xs
xsm
sm
md
lg

108 – 1009 เรื่องเล่าอนุพันธ์:กลยุทธ์ Calendar Spread

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จากช่วงแรกที่ดิฉันเคยเขียนถึง Basis และ Spread กันไปแล้วนั้น เป็นเพียงพื้นฐานทางทฤษฎี และที่มาที่ไปเท่านั้น แต่มาครั้งนี้ดิฉันจะขอนำเสนอในรูปแบบที่เกี่ยวกับการคำนวณ และวิธีการส่งคำสั่งนะคะ

ก่อนอื่นขอทบทวนในเรื่องที่เคยนำเสนอในช่วงก่อนหน้าไปแล้วก่อนค่ะ นั่นคือ ความแตกต่างระหว่าง Basis และ Spread โดย

Basis = Futures – Spot (ส่วนต่างระหว่างราคาสินค้าอ้างอิงในอนาคตกับราคาในปัจจุบัน)

Spread = Futures เดือนไกล – Futures เดือนใกล้ (ส่วนต่างระหว่างราคา Futures ที่มีอายุสัญญานานกว่า กับ ราคา Futures ที่มีอายุสัญญาสั้นกว่า )

สิ่งที่ดิฉันกล่าวถึงในวันนี้คือ Spread ซึ่งเป็นการซื้อขายส่วนต่างของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่แตกต่างอายุสัญญากัน เช่น หากซื้อสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของ SET50 ที่หมดอายุเดือนกันยายน 2552 (Long S50U09) ที่ 426 จำนวน 1 สัญญา และขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของ SET50 ที่หมดอายุเดือนมิถุนายน 2552 (Short S50M09) ที่ 430 จำนวน 1 สัญญา ดังนั้น กรณีนี้จะเรียกว่ามีสถานะเป็น Spread อยู่ 1 คู่ โดยมีส่วนต่างคือ 426 – 430 = -4 หรือเรียกว่า "Long Spread" (การเรียกชื่อ Spread Position จะอิงจาก Position ที่ถืออยู่ในเดือนไกลเป็นหลักนะคะ)

หลักการของการคำนวณกำไรขาดทุนนั้น เหมือนการซื้อขายโดยทั่วไปนั่นคือ

ราคาขาย – ราคาซื้อ = กำไร (+) / ขาดทุน (-)

จากตัวอย่างข้างต้น ถ้าท่านปิดสถานะ การ Long Spread ของท่านโดย ขายที่ Spread = +1 นั่นคือ ขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของ SET50 ที่หมดอายุเดือนกันยายน 2552 (Short S50U09) ขณะเดียวกันก็ซื้อสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของ SET50 ที่หมดอายุเดือนมิถุนายน 2552 (Long S50M09) โดยมีส่วนต่าง (S50U09 – S50M09) เท่ากับ +1 เมื่อแทนค่า ตามสูตรการหากำไร / ขาย แล้วจะได้

ราคาขาย – ราคาซื้อ = (+1) – (-4)
= +5 (กำไร)


สรุปก็คือ หากเรา Long Spread เรากำลังคาดหวังให้ อนาคตส่วนต่างของทั้งสองเดือนถ่างออกมากกว่าขณะที่เปิดสถานะ และถ้า Short Spread เรากำลังคาดหวังให้ อนาคตส่วนต่างของสองเดือนบีบแคบกว่าขณะที่เปิดสถานะนั่นเอง

เมื่อท่านต้องการส่งคำสั่ง Spread หรือ Combination (Combo) Order ท่านสามารถแจ้งกับ Marketing ว่า Series คู่ไหนที่ท่านต้องการโดยระบุ Long / Short และส่วนต่างของ 2 Series ซึ่งเกิดจากการนำราคาเดือนไกล ลบด้วยเดือนใกล้ เช่น ท่านต้องการ Short Spread ระหว่าง S50M09 และ S50U09 ที่ส่วนต่าง – 2 จำนวน 1 คู่ ท่านสามารถแจ้งกับ Marketing ว่า "ต้องการ Short S50M09U09 ที่ – 2 จำนวน 1 คู่" ผลที่ออกมาคือ ท่านจะได้ Short ที่ S50U09 โดยมีราคาถูกกว่า การ Long S50M09 อยู่ 2 จุด อย่างละ 1 สัญญา เป็นต้น

กราฟแสดงราคาของ 2 Series ใกล้ในช่วง 1 มกราคม 2552 –9 มิถุนายน 2552

หมายเหตุ : S50_CON คือ สัญญาซื้อขายล่วงหน้าของ SET50 ที่เป็นช่วงเดือนใกล้ที่สุดในช่วงนั้นๆ

S50_NEXT คือ สัญญาซื้อขายล่วงหน้าของ SET50 ที่เป็นเดือนถัดจากเดือนใกล้ที่สุดในช่วงนั้นๆ

จากภาพกราฟ พบว่า บางช่วงราคาของ 2 Series จะบีบเข้าหากัน และมีบางช่วงที่ราคาถ่างออกจากกัน ดังนั้น จึงเกิดโอกาสที่สามารถเข้าไปทำการวางกลยุทธ์ Calendar Spread ได้ค่ะ

ถ้าท่านมีข้อสงสัย หรือต้องการเสริมความเข้าใจให้มากยิ่งขึ้น ท่านสามารถลงทะเบียนอบรมหลักสูตรต่างๆ ที่เกี่ยวกับอนุพันธ์ของ บมจ. หลักทรัพย์ฟิลลิป (ประเทศไทย) ได้ที่ www.poems.in.th หรือสอบถามโดยตรงกับดิฉัน (ณภัทร์ ภัทรานิตฐ์ ผู้จัดการ ฝ่ายธุรกิจอนุพันธ์) โดยส่งคำถามของท่าน มาที่ Futures@phillip.co.th ค่ะ
กำลังโหลดความคิดเห็น