xs
xsm
sm
md
lg

ซัดโครงการใหม่รัฐ-BOIปิดประตูลงทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการรายวัน – ค่ายรถมึนนโยบายผลักดันรถประเภทใหม่ของรัฐบาลและบีโอไอ เหตุเงื่อนไขเหมือนปิดประตูผู้ผลิตต่างๆ ในไทย แถมโครงการยังออกมาซ้อนๆ กับอีโคคาร์ ทำให้ผู้ประกอบการสับสน ไม่เชื่อมั่นต่อการลงทุนในไทย มองเป็นการหวังดึงเงินลงทุนใหม่ หลังตัวเลขหดตัวรุนแรง ถามกลับสภาวะแบบนี้ จะมียี่ห้อไหนลงทุนหมื่นล้านบาท และผลิตรถเป็นแสนคันได้

จากการที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ด BOI)  เห็นชอบให้เปิดประเภทกิจการประกอบรถยนต์ขึ้นใหม่ เพื่อจูงใจให้ผู้ผลิตรถยนต์ย้ายฐานการผลิตจากประเทศอื่นๆ เข้ามาลงทุนในประเทศไทย เมื่อวานนี้ (10 มิ.ย.) โดยมีเงื่อนไขจะต้องผลิตไม่ต่ำกว่า 100,000 คันต่อปี ภายในปีที่ 5 ลงทุนสร้างไลน์การผลิตใหม่ที่ไม่เคยมีผลิตและจำหน่ายในไทยมาก่อน เป็นรถที่ใช้เทคโนโลยี เช่น ไฮบริด หรือพลังงานทดแทน รวมมูลค่าลงทุนไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท เพื่อรับสิทธิประโยชน์ยกเว้นอาการนำเข้าเครื่องจักรทุกเขต และยกเว้นภาษีนิติบุคคลบุคคล เป็นต้น

ฟันธง! เงื่อนไขปิดกั้นผู้ผลิตในปท.
นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย และผู้ช่วยกรรมการ ผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท โตโยต้า มอเตอร์เอเชียแปซิฟิก เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟกเจอริ่ง จำกัด เปิดเผย “ASTV ผู้จัดการรายวัน” ว่า การผลักดันการลงทุนผลิตรถยนต์ประเภทใหม่ ไม่แน่ใจว่าบีโอไอต้องการอะไร หากพิจารณาดูเงื่อนไขกับสภาวะ และความเป็นไปได้มีโอกาสน้อยมาก ที่ผู้ผลิตรถยนต์ในไทยจะสามารถดำเนินการได้
“เป็นเรื่องยากในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นเงินลงทุนหมื่นล้านบาท หรือจำนวนผลิต 100,000 คันต่อปี ยิ่งผู้ผลิตรถยนต์ที่ลงทุนในไทยอยู่แล้ว โครงการลงทุนขนาดนี้ต้องเป็นผู้ผลิตรายใหม่เท่านั้น และหากดูผู้ผลิตรายใหญ่ทั่วโลกต่างเข้ามาลงทุนในไทยหมดแล้ว จึงไม่แน่ใจว่าจะมียี่ห้อไหนที่สามารถทำได้”
นายศุภรัตน์กล่าวว่า ในส่วนของโตโยต้าที่กำลังลงทุนผลิตรถยนต์ไฮบริด ในรถยนต์นั่งโตโยต้า คัมรี่ ไฮบริด ดูแล้วก็ไม่เข้ากับเงื่อนไขการลงทุน แต่หากจะขึ้นไลน์ผลิตใหม่ สมมุตินำโตโยต้า พรีอุส ที่เป็นรถยนต์ไฮบริดและไม่มีจำหน่ายในไทยมาประกอบ โดยขึ้นไลน์ผลิตใหม่ที่โรงงานเกตุเวย์ ยังใช้เงินลงทุนไม่เกิน 1,000 ล้านบาทเลย เมื่อพิจารณาดูแล้วจึงเป็นเรื่องยาก
“ส่วนสิ่งที่โตโยต้าขอสนับสนุนลดภาษีนำเข้า แบตเตอรี่ มอเตอร์ และชุดคอนโทรล เพื่อใช้ประกอบโตโยต้า คัมรี่ ไฮบริด สิ่งที่รัฐบาลได้ทันที คือ ประชาชนได้ลดการใช้น้ำมัน และไอเสียต่างๆ ลดลง 90% ส่วนภาษีที่ลดลงก็กลับคืนสู่ประชาชน เพราะราคาคัมรี่ ไฮบริด จะลดเหลือเท่ากับรุ่นเครื่องยนต์ธรรมดา 2.4 ลิตรเท่านั้น และทำให้เกิดปริมาณความต้องการในตลาด เมื่อถึงจุดหนึ่งย่อมมีการย้ายโรงงานผลิตอุปกรณ์เหล่านั้นเข้ามาในไทย ยี่ห้ออื่นๆ ก็จะผลิตตาม นับเป็นการส่งเสริมการลงทุน และเทคโนโลยีใหม่ ที่สามารถเริ่มได้ทันทีเลย”

อัดรัฐไร้ทิศทาง-ขาดความเชื่อมั่น
แหล่งข่าวจากบริษัทรถยนต์รายหนึ่ง ซึ่งได้ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนโครงการรถยนต์ประหยัดพลังงาน หรืออีโคคาร์ เปิดเผยกับ “ASTV ผู้จัดการรายวัน” ว่า เรื่องการผลักดันให้มีลงทุนผลิตรถยนต์ประเภทใหม่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอกับบริษัทรถยนต์สักพักแล้ว และผู้ผลิตก็เพียงแต่รับทราบ เพราะไม่ชัดเจนในรายละเอียดโครงการ
“แต่ดูหลักการใหญ่ๆ แล้ว ไม่ได้แตกต่างจากโครงการอีโคคาร์เท่าไหร่ แม้รายละเอียดปลีกย่อยจะไม่เหมือนกันก็ตาม ทำให้ตอนนี้ผู้ประกอบการพากันสับสนไปหมด วันหนึ่งรัฐบาลมีโครงการหนึ่ง พอเปลี่ยนมาอีกรัฐบาลก็มีอีกโครงการ แทบจะหาความชัดเจนถึงทิศทางการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทยไม่ได้ นับว่าเป็นปัญหาต่อการวางแผนการลงทุน ของผู้ประกอบการรถยนต์อย่างมาก”
ทั้งนี้ไม่แน่ใจรัฐบาลไทย หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ เข้าใจถึงกระบวนการลงทุนของธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์หรือไม่ เพราะรถยนต์ไม่ใช่สินค้าที่คิดแล้วทำได้เลย ต้องมีการวางแผนล่วงหน้า 2-3 ปี ในการต้องพัฒนาสินค้า และก่อสร้างโรงงานผลิต ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนอีกจำนวนมหาศาล ที่สำคัญผลิตออกมาแล้วตรงกับความต้องการของตลาดหรือไม่ เนื่องจากรถยนต์ไม่ใช่ราคาหลักพันหลักหมื่น แต่ราคาหลายแสนบาท
“ตอนนี้บริษัทรถยนต์ที่มีศักยภาพ และเป็นส่วนใหญ่ของผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ ต่างเพิ่งขอรับส่งเสริมการลงทุนโครงการอีโคคาร์ และจะเริ่มเปิดตัวในปี 2553 เป็นต้นไป แต่ส่วนใหญ่จะมีการผลิตและเปิดตัวสู่ตลาดจริงๆ น่าจะเป็นปี 2554 ฉะนั้นโครงการอีโคคาร์ก็ยังไม่มีออกมาเลย รัฐบาลกลับประกาศโครงการใหม่ออกมา ทำให้นักลงทุนเริ่มจะไม่มั่นใจต่อการดำเนินธุรกิจในไทย” แหล่งข่าวกล่าวและว่า
ไม่เพียงเท่านั้นในสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ จนส่งผลกระทบยอดขายรถยนต์ตกต่ำทั่วโลก เงื่อนไขลงทุนไม่ว่าจะจึงเป็นผลิต 100,000 คันต่อปี ในปีที่ 5 เป็นต้นไป และเงินลงทุนเป็นหมื่นล้านบาท นับว่าเป็นเรื่องยาก อย่างที่รู้กันปัจจุบันบริษัทรถยนต์ต่างก็มีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง เอาแค่โครงการอีโคคาร์ที่กำหนดวงเงินลงทุนขั้นต่ำ 5,000 ล้านบาท การที่จะทำตามเงื่อนไขให้ได้ยังหืดจับเลยตอนนี้

คาดรัฐบาลต้องการดึงเงินลงทุน
นายอดิศักดิ์ โรหิตศุน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และรองประธาน บริษัท เอเชี่ยน ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด เปิดเผย “ASTV ผู้จัดการรายวัน” ว่า หากดูเงื่อนไขการสนับสนุนรถประเภทใหม่ บีโอไอและรัฐบาลต้องการให้มีการย้ายฐานการผลิตรถเข้ามาไทย เพื่อให้ผู้ผลิตรถยนต์ไม่ใช่มองแค่จีน หรืออินเดียเท่านั้น และยังเป็นการรองรับทิศทางของเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อไม่ให้ไทยตกเทรนด์ในอนาคตด้วย เพราะรถยนต์ไฮบริดกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา
“เมื่อมองสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำปัจจุบัน จนทำให้ทิศทางการลงทุนในไทยปีนี้และปีหน้าลดลง การตัดสินใจให้การสนับสนุนรถประเภทใหม่ จึงน่าจะเป็นการให้ผู้ผลิตรถยนต์ได้ตัดสินใจ และเป็นการกระตุ้นตัวเลขการลงทุนเพิ่มขึ้น”
ส่วนเงื่อนไขการลงทุนดึงดูดใจหรือไม่ ผู้ผลิตรถยนต์จะต้องตัดสินใจ เพราะเงื่อนไขสามารถทำให้ธุรกิจของผู้ผลิตรถยนต์สามารถเดินต่อไปได้แค่ไหน แต่เรื่องนี้ไม่น่าจะทำให้เกิดปัญหาความเห็นแตกต่างของผู้ประกอบการเหมือนโครงการอีโคคาร์ เพราะครั้งนั้นองค์ประกอบในการตัดสินใจแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษีสรรพสามิต หรือเซกเม้นท์ของรถยนต์ที่ใกล้เคียงกัน ขณะที่โครงการรถประเภทที่เพิ่งผ่านการเห็นชอบของบีโอไอ ดูแล้วน่าจะเป็นการดึงนักลงทุนรายใหม่มากกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น