกติแล้วทางเครือข่ายจะขอให้โปรดิวเซอร์สกรีนผู้เข้าแข่งขันอย่างละเอียด เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตเข้าร่วมรายการ
การสกรีนดังกล่าวมีหลายแบบ แต่คนที่ต้องปลีกตัวจากชีวิตปกติมาถูกกักบริเวณร่วมกับคนแปลกหน้ากลุ่มเล็กๆ เป็นสัปดาห์อย่างเช่นในรายการ ‘เซอร์ไวฟ์เวอร์’ หรือ ‘บิ๊ก บราเธอร์ส’ จะต้องผ่านการทดสอบที่เข้มงวดกว่าผู้เข้าแข่งขันประกวดความสามารถ เช่น ไอดอล หรือบริเทนส์ ก็อต ทาเลนท์
ก่อนเริ่มต้นการผลิตรายการจะมีการทดสอบเพื่อค้นหาสัญญาณเตือนภัย เช่น อาการซึมเศร้า แนวโน้มก้าวร้าว และคนที่เคยถูกล่วงละเมิดทางร่างกายมาก่อน
ตัวอย่างเช่น ผู้ร่วมรายการ บิ๊กเกสต์ ลูสเซอร์จะต้องเข้าทดสอบจิตวิทยาเชิงลึกและการตรวจร่างกาย เพราะโปรดิวเซอร์คาดว่าปัญหาสุขภาพจิตใจอาจแสดงตัวออกมา เนื่องจากน้ำหนักตัวเป็นประเด็นอ่อนไหวทางอารมณ์
ระหว่างอัดรายการ เครือข่ายทีวีมักขอให้โปรดิวเซอร์ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยามาร่วมทีม เตรียมไว้กรณีที่ผู้เข้าแข่งขันสติแตก
อย่างไรก็ตาม แม้การทดสอบทางจิตวิทยาและการมีผู้เชี่ยวชาญอยู่ร่วมในรายการสามารถระบุปัญหาทางจิตที่ชัดเจน แต่คงเป็นไปไม่ได้ที่จะชี้ขาดว่าผู้เข้าแข่งขันจะมีปฏิกิริยาอย่างไรเมื่อรู้ว่าฟองสบู่ความดังแตกฟูฟ่องเมื่อจบรายการ
“เมื่อคุณนำชาวบ้านธรรมดาๆ มาออกทีวี แล้วจู่ๆ สปอตไลท์ก็จับจ้องที่พวกเขา คุณไม่มีทางรู้ได้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้น” บ็อบ ธอมป์สัน จากศูนย์ทีวีและวัฒนธรรมป๊อป มหาวิทยาลัยไซราคิวส์ กล่าวและว่า
“ผมไม่รู้ว่าเราจะโทษใครได้ นอกจากทัศนคติที่มีต่อคนดัง”
แต่การถอดรายการแข่งขันออกจากทีวีคงเป็นไปไม่ได้อย่างน้อยในขณะนี้ เพราะเรียลลิตี้โชว์เหล่านี้เป็นหนึ่งในกลุ่มรายการที่มีคนดูมากที่สุด และทำรายได้จากโฆษณาเป็นล้านๆ ให้แก่เครือข่ายและผู้ผลิต
ยิ่งไปกว่านั้น สำหรับผู้เข้าแข่งขันทุกคนที่มีพรสวรรค์กินขาดแต่พลาดตำแหน่งที่ 1 อย่างซูซอน บอยล์ ชีวิตไม่ได้จบสิ้นเพียงแค่นั้น แต่อาจเป็นโอกาสที่จะเริ่มต้นชีวิตและอาชีพใหม่ที่รุ่งโรจน์โชติช่วงอย่างเคลย์ เอคอน รองอันดับ 1 จากอเมริกัน ไอดอล
ที่จริงแล้ว ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าผู้สมัครควรมีส่วนรับผิดชอบในการปกป้องอารมณ์ของตัวเอง และตัดสินใจว่าจะรับมือกับชื่อเสียงได้หรือไม่ กระนั้น ผู้เชี่ยวชาญเห็นด้วยว่าเครือข่ายทีวีและโปรดิวเซอร์ควรมีหน้าที่อธิบายให้กระจ่างว่า ‘ความเป็นดาว’ คืออะไร
กำลังโหลดความคิดเห็น